T-Shirt เกลื่อนโลก แต่ทำไมต้อง UNIQLO

เสื้อผ้าที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่ว่าจะแบรนด์ไหน ก็พอจะมีเหตุผลอธิบายในเชิงแฟชั่นได้ว่า ทำไมถึงขายดิบขายดี ติดตลาด เป็นที่รู้จัก แต่อยู่ๆ แบรนด์ที่โฟกัสจะเน้นเสื้อผ้าเรียบๆ และเน้นการใช้งาน อย่าง UNIQLO ของญี่ปุ่น กลับกลายเป็นแบรนด์ที่เติบโตเอาๆ ด้วยยอดขายจากเสื้อ T-Shirt ป็นหลัก ถึงขั้นมีโปรเจกต์ UT (UNIQLO T-Shirt) ป็นที่เชิดหน้าชูตาเสียอีกด้วย

อะไรคือคีย์ซัคเซสที่ทำให้การขายเสื้อยืดตัวละไม่กี่ร้อยบาท ทำยอดขายได้สูงติดอันดับท็อปของโลก ทั้งจากแฟลกชิพสโตร์ทั่วโลก รวมไปถึงการซื้อขายผ่านโลกออนไลน์ ที่สำคัญแซงหน้าคู่แข่งที่เป็นแบรนด์แฟชั่นที่เติบโตมาก่อน ทั้ง Gap, H&M และ Zara ที่เน้นเรื่องของแบรนด์และความเป็นแฟชั่น ซึ่งถือเป็นหัวใจของธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์ดัง ให้ทิ้งห่างออกไปมากขึ้นทุกที

ที่น่าแปลกใจก็คือ อะไรที่ทำให้ UNIQLO ป็นแบรนด์ที่น่าหลงใหล ทั้งที่เสื้อแบรนด์นี้ ไม่เคยเลยสักครั้งที่เอาชื่อยี่ห้อของตัวเอง พิมพ์ลงบนเสื้อ หรือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดของลาย จะรู้ว่าเป็น UNIQLO ก็ต่อเมื่อพลิกดูป้ายยี่ห้อที่ติดไว้ด้านในเสื้อได้ทางเดียวเท่านั้น

ปี 2010 ที่ผ่านมา UNIQLO มียอดขายรวม 8 หมื่นล้านเยน และคาดว่าจะมียอดขายรวมถึง 1 แสนล้านเยน หรือราวๆ 35,000 ล้านบาท ในปี 2011 ปีเดียวกับที่ Flagship Store ได้ฤกษ์เปิดตัวในเมืองไทยเป็นปีแรกนี้เอง

เฉพาะยอดขายในญี่ปุ่น ในปี 2010 UNIQLO ทำยอดขายได้มากกว่า 6 หมื่นล้านเยน จากตลาดเครื่องนุ่งห่มรวมซึ่งมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านเยน ซึ่งหากเป้าหมายยอดขายปีนี้เป็นไปตามคาดที่ 1 แสนล้านเยน นั่นเท่ากับว่า UNIQLO จะกลายเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าที่ครองมูลค่าตลาดถึง 1 ใน 10 ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

สถานะล่าสุดของบริษัทในปีที่ผ่านมา UNIQLO มียอดขายเติบโตเป็นอันดับ 4 ของโลกในกลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้า มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นที่ 1 โดยตั้งเป้าต่อไปว่า ในปี 2012 บริษัทจะมียอดขายมากกว่า 8 ล้านล้านเยน โดยยอดขายยังจะมาจากญี่ปุ่นเป็นหลักถึง 90% แต่หลังจากปูพรมสาขาไว้ทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง UNIQLO ตั้งเป้าไว้ว่า สัดส่วนยอดขายจากสาขาในต่างประเทศจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของยอดขายทั้งหมดได้ภายในปี 2013 และจะเริ่มแซงหน้ายอดขายในญี่ปุ่นในปีต่อจากนั้น

แม้ว่าจะเป็นความบังเอิญที่แผนงานของ UNIQLO ซึ่งเน้นสร้างรายได้จากยอดขายของสาขานอกประเทศญี่ปุ่น จะตรงกับการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่ผ่านมา แต่การสร้างแบรนด์ด้วยคุณค่าใหม่ด้วยวัตถุดิบคุณภาพในราคาสมเหตุสมผล เพื่อตอบสนองลูกค้าทั่วโลก ก็ยังถือเป็นเรื่องท้าทายที่สุดสำหรับ UNIQLO อย่างน้อยก็ในอีก 1 ทศวรรษต่อจากนี้

เบื้องหลังผลิตแบบ Made for All

เบื้องหลังการทำงานของ UNIQLO เต็มไปด้วยปรัชญาการทำงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการวางแผนการผลิต ไปจนถึงแนวคิดจัดวางดิสเพลย์หน้าร้าน ซึ่งหน้าร้านในไทยก็จะอยู่ภายใต้มาตรฐานของกระบวนการเดียวกันนี้ เริ่มจาก วางแผน ผลิต และจัดจำหน่าย

ก่อนที่เสื้อผ้าของ UNIQLO ซึ่งมีจุดเด่นที่ความเรียบง่ายและเนื้อผ้าที่จะใส่สบาย จะออกสู่ชั้นวางขายได้ จะถูกวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี เริ่มตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ สี และผ้าที่จะใช้ เริ่มจากทีมงานด้านดีไซน์จะบินตรงไปสรุปหาเทรนด์แฟชั่นล่วงหน้าจากงาน Fabric Exhibition ที่นิวยอร์ก ก่อนจะสรุปเข้าสู่ขั้นตอนการดีไซน์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Made foe All เมื่อได้ดีไซน์เบื้องต้นแล้วก็จะขึ้นแพตเทิร์น และการเลือกเนื้อผ้าที่ต้องคำนึงถึงความสบายในการสวมใส่เป็นหลัก

ไม่เพียงแค่ทีมออกแบบ ทีม Merchandise ซึ่งเป็นผู้ดูแลในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเสื้อผ้าจะถูกขายออกไปที่หน้าร้านก็ต้องร่วมประชุมกับทีมงานดีไซน์ตั้งแต่ต้น เพื่อให้รับรู้เทรนด์ที่จะเปิดตัวในแต่ละคอลเลกชั่น การดีไซน์ รวมถึงตกแต่งหน้าร้านอย่างไรให้โดนใจลูกค้าและเข้ากับคอนเซ็ปต์ของดีไซน์ใหม่ที่จะออกสู่ตลาดตั้งแต่ก่อนเสื้อผ้าจะเข้าสู่กระบวนการผลิต

“อย่างเมื่อก่อนสีเบจอมแดงไม่เป็นที่นิยม แต่ตอนนี้เทรนด์ก็เปลี่ยนไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ว่า เราคงยึดกับอะไรไม่ได้ หรือจะเอาแค่ความชอบของตัวเองกำหนดก็ได้ เพราะพรุ่งนี้ความนิยมของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนแปลงไป” ซาโตชิ นุมากูระ General Director, Design Product Development and Merchandising อธิบาย ในฐานะดีไซน์เนอร์ผู้ควบคุมการออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิง

ภายใต้แนวคิด Made for All ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ฟังดูง่ายแต่ความจริงแล้วยาก ซึ่งทีมดีไซเนอร์ของ UNIQLO เลือกจะตีโจทย์นี้ว่า การคิดงานจะต้องอยู่ระหว่างความเรียบง่ายแต่น่าสนใจ

ในการรับรองสื่อมวลชนไทยครั้งนี้ ซาโตชิ นุมากุระ จึงเลือกพรีเซนต์ความเป็น UNIQLO ผ่านตัวเขาและห้องทำงานของแผนกออกแบบที่เรียบง่าย ที่สอดคล้องกับแบรนด์ และในฐานะหัวหน้าทีมดีไซน์เลือกมิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยเสื้อผ้าของ UNIQLO ทั้งชุดอย่างมีรสนิยมออกมารับแขก

แบ็กอัพความเรียบง่าย ด้วยดีไซเนอร์ระดับท็อป

ถึงแม้ว่าแบรนด์ UNIQLO จะขึ้นชื่อเรื่องความเรียบง่าย หยิบใส่ได้หลายโอกาส และสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าได้หลากหลายแบบ แต่เบื้องหลังการออกแบบ กระบวนการพัฒนาสินค้า และขั้นตอนการนำเสนอสู่สายตาผู้บริโภค กลับเต็มไปด้วยดีไซเนอร์ดังระดับโลก

เป็นความโชคดีของผู้สื่อข่าวชาวไทยที่เดินทางไปเยี่ยมชม UNIQLO ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Nichola Formichetti ดีไซเนอร์ชื่อดังเดินทางมาญี่ปุ่นพอดี นิโคล่า เป็น Fashion Director ของ UNIQLO ทำหน้าที่เลือกเสื้อผ้าที่อยู่ใน Lookbook แล้วหยิบจับเอาเสื้อผ้าของ Uniqlo มามิกซ์แอนด์แมตช์ ให้เข้ากับเทรนด์ในช่วงนั้น เพื่อนำเสนอเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าได้เห็นเป็นแรงบันดาลในการแต่งตัว

นิโคล่า เป็นลูกครึ่งอิตาเลี่ยน-ญี่ปุ่น สไตล์การแต่งตัวเปรี้ยวปรี๊ด(ส์) บ่งบอกความเป็นแฟชั่นนิสต้าชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีความเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี เพราะได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ชาวญี่ปุ่น นิโคล่าถือเป็นหนึ่งในเบื้องหลังการทำงานที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดของ Uniqlo ที่บุกตลาดโลกด้วยวิถีแบบตะวันออกได้อย่างเด่นชัด

นอกจากทำงานให้ UNIQLO นิโคล่ายังเป็นคอสตูม ดีไซเนอร์ส่วนตัวให้กับเลดี้ กาก้า ทำให้บางครั้งเลดี้ กาก้าก็ใส่เสื้อของ UNIQLO โดยเฉพาะตอนที่เธอเดินทางมาเยือนญี่ปุ่น

ดีไซเนอร์ดังอีกคนที่เข้ามร่วมงานกับ UNIQLO ก็คือ Jill Sander ดีไซเนอร์ชาวเยอรมัน ซึ่งมีสไตล์การออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย เข้ากับดีเอ็นเอของ UNIQLO อยู่แล้ว

การร่วมมือกับดีไซเนอร์นอกจากเพื่อแบรนด์ UNIQLO ยังทำให้ทำให้เกิดซับแบรนด์ +J ผลิตสินค้าหรู จับกลุ่มคนทำงานทั้งหญิง-ชาย แต่ขยับราคาขายขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว เพิ่มขึ้นอีกแบรนด์

ในช่วงที่ POSITIONING ไปที่ญี่ปุ่น เป็นช่วงที่หลายคนเริ่มทราบข่าวแล้วว่าคอลเลกชั่น +J ที่กำลังจะวางขายในช่วงหน้าหนาวจะเป็นคอลเลกชั่นสุดท้าย ดังนั้นราวแขวนสำหรับคอลเลกชั่นหน้าร้อนก็แทบจะเหลืออยู่ไม่กี่ตัว มีไซส์ให้เลือกไม่มากนัก ก็แสดงให้เห็นถึงความนิยมในซับแบรนด์ +J ได้ในระดับหนึ่ง

“คุณภาพ” ต้องคุมตั้งแต่ต้นทาง

UNIQLO ใช้บริษัท โทรเลย์ เป็นผู้ที่ช่วยทำวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบ เพื่อพัฒนาเส้นใยจนได้คุณภาพของผ้าในมาตรฐานที่พอใจ

ไม่เพียงการเลือกพันธมิตรด้านวัตถุดิบ หัวใจสำคัญของการผลิตที่แท้จริงของ UNIQLO ยังซ่อนตัวอยู่ในทุกโรงงานของคู่ค้าทั้ง 70 แห่ง เพื่อทำหน้าที่คอยตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่การปั่นด้าย การตัดเย็บทุกขั้นตอน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับในการความคุมคุณภาพตามที่ UNIQLO ต้องการ

Yoshihiro Kunii, Vice President ผู้ดูแลฝ่ายผลิตของ Fast Retailing บริษัทแม่ของ UNIQLO ทั้งเครือ ฉายภาพ Takumi ชายวัย 60 ปีเศษให้กับสื่อมวลชนไทยดู ในการพบปะกัน ทาคุมิ คือหนึ่งในตัวแทนในการรักษาความลับในการผลิตเสื้อผ้าของ UNIQLO นั่นเอง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะต้องมีประสบการณ์ในวงการแฟชั่นมานานกว่า 30-40 ปี

ส่วนการตัดเย็บจะใช้วิธีร่วมมือกับโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานปัจจุบัน 80% ผลิตในประเทศจีน ส่วนที่เหลือผลิตในเวียดนาม บังกลาเทศ รวมทั้งไทยซึ่งมีหน้าที่รับผลิตถุงเท้าและชุดชั้นในเป็นหลักคิดเป็น 2%ของกำลังการผลิตทั้งหมด แต่ UNIQLO ก็มีแผนที่จะลดกำลังการผลิตในจีนลงและกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงงานที่แข่งขันได้กับจีนเพื่อลดความเสี่ยงลงด้วย

ทำแบรนด์ Mass ต้องเน้นEconomic of Scale

โจทย์ Made for All อาจจะยากตอนดีไซน์แบบ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตก็กลายเป็นข้อได้เปรียบ เพราะความง่ายทำให้รูปแบบเสื้อของ UNIQLO มีน้อยแบบ สินค้าบางไอเทมผลิตคราวละ 10 ล้านชิ้นก็ยังมี ปีที่แล้ว UNIQLO มีการผลิตสินค้าไอเทมต่างๆ ออกมามากถึง 600 ล้านชิ้น นั่นเท่ากับมีอำนาจในการสร้าง Economic of Scale อย่างมาก ซึ่งข้อได้เปรียบนี้ย้อนไปถึงขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบตั้งแต่เส้นด้าย และการพัฒนาเทคโนโลยีของเนื้อผ้าต่างๆ ตัวอย่างเช่น การสร้างสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองจากเส้นใย Ultra Light Down ซึ่งทำให้ผลิตเสื้อกันหนาวขนเป็ดที่มีความเบาแค่ 196 กรัมหรือเท่ากับกระดาษหนังสือพิมพ์แผ่นใหญ่ 1 แผ่นเท่านั้น และสามารถพับเก็บในถุงเล็กๆ ได้

ทั้งหมดนี้ คือ ความได้เปรียบที่มากับวิสัยทัศน์ของความเป็นเบอร์หนึ่ง ดังนั้นจึงกล้าลงทุนสร้างสรรค์นวัตกรรม กับสร้างคอนเซ็ปต์ที่เอื้อต่อการก้าวขึ้นสู่แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก ขณะที่ Zara แบรนด์แฟชั่นอันดับ 1 ของโลกอาจจะผลิตคราวละแค่หลักหมื่นชิ้นเท่านั้น เพราะความที่เสื้อผ้าเน้นความเป็นแฟชั่นและดีไซน์มากกว่า ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้มีกลุ่มผู้ซื้อน้อยกว่า และหันไปอาศัยความรวดเร็วตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงโลจิสติกส์ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือนในการออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ ตั้งแต่เริ่มออกแบบสู่หน้าร้านในการแข่งขันแทนเรื่องของ Economic of Scale ถือเป็นขั้นที่แตกต่างของแบรนด์ดังระดับโลกสองแบรนด์

แต่หากย้อนไปพิจารณาแบรนด์อื่นๆ ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีฐานผลิตในจีนซึ่งเคยโด่งดังในอดีต อาทิ Bossini Giodano U2 G2000 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแบรนด์ที่โด่งดังทั่วเอเชียมาก่อน แต่การขยายสาขาและหันไปเน้น Economic of Scale สร้างข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ใช้ฐานในจีนเป็นหลัก ขาดการดูแลภาพลักษณ์และรักษาแบรนด์ให้คงความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีราคาขายก็ต้องปรับขึ้นตามภาวะต้นทุนและสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น เมื่อเส้นวัดคุณสมบัติด้านแฟชั่นกับราคาสินค้าวิ่งสวนทางกัน ความรู้ต่อแบรนด์ก็ค่อยๆ ลดบทบาทลงจากใจผู้บริโภคไปในที่สุด

ดังนั้น สำหรับ UNIQLO แม้จะมีข้อได้เปรียบจากการสร้าง Economic of Scale แต่หากละเลยการดูแลแบรนด์ให้แข็งแกร่ง โอกาสที่จะกลายเป็นเสื้อโหลก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า Economic of Scale สร้างได้ แต่แบรนด์สร้างยาก

หนทางสู่หมายเลขหนึ่ง อยู่หน้าร้าน

UNIQLO เริ่มขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี 2001 สะสมประสบการณ์จนมั่นใจว่า การออกแบบเสื้อผ้าโดยใช้คอนเซ็ปต์ Made for All เป็นสิ่งที่ได้ผลทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศจีนแล้ว ระยะหลังเลยเร่งความเร็วในการเพิ่มสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

แค่เปิดสาขาไม่มีอะไรยากขอเพียงแค่มีเงินลงทุน ปัญหาอยู่ที่จะจัดการงานบริการหน้าร้านอย่างไรให้ได้มาตรฐานเดียวกัน

UNQLO นำวิธีการต้อนรับแบบญี่ปุ่นไปสู่หน้าร้านของทุกประเทศ หลายสาขาเห็นผลตอบรับว่าวิธีนี้ช่วยสร้างความนิยมของร้านได้ดี ตัวอย่างเช่น ที่เซี่ยงไฮ้หลัง UNIQLO เปิดร้านไม่นาน ร้าน GAP แบรนด์อันดับ 3 ของโลกก็เงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด

การฝึกอบรมพนักงานให้ได้มาตรฐานแบบญี่ปุ่น UNIQLO จะมีกฎให้พนักงานทุกคน ทุกระดับ ต้องท่อง Management Principle จำนวน 23 ข้อให้ได้ขึ้นใจ และมีการทดสอบให้คัดกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะๆ แค่ก้าวแรกที่เข้าสู่ร้าน UNIQLO ก็จะมีเสียงของพนักงานกล่าวต้อนรับดังอยู่เสมอ แม้แต่พนักงานระดับ Management ก็ต้องผ่านงานหน้าร้านมาก่อน ต้องทำได้แม้กระทั่งการตัด-ต่อกางเกงยีนส์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ส่วนการจัดการหน้าร้านก็จะมีเกณฑ์วัดระดับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของร้าน เพราะ UNIQLO เชื่อว่าการให้บริการหน้าร้านเป็น Contact Point สำคัญ ที่ให้ประสบการณ์ตรงกับลูกค้า ซึ่งในไทย มาตรฐานการอบรมพนักงาน กับวิธีการต้อนรับลูกค้าในลักษณะเดียวกันที่จะถูกปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย เช่น คำทักทายบางคำที่ปรับให้ตรงกับภาษาที่คุ้นหูคนไทยมากขึ้น

ส่วนการจัดดิสเพลย์หน้าร้าน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการซื้อที่สำคัญของธุรกิจเสื้อผ้า

ในวันที่ POSITIONING ไปเยี่ยมชมร้าน UNIQLO โดยมี ฟุมิโตะ คิตะมุระ (Fumito Kitamura) หัวหน้าทีมผู้ควบคุมการจัดหน้าร้าน (Director In-store Merchandising/Store Design) ของ UNIQLO มานำทัวร์อธิบายการเลือกสรรเสื้อผ้ากับความสำคัญของหน้าร้านให้ฟังด้วยตัวเอง

เขาเล่าว่าตัวอย่างแฟชั่นที่นำมาเป็นภาพตกแต่งร้านจะคัดเลือกมาจาก Look Book ผ่านการเลือกของดีไซเนอร์ชั้นนำของบริษัท Look Book จะเปลี่ยนคอลเลกชั่นทุกๆ 3 เดือนตามฤดูกาล ขณะที่ผู้จัดการร้านจะเป็นผู้มีอำนาจคัดเลือกโปรดักต์กับสต๊อกสินค้า แต่หลักการจัดแสดงสินค้าจะคล้ายกัน นั่นคือตำแหน่งโปรดักต์ไฮไลต์ที่แบรนด์ต้องการเน้นเป็นพิเศษให้อยู่ตรงจุดที่ลูกค้าเห็นได้ทันที่เมื่อขึ้นหรือลงจากบันไดเลื่อนสำหรับสาขาที่มีมากกว่า 1 ชั้น หุ่นโชว์ตัวที่เด่นสุดของร้านจะต้องใส่เสื้อผ้าสีแดงพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของ UNIQLO ซึ่งเป็นสีที่สะดุดตาที่สุด

ในประเทศแม่อย่างญี่ปุ่น UNIQLO มีสาขาทั้งสิ้น 842 สาขา ในย่านการค้าใหญ่ๆ อาจจะมีถึง 3-4 ร้านในแหล่งเดียวกัน แนวคิดของการจัดหน้าร้านของ Uniqlo เริ่มต้นด้วยการคิดว่า อยากให้ลูกค้าสามารถมองหาสินค้าได้ด้วยตัวเอง จึงใช้ร้านที่มีเนื้อที่กว้าง เพื่อแสดงสินค้าได้ทุกขนาดทุกแบบ ชั้นวางมีแท็กสินค้าอธิบายจุดเด่นและคุณสมบัติชัดเจน หน้าร้านเน้นรักษาคอนเซ็ปต์แบรนด์เป็นสำคัญ และสร้างความแตกต่างสำหรับสาขาขนาดเล็กตามสถานีรถไฟใต้ดินให้มีคอนเซ็ปต์ต่างออกไปด้วยป้ายหน้าร้านสีดำ วางจำหน่ายสินค้าเฉพาะที่ไม่ต้องใช้ห้องลอง เน้นสินค้าที่เหมาะกับนักเดินทางตามทำเลที่ตั้งร้าน ซึ่งให้ความหมายไปในตัวด้วยว่า ในญี่ปุ่น UNIQLO คือคอนวีเนียนสโตร์ของร้านเสื้อผ้า ที่อยู่คู่กับการดำเนินชีวิตประจำวัน อยากซื้อเมื่อไรก็หาร้านนี้ได้ทั่วไป

Unique Clothing

ชื่อของ UNIQLO เกิดจากความไม่ตั้งใจ เมื่อ ทาดาชิ ยาไน ซีอีโอ ต้องการจะจดชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อความหมาย “Unique Clothing” เขาใช้ลูกน้องไปจดชื่อดังกล่าว แต่ลูกน้องคนนั้นกลับเขียนผิดเป็น UNIQLO ปรากฏว่าเขากลับชอบ เพราะคิดว่าเป็นชื่อที่มีเอกลักษณ์ จดจำง่าย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แบรนด์ UNIQLO จึงถือกำเนิดขึ้น

UNIQLO’s Numberic

  • ปีที่แล้ว UNIQLO ผลิตสินค้าทั้งสิ้น 600,000,000 ชิ้น
  • UNIQLO ใช้พาร์ตเนอร์ทั้งหมด 70 โรงงาน
  • มีพนักงานในฝ่ายโปรดักชั่นทั้งหมด 300 คน
  • ประจำอยู่ที่ญี่ปุ่น 20 คน 280 คนที่เหลืออยู่ในโรงงานของพันธมิตร
  • สินค้าของ UNIQLO 80% ผลิตที่จีน อีก 20% ผลิตที่ประเทศอื่น
  • สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านชิ้น
Timeline
กรกฎาคม 1984 UNIQLO สาขาแรก เปิดที่ฮิโรชิม่า
พฤศจิกายน 1998 UNIQLO เปิดสาขาแฟลกชิพแรก ที่ฮาราจูกุ
กันยายน 2001 เปิดสาขาแรกที่อังกฤษ
ปีต่อมา (2002) UNIQLO เปิดสาขาที่จีน เป็นประเทศที่ 2 นอกจากอังกฤษ
กันยายน 2005 สาขาที่สหรัฐอเมริกา เกาหลี ฮ่องกงก็เกิดขึ้น
ปี 2007 เปิดสาขาที่ปารีส
ปี 2009 สาขาแรกใน SEA เกิดขึ้นที่สิงคโปร์
ปีที่แล้ว (2010) UNIQLO เปิดสาขาในรัสเซีย มาเลเซีย และไต้หวัน
UNIQLO – SWAT & More…
จุดแข็ง การควบคุมคุณภาพภายใต้มาตรฐานในสไตล์ญี่ปุ่น
จุดอ่อน พึ่งพาโรงงานการผลิตในจีนเป็นหลัก ทำให้บริษัทพยายามกระจายกำลังการผลิตอย่างน้อย 1 ใน 3 ไปยังประเทศต่างๆ เช่น กัมพูชา เวียดนาม ไทย บังกลาเทศ หรือกลุ่มประเทศที่มีค่าแรงที่พอจะแข่งขันกับจีนได้ภายในไม่กี่ปีต่อจากนี้
โอกาส การขยายตลาดในต่างประเทศ แต่ต้องอาศัยการทำตลาดที่ต้อง Localized ให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศมากขึ้น
อุปสรรค มีผู้ผลิตสินค้าที่เน้นกลยุทธ์ด้านราคาเหมือนกันหลายๆ รายในตลาดทั้งที่มีแบรนด์อย่าง H&M, Muji และทีไม่มีแบรนด์
Positioning ในญี่ปุ่น UNIQLO เป็นเสื้อผ้าที่ลงตัวระหว่างราคาและคุณภาพ ทำให้ผู้ใช้ยอมรับได้ที่จะไม่มีดีไซน์หรือแฟชั่นอะไรมากนัก ผู้ซื้อซื้อโดยไม่ต้องคิดมาก เพราะเป็นแบบที่ซื้อเพื่อใช้งานจริงๆ และสามารถทิ้งได้โดยไม่เสียดายเมื่อใช้ไปสักพัก แต่ในต่างประเทศ UNIQLO กลับถูกมองว่าเป็นแฟชั่นแบรนด์พอๆ กับเสื้อผ้าที่เน้นคุณภาพและราคาถูก ตัวอย่างเช่น การใช้อักษรคาตากานะแบบญี่ปุ่นที่เขียนเป็นลายบนเสื้อเพื่อแนะนำตัว สมัยเปิดสาขาในอเมริกาและยุโรป กลับกลายเป็นตัวดึงดูดความสนใจให้กับแบรนด์
ดีไซน์ เรียบง่าย เน้นการใช้งานเป็นหลัก ในขณะที่แบรนด์เสื้อผ้าส่วนใหญ่จะเน้นดีไซน์และแฟชั่น
คู่แข่ง Zara, Gap, H&M ฯลฯ โดยเฉพาะสองแบรนด์หลังมีความคล้ายจนเป็นเหมือนคู่แข่งโดยธรรมชาติ