‘อินเดีย’ จ่อแซง ‘ญี่ปุ่น-เยอรมัน’ ขึ้นแท่นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

อินเดีย COVID-19
(Photo by Yawar Nazir/Getty Images)
ตามข้อมูลของ S&P Global คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของอินเดียจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3% จนถึงปี 2030 ขณะเดียวกัน Morgan Stanley ก็ได้คาดการณ์ว่า GDP ของอินเดียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากระดับปัจจุบันภายในปี 2031 ดังนั้น อินเดียกำลังจะแซง ญี่ปุ่น และ เยอรมัน ขึ้นแท่นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

Ridham Desai และ Girish Acchipalia 2 นักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley ได้ระบุไว้ในรายงานว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียนั้นขับเคลื่อนโดยต่างประเทศในการลงทุนด้านการผลิต นอกจากนี้ยังมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขั้นสูงของประเทศ

“แรงผลักดันเหล่านี้จะทำให้อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจและตลาดหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2030”

ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา GDP ของอินเดียเติบโต 6.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการสำรวจของรอยเตอร์ที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.2% และก่อนหน้านี้ GDP อินเดียมีการขยายตัว 13.5% ในช่วงไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ภาคการบริการที่แข็งแรงภายในประเทศ ทั้งนี้ GDP อินเดียเคยมีการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 20.1% ไตรมาส 2 ของปี 2021 ตามข้อมูลของ Refinitiv

ด้านการคาดการณ์ของ S&P มองว่า การเติบโตของ GDP อินเดียนั้นขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการเปิดเสรีทางการค้าและการเงินของอินเดีย รวมถึงการปฏิรูปตลาดแรงงาน ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและทุนมนุษย์ของอินเดีย

“นี่เป็นความคาดหวังที่สมเหตุสมผลจากอินเดีย ซึ่งมีหลายสิ่งที่ต้องตามให้ทัน ทั้งในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัว” Dhiraj Nim นักเศรษฐศาสตร์จากฝ่ายวิจัยกลุ่มธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กล่าว

ปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นศูนย์กลางสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ผ่านโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production Linked Incentive Schemes ; PLIS) มูลค่ากว่า 1.39 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นการผลิตและการส่งออก หรือที่เรียกว่า PLIS ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2020 เพื่อจูงใจแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบของส่วนลดภาษีและใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น การจัดสรรที่ดินสำหรับกิจการเฉพาะทาง ฯลฯ

“เป็นไปได้มากว่ารัฐบาลจะใช้ PLIS เป็นเครื่องมือในการทำให้เศรษฐกิจอินเดียขับเคลื่อนด้วยการส่งออกมากขึ้นและเชื่อมโยงกันมากขึ้นในซัพพลายเช่นทั่วโลก”

ทางด้าน Morgan Stanley ประมาณการว่าสัดส่วนการผลิตของอินเดียใน GDP จะเพิ่มขึ้นจาก 15.6% เป็น 21% ภายในปี 2031 ซึ่งหมายความว่ารายได้จากการผลิตอาจเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 4.47 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบันเป็นประมาณ 1.49 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้อินเดียเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการตั้งศูนย์กลางการผลิตจนถึงปี 2030

“บริษัทข้ามชาติมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการลงทุนในอินเดียและรัฐบาลก็ส่งเสริมการลงทุนทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการจัดหาที่ดินสำหรับโรงงาน นอกจากนี้ อินเดียยังมีข้อได้เปรียบที่แรงงานต้นทุนต่ำจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตต่ำ การเปิดกว้างต่อการลงทุน นโยบายที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ และกลุ่มประชากรอายุน้อยที่มีใจรักการบริโภคสูง” สุเมธา ดาสคุปต์ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Economist Intelligence Unit กล่าว

อย่างไรก็ตาม อินเดียก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบต่ออินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าสูงโดยคิดเป็นเกือบ 20% ของผลผลิตที่ส่งออก ดังนั้น การชะลอตัวทั่วโลกอาจบั่นทอนแนวโน้มธุรกิจส่งออกของอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องจำนวนของแรงงานฝีมือ ข้อผิดพลาดด้านนโยบายที่อาจเกิดขึ้นจากการลงคะแนนเสียงในรัฐบาลที่อ่อนแอกว่า

Source