ศึกสาหร่าย 2 พันล้าน สิงห์-ช้าง เปิดเกมเขย่าเถ้าแก่น้อย

ตลาดสาหร่ายที่มีมูลค่าปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากพอที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหญ่วิ่งเข้ามาแย่งตลาดกับรายเดิมในตลาดอย่างเต็มตัว เพราะความพร้อมของรายใหม่เอง และช่องว่างที่รายเดิมเปิดทางไว้ให้

ด้วยความที่สินค้าสาหร่ายมีลักษณะพิเศษคือ รายเล็กสามารถเข้ามาทำตลาดได้ง่าย ในแง่ของการผลิตสินค้า ซึ่งเพียงแค่ซื้อวัตถุดิบ ปรุงรส บรรจุถุง ก็สามารถนำมาออกวางขายได้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ในตลาดสาหร่ายจะเต็มไปด้วยรายเล็ก รายน้อย นับไม่ถ้วน

แม้แต่เถ้าแก่น้อยเอง ซึ่งเป็นเจ้าตลาดสาหร่ายในขณะนี้ ช่วงแรกอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเถ้าแก่น้อย ฟู๊ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย ที่ทดลองตลาดสาหร่ายทอดด้วยการพ่วงเข้าไปขายในร้านเกาลัด เถ้าแก่น้อยของตัวเอง จนพบว่าสินค้าสาหร่ายทอด ทำเงิน และขายดีกว่าสินค้าหลักจนต้องเปลี่ยนมาเป็นสาหร่ายในที่สุด

จุดนี้เป็นทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะยืนอยู่ตรงจุดไหนของตลาด

เกิดจากญี่ปุ่น โตด้วยเกาหลี ขายดีในไทย

สาหร่าย คือ อาหารที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักและบริโภคมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รับรู้กันว่าถ้าเป็นสาหร่ายต้องนับเป็นอาหารญี่ปุ่น ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ใช้จุดขายเป็นอาหารญี่ปุ่นตามแนวคิดเดิม

ความเป็นญี่ปุ่น คือ จุดเริ่มต้นถือกำเนิดของตลาดสาหร่าย และเติบโตได้ในระดับปานกลาง ไม่ถึงกับตื่นตัวมากนัก หากจะนับแบรนด์สาหร่ายในตลาดมีไม่น้อยกว่า 30 ราย มีทั้งที่เกิดใหม่ และล้มหาย ตายจากไป

ตลาดสาหร่ายก็มีการเติบโตแบบเรียบๆ ไม่พุ่งขึ้นมา อาจเป็นเพราะผู้ผลิตรายเล็ก รายน้อยไม่นิยมสร้างแบรนด์ หรือทำการตลาดกระตุ้นมากนัก ทุกคนพอใจกับส่วนแบ่งที่ตัวเองมีอยู่

การเติบโตเต็มที่ของสาหร่าย มาจากการเร่งปฎิกิริยาแบบเร่งด่วนด้วย สารกระตุ้น K-pop จากการหลั่งใหลเข้ามาของวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลี ที่แพร่กระจายไปในทุกสินค้า

การหยิบเอาเกาหลีมาช่วยขายสาหร่ายญี่ปุ่น เริ่มต้นจากต้องยกให้เถ้าแก่น้อยที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากแนวทางญี่ปุ่นมาเป็น แนวทางเกาหลี เพราะเหตุผลว่า เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง และผลที่ได้รับก็คือ สาหร่ายน้อยเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ตลาดรวมสาหร่ายโตไปด้วย

เถ้าแก่น้อยกวาดตลาดในประเทศอยู่คนเดียว จนถึงจุดหนึ่งก็เริ่มมองไปที่ต่างประเทศ เพราะสินค้าแบบนี้ขายได้ในแถบเอเซียแน่นอน แล้วเถ้าแก่น้อยก็ออกเดินทางใหญ่อีกครั้ง ด้วยการออกไปเปิดตลาดต่างประเทศจนขณะนี้มีตลาดต่างประเทศ 16 ประเทศ

ไปโตนอกบ้าน แต่ในบ้านถูกเขย่า

การไปตลาดต่างประเทศของเถ้าแก่น้อย มองด้านหนึ่งคือการเปิดตลาด ที่มีมูลค่ามหาศาล ก็เป็นทางเลือกของเถ้าแก่น้อย แต่เมื่อไปโตนอกบ้าน ก็เป็นธรรมดาที่ตลาดในบ้านจะถูกแทรกได้ง่าย ซึ่งเรื่องนี้ สันต์ ภิรมย์ภักดี ของกลุ่มสิงห์ที่ส่งสาหร่าย มาชิตะ ลงตลาดก็บอกอย่างชัดเจนว่า เข้าตลาดสาหร่ายเพราะเถ้าแก่น้อยไม่โฟกัสตลาดในประเทศ จึงเกิดช่องว่างให้สิงห์เข้ามาได้

แต่เถ้าแก่น้อยไม่ได้หมายความว่าปล่อยตลาดในประเทศทั้งหมด แต่บางช่วงเวลาที่อาจใส่ใจตลาดต่างประเทศเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างไรเถ้าแก่น้อยก็ยังต้องปกป้องตลาดในประเทศของตัวเอง เพราะเขาสร้างตลาดนี้ขึ้นมากับมือ

การเข้ามาเขย่าหมายเลขหนึ่งของตลาดสาหร่ายช่วงนี้ คู่แข่งมองว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะคนเข้มข้นลดน้อยลง ต้องชิงลงมือให้เร็วที่สุด

สงครามสาหร่ายเพิ่งเริ่มต้น

การแข่งขันในธุรกิจสาหร่าย แม้อิทธิพัทธ์จะบอกเองว่าบ้านเรามีการแข่งขันกันสูง แต่ยังถือว่าไม่รุนแรงเท่ากับชาเขียว ที่แข่งกันจนผู้ประกอบการหน้าเขียวไปตามๆ กัน แทบอยากจะเปลี่ยนเป็นชาวเขียวใบบัวบกกันอยู่แล้ว

ด้วยขนาดของตลาดที่ยังเติบโตได้อีกมาก หากมีการเร่งปฏิกิริยาให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น รายใหม่ๆ ที่เข้ามาก็จะมีพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องไปทับซ้อนกับรายเก่ามากนัก แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางส่วนต้องไปกินส่วนแบ่งตลาดของรายเดิมที่มีอยู่

แต่คู่แข่งที่เข้ามาในตลาดนี้ทั้ง มาชิตะของ กลุ่มสิงห์ โดโซะ ของเบียร์ช้าง ก็คือผู้ประกอบการรายใหญ่ มีความพร้อมในการแข่งขันไม่น้อย ยังต้องรอดูกันว่าสาหร่ายจะเดินไปสู่จุดเดียวกับชาเขียวหรือไม่ แต่ที่เกิดขึ้นแน่นอนแล้วก็คือ

ผู้ใหญ่ 2 คนกำลังจะแย่งขนมในมือเด็ก