การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย ชูร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG #APECพร้อมไทยพร้อม


วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565 มีการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ในช่วงที่ 3 ต่อเนื่องจากการประชุมในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 โดยมีการหารือกันในประเด็น “การสร้างสมดุลในทุกด้าน” ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุม คือ เจ้าหน้าที่อาวุโสรับทราบสถานะล่าสุดของร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy)

ร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1) การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ 2) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3) การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4) การลดและบริหารจัดการของเสีย ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทางขับเคลื่อน ได้แก่ 1) กรอบระเบียบและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม 2) การเสริมสร้างศักยภาพ 3) สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 4) เครือข่ายสำหรับความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคพิจารณา เพื่อให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองต่อไป

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอโครงการจัดตั้งรางวัล APEC BCG ของไทย เพื่อมอบให้แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่นำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) สตรี 2) เยาวชน และ 3) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เพื่อเน้นย้ำบทบาทของกลุ่มคนและภาคส่วนเหล่านี้ รางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ให้ถูกนำไปปรับใช้มากขึ้นในเอเปค และขยายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป โดยผู้ชนะรางวัลจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากไทย จีน แคนาดา และเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สนใจ ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัวกิจกรรมการมอบรางวัลนี้ในที่ประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 33 และจะเริ่มมอบรางวัลนี้ในปีหน้าเป็นต้นไป

แม้ว่าความยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่หารือกันในเอเปคมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินงานด้านนี้ยังกระจัดกระจายตามกลไกต่าง ๆ ของเอเปค เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยรวบรวมการดำเนินงานของเอเปคด้านความยั่งยืนไว้ในที่เดียว และผลักดันการทำงานให้เกิดบูรณาการและเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน รางวัล APEC BCG จะเป็นการถ่ายทอดภาพจำความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพจัดงาน APEC 2022 ของไทยต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการแต่งตั้งผู้อำนวยการของหน่วยสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit – PSU) ของสำนักเลขาธิการเอเปคคนใหม่ และรับฟังเรื่องการเตรียมการจัดการประชุม APEC 2023 จากสหรัฐอเมริกา