แห่ลาออก! พนักงาน Twitter หลายร้อยคนโบกมือลานายใหม่ ออฟฟิศปิดชั่วคราว 3 วัน

Twitter ลาออก
“อีลอน มัสก์” วางเดดไลน์ให้พนักงาน Twitter ตอบรับว่าจะอยู่หรือไปกับบริษัทภายใต้ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ ในยุคการปกครองของเขา และเมื่อเดดไลน์มาถึง ปรากฏว่าพนักงานหลายร้อยคนเลือกที่จะโบกมือลา พร้อมด้วยอีโมจิตะเบ๊ะ+หัวใจสีฟ้าเพื่อบอกให้รู้ว่าพนักงานคนนั้นจะไม่อยู่กับองค์กรอีกแล้ว

การลุกฮือของพนักงาน Twitter เกิดขึ้นหลังจาก “อีลอน มัสก์” ไล่พนักงานออกไปหลายสิบคน เพราะพนักงานเหล่านั้นวิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนเขา ไม่ว่าจะในทวีตที่เปิดเผยต่อสาธารณะหรือการพูดคุยเป็นการภายในองค์กร

หลังจากนั้นมัสก์ตัดสินใจวางเดดไลน์ให้พนักงานตอบรับว่าจะ “อยู่ต่อ” กับองค์กรหรือไม่บน Google form พนักงานที่ต้องการอยู่ต่อต้องตอบรับภายในเวลา 17:00 น. (ET Timezone) ของวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ย. 2022 โดยถ้าอยู่ต่อก็จะต้องอยู่ภายใต้ยุคแห่ง “Twitter 2.0” ตามคำเรียกของมัสก์เอง ถ้าหากใครไม่ตอบรับ เมื่อวานจะถือเป็นวันทำงานวันสุดท้ายโดยจะได้เงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามกฎหมาย

เมื่อถึงเวลาเดดไลน์ พนักงานหลายร้อยคนเริ่มโพสต์ข้อความบอกลา พร้อมด้วยอีโมจิ “ตะเบ๊ะ+หัวใจสีฟ้า” บนแพลตฟอร์ม Slack ซึ่งพนักงานใช้ในการทำงานภายใน ประกาศว่าพวกเขาไม่ตอบรับคำขาดที่มัสก์ยื่นให้

หลังมัสก์เข้าซื้อกิจการ เขาไล่พนักงานออกไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัท ทำให้มีพนักงานเหลืออยู่ประมาณ 2,900 คนก่อนจะเกิดการยื่นคำขาด เมื่อพนักงานหายไปอีกหลายร้อยคน พนักงานส่วนหนึ่งของ Twitter ทั้งที่ยังอยู่และที่ลาออก บอกกับสำนักข่าว The Verge ว่า ด้วยจำนวนการลาออกพร้อมกันมากขนาดนี้ แพลตฟอร์มอาจจะเกิดความขัดข้องได้เร็วๆ นี้ พนักงานรายหนึ่งบอกว่า “วิศวกรที่เป็นตำนาน” ของบริษัทกำลังจากไปทีละคนๆ

“เรารู้สึกราวกับว่า คนทั้งหมดที่ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่สุดกลับต้องจากไป” พนักงานรายหนึ่งของ Twitter กล่าว “ต่อไปจะยากอย่างยิ่งที่ Twitter จะฟื้นตัวกลับมาได้ ไม่ว่าคนที่ยังเหลืออยู่จะทำงานกันหนักแค่ไหนก็ตาม”

พนักงานรายหนึ่งกล่าวว่า ทีมวิศวกรที่เป็นส่วนสำคัญขององค์กรนั้นได้ลาออกหรือกำลังจะลาออกกันเกือบหมดแล้ว ซึ่งทีมงานเหล่านี้เป็นผู้ดูแลระบบแกนกลางของ Twitter

 

การปฏิวัติวัฒนธรรมของมัสก์

หนึ่งในเรื่องสำคัญที่อีลอน มัสก์ทำเป็นอย่างแรกในฐานะเจ้าของคนใหม่ คือ การปฏิวัติวัฒนธรรมการทำงานใน Twitter อีเมลที่ส่งหาพนักงานทุกคนในสัปดาห์นี้ระบุว่า “ต่อจากนี้ เพื่อที่จะเข้าสู่ยุค Twitter 2.0 และประสบความสำเร็จในโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้น เราต้องทำงานกันอยากหนักสุดขั้ว (extremely hardcore) หมายถึงเราจะต้องทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกันและทำงานอย่างเข้มข้น เฉพาะประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างโดดเด่นเท่านั้นถึงจะผ่านการประเมิน”

สไตล์การทำงานของมัสก์สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากบริษัทที่เขาควบคุมอยู่ไม่ว่าจะเป็น Tesla หรือ SpaceX ก่อนหน้านี้มัสก์เคยวิจารณ์วิถีทำงานแบบ Remote Work หรือการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ว่าเป็นวิธีทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าใครอยากจะทำแบบนั้น ควรจะมาทำงานให้ได้ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้ได้ก่อน (หรือก็คือมาทำงานออฟฟิศเต็มเวลา ถ้าอยากจะทำงานล่วงเวลาค่อยไปทำงานจากที่ไหนก็ได้)

สำหรับโรงงาน Tesla ในจีน มัสก์ก็กำหนดให้พนักงานทำงานกะละ 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ บางครั้งพนักงานต้องนอนบนพื้นโรงงาน ซึ่งทำให้มัสก์ชื่นชมวัฒนธรรมจีนมาก เพราะพนักงานจีนพร้อมจะทำงานถึงตี 3 ขณะที่คนอเมริกันต้องการการหยุดพักผ่อนมากกว่า

คำว่าทำงานหนักของเขาจึงหนักจริงๆ อย่างช่วงสัปดาห์แรกที่เขาพยายามจะดันฟังก์ชัน Verified Badge แบบเก็บเงินออกมาให้เร็วที่สุด เขาตั้งเดดไลน์ขึ้นมาให้วิศวกรทำให้ได้ภายใน 10 วัน มิฉะนั้นจะถูกให้ออก

ตั้งแต่มัสก์เข้ามาคุม Twitter พนักงานหลายคนจึงวิจารณ์การบริหารแบบมัสก์ และมัสก์ก็เริ่มจะกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขาจะทำลายองค์กร

สำหรับคนที่ยังอยู่ ก่อนหน้านี้มัสก์ระบุว่าพนักงานที่โดดเด่นในการทำงานจะได้รับหุ้นในบริษัทเป็นรางวัล เหมือนกับที่เขาทำที่ SpaceX

ด้วยจำนวนพนักงานลาออกมากขนาดนี้ แผนกจัดหาพนักงานต้องทำงานกันอย่างหัวหมุนเพื่อหาวิศวกรมาร่วมงานกับยุค “Twitter 2.0”

ออฟฟิศของ Twitter จะปิดชั่วคราว 3 วัน พนักงานจะไม่สามารถเข้าตึกได้จนกว่าจะถึงวันที่ 21 พ.ย. 2022

The Verge รายงานว่าไม่สามารถติดต่อขอความคิดเห็นทางการจากทาง Twitter ได้ เพราะตอนนี้บริษัทไม่มีแผนกสื่อสารประชาสัมพันธ์แล้ว

Source