สาหร่าย มาชิตะ เมื่อ “สิงห์” ขอขย้ำเถ้าแก่น้อย

จากความชื่นชอบส่วนตัวของ สันต์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งชอบทานสาหร่ายมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ทำให้เขาคิดที่จะเปิดตลาดสาหร่ายตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ที่เขาก้าวเข้ามารับผิดชอบดูแลในส่วนของพัฒนาธุรกิจ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีแบรนด์เถ้าแก่น้อยในตลาดแต่อย่างใด

สันต์ ภิรมย์ภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาดนอนแอลกอฮอล์ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด บอกถึงสาเหตุที่ลงเล่นในตลาดสาหร่ายปรุงรสว่า “ผมมองตลาดนี้มานานแล้ว เคยเสนอบอร์ดแล้วแต่ไม่ผ่าน เพราะตอนนั้นภาพของสาหร่ายยังไม่ชัดเจน การเข้าตลาดตอนนี้ไม่ถือว่าช้าเกินไป และไม่หนักใจ เราดูความเป็นไปได้ทางการตลาดไม่ได้มองว่าเก่าหรือใหม่ และตอนนี้เจ้าตลาดมีแบรนด์เดียว รายเล็กๆ อาจไม่มีศักยภาพในแง่ของสายป่านและการลงทุน”

เขาบอกอีกว่า “เราไม่ทำมันฝรั่งทอดกรอบแน่นอน เพราะยังไงก็สู้เลย์ไม่ได้แน่ๆ เลือกทำสาหร่ายปรุงรสเพราะเทรนด์ยังไม่ตก และคาดว่าจะได้รับความนิยมจากลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการเลือกลงเล่นในเซ็กเมนต์สาหร่ายทอดกรอบเพราะเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ที่สุด”

ตลาดนี้ยังมีอนาคตไกลเพราะสอดรับกับเทรนด์ Health Concious ของผู้บริโภคยุคใหม่ แม้ปัจจุบันสันต์จะให้ข้อมูลว่าตลาดสาหร่ายยังเล็กมีมูลค่า 1,680 ล้านบาท แต่เติบโตปีละ 11-15%

แม้กระแสสุขภาพจะมาแรง แต่เซ็กเมนต์สาหร่ายทอดกรอบมีสัดส่วนสูงถึง 60% เนื่องจากให้รสชาติที่อร่อยและถูกปากผู้บริโภคมากที่สุด

“คนไทยชอบกินขนมที่มีน้ำมันกับเกลือ กินแล้วไม่ฝืดคอ ดังนั้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รสชาติต้องมาก่อน ตามด้วยสุขภาพ”

สันต์บอกว่าแม้จะเป็นตลาดเล็กแต่ก็เอาจริง และเตรียมการมาดี เพราะทดลองตลาดกับเอเย่นต์มานานร่วมปี โดยวางเป้าหมายขั้นต่ำว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาด 12% ภายในสิ้นปี 2554 นี้ หรือคิดเป็นยอดขาย 200 ล้านบาท

นอกจากนี้สันต์ยังมองว่า สำหรับตลาดในประเทศ แม้เถ้าแก่น้อยจะมีส่วนแบ่งการตลาดทิ้งห่างคู่แข่งรายเล็กรายน้อยแต่ก็ยังไม่ถือว่าแข็งแกร่ง เพราะภาพลักษณ์ยังสวิงไปมา ขณะที่ตลาดต่างประเทศเถ้าแก่น้อยทำได้ดีน่าชม ซึ่งมาชิตะเองก็มีแผนการที่จะบุกตลาดต่างประเทศต่อจากนี้อีกด้วย โดยเฉพาะหลังจากปรับโครงสร้างบุญรอด เทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยการตั้งสำนักงานในแต่ละประเทศที่สิงห์เข้าไปทำตลาด เพื่อความคล่องตัวมากกว่าจะบริหารงานจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว

น้องเล็กซุปเปอร์จูเนียร์สร้างภาพลักษณ์เกาหลีให้มาชิตะ

ในขณะที่เถ้าแก่น้อยมีวง BEAST ศิลปินที่กำลังมาแรงของเกาหลี แต่สิงห์เลือกใช้ศิลปินสุดฮอตที่ดังมายาวนานอย่างซุปเปอร์จูเนียร์ โดยเลือกเฉพาะ “คยูฮยอน” น้องเล็กที่อายุน้อยสุดของวงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ โดยหวังให้พรีเซ็นเตอร์เป็นตัวนำ Brand Value ในแง่ของความเป็นเกาหลีไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็ว

สันต์เผยเบื้องหลังในการเลือกพรีเซ็นเตอร์มาชิตะว่า เลือกพรีเซ็นเตอร์ที่ดังในกลุ่มคนไทย เลือกวงที่ดังที่สุดในกลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป

“คนไทยอยากได้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นนักร้องมากกว่านักแสดง เพราะนักแสดงปีหนึ่งๆ มีผลงานไม่กี่เรื่อง ถ้าเราเลือกไปแล้วไม่มีผลงานก็ไม่อยู่ในกระแส แต่นักร้องมีผลงานต่อเนื่อง อยู่ในกระแสได้ตลอดปี ไม่น่าเบื่อ และพบว่าซุปเปอร์จูเนียร์มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแมสที่คลั่งไคล้เกาหลีจริงๆ และเป็นวงเกาหลีที่คนไทยอยากเจอมากที่สุด แต่จ้างทั้งวงก็แพงมาก”

คยูฮยอนตอบโจทย์ที่สุดในแง่ของวัยรุ่นและยังไม่เคยเป็นพรีเซ็นเตอร์เดี่ยวๆ ให้กับแบรนด์ไหนมาก่อนเลย ส่วนซีวอนได้กลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป และในแง่ของวงแล้ว ซุปเปอร์จูเนียร์ตอบโจทย์ที่สุดเพราะยังได้กลุ่มอายุ 15 ปีด้วย

แม้ตอนแรกเขาจะไม่เชื่อว่ากระแสเกาหลีมาแรงจริงก็ตาม

“สำหรับกระแสเกาหลี ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แค่ซุปเปอร์จูเนียร์มาคนเดียว พารากอนยังแทบแตก แล้วถ้ามาทั้งวงจะขนาดไหน”

อย่างน้อยวันเปิดตัวมาชิตะที่ลานพาร์คพารากอน ก็ทำให้สันต์มั่นใจได้ว่าเลือกไม่ผิดคน เพราะแฟนคลับวัยใสมานั่งกางร่มรอกลางแดดเปรี้ยงๆ กันแน่นขนัดก่อนที่อีเวนต์จะเริ่มต้นหลายชั่วโมง

การที่สาหร่ายต้องสร้างภาพลักษณ์เกาหลี เนื่องจากเกาหลีเป็นผู้ส่งออกสาหร่ายรายใหญ่ของโลกและขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพ ความเป็นแหล่งกำเนิดและต้นตำรับจึงเป็นจุดขายที่ดีกว่าจะไปสร้างภาพลักษณ์เกาหลีเป็นญี่ปุ่นหรือจีน ขณะที่มาชิตะนำเข้าสาหร่ายจากเกาหลี 100% แต่เถ้าแก่น้อยนำเข้าจาก 3 ประเทศคือเกาหลี จีนและญี่ปุ่น

“คนปรุงรสก็คนเกาหลี มาชิตะจึงเป็นเกาหลีหัวจรดเท้า”

ทั้งนี้การเปิดตัวในช่วงเวลาที่ปรากฏต่อสื่อไล่เลี่ยกัน ทำให้หลายคนมองว่านี่เป็นการชิงดำ ช่วงชิงความเป็นสาหร่ายเกาหลีตัวจริงมาไว้ในมือของตัวเองให้ได้ก่อนคู่แข่ง

จากการที่สันต์บอกว่า เขามองเถ้าแก่น้อยเป็นคู่แข่งเพียงรายเดียวในตลาดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีการเบียดแย่งซีนความเป็นเกาหลีกันอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม สิงห์รู้ดีว่ามาทีหลังเถ้าแก่น้อยร่วม 8 ปี จึงวาง Positioning ของมาชิตะเป็นสาหร่ายระดับพรีเมียม พร้อมเกทับเถ้าแก่น้อยว่าแม้จะเป็นสาหร่ายนำเข้าจากบริษัทเกาหลี เหมือนกัน แต่เกรดสาหร่ายของมาชิตะสูงกว่าแต่ก็ยังจำหน่ายในราคาเท่ากับเถ้าแก่น้อย

ด้านบรรจุภัณฑ์ออกแบบให้ทันสมัย เน้นสีโทนเข้มอย่างสีดำ สะท้อนถึงความเท่ ความเนี้ยบ แถมมีสัญลักษณ์ Product by SINGHA กำกับอยู่อีกต่างหาก

“ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์สิงห์ก็สร้างความมั่นใจได้อย่างน้อย 50%”

ขณะเดียวกันเขาเชื่อว่าการแจกสินค้าตัวอย่างกว่า 1 ล้านชิ้น เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้ทดลองและเกิดการเปรียบเทียบทั้งในแง่ของรสชาติและคุณภาพจะช่วยทำให้มาชิตะแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้น

มาชิตะมั่นใจไปได้ลึก ไปได้ไกล

ปัจจุบันสิงห์จ้างโรงงานอื่นผลิตมาชิตะเพื่อหยั่งกระแสตลาด หากยอดขายไปได้ดี ก็จะลงทุนไลน์ผลิตเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะเร็วกว่าที่คาดไว้เพราะวางจำหน่ายได้เพียงเดือนเศษสินค้าเริ่มขาดตลาดในบางช่องทางจำหน่ายแล้ว

“ถ้าเราทำโรงงานเองสนุกแน่ เพราะตอนนี้กำลังการผลิตไม่พอ คงได้เห็นเร็วๆ นี้ จะเป็นโรงงานขนาดกลาง-เล็ก”

ที่สำคัญยังอัดงบการตลาด 100 ล้านบาท มากกว่าคู่แข่งเบอร์ 1 อย่างเถ้าแก่น้อยกว่า 2 เท่า

ปัจจุบันมาชิตะมี 2 รสได้แก่ รสออริจินัล และรสสไปซี่ ใน 3 ขนาด คือ ขนาด 4 กรัมราคาซองละ5 บาท ขนาด 16 กรัม ราคาซองละ 20 บาท และขนาด 40 กรัมราคาซองละ 39 บาท เป็นขนาดและราคาจำหน่ายที่ใกล้เคียงกับเถ้าแก่น้อย แต่ยังมีวาไรตี้น้อยกว่า เพราะเถ้าแก่น้อยมีครบทุกเซ็กเมนต์ทั้งทอดกรอบ อบ ย่าง และเทมปุระ

แม้สิงห์จะเชี่ยวชาญในช่องทางจำหน่ายเทรดดิชั่นแนลเทรดมาก ส่วนเถ้าแก่น้อยยังครอบคลุมช่องทางนี้ เพียง30% จากโชห่วยราว 300,000ร้านทั่วประเทศ ขณะที่ดีทแฮล์มเป็นกำลังเสริมรับหน้าที่เจาะโมเดิร์นเทรดและคอนวีเนียนสโตร์ให้กับมาชิตะ แต่สิงห์ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาฝ่ายขายที่มีราว 300-400 คน โดยเฉพาะการมุ่งกระจายสินค้าในแผนกนอนแอลกอฮอล์ที่ไม่ง่ายเหมือนเบียร์

อย่างไรก็ตาม เขาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า มาชิตะจะไม่มีจำหน่ายในช่องทางเซเว่น อีเลฟเว่น ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งที่มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

สันต์จึงมั่นใจเป็นอย่างมากว่า Product, Price, Place และPromotion ที่จะตามมา จะเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้มาชิตะประสบความสำเร็จได้

แค่เริ่มต้นก็ทำเอาตลาดสะเทือน แต่เขาบอกว่างานนี้มาเต็ม และยังมีแรงกว่านี้อีกเยอะ!!!

เพราะสันต์ยืนยันว่า “บริษัทเราไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทุน เรื่องเงินทุนเรามีสูงมาก”

คนเดียวก็ฮอตได้ “คยูฮอน ซุปเปอร์จูเนียร์”

ชื่อชั้นของซุปเปอร์จูเนียร์ หรือ SJ ถือเป็นวงเกาหลีระดับแนวหน้าภายใต้สังกัดเอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนท์ มีสมาชิก 13 คน มีแฟนคลับหรือกลุ่ม E.L.F (เอลฟ์) อยู่เรือนหมื่นในไทย แถมยังดีกรีความดังพุ่งพรวดไม่มีหยุด แม้จะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2548

คนไทยจำนวนมากรู้จักซุปเปอร์จูเนียร์จากเพลง Sorry, Sorry ซึ่งเป็นซิงเกิลเมื่อปี 2552 และล่าสุดกำลังออกอัลบั้มชุดที่ 5

ผลงานเพลง Mr.Simple ของซุปเปอร์จูเนียร์ติดอันดับ 4 ของ Youtube Chart ในฐานะคลิปวิดีโอที่มีคนดูมากที่สุดในโลก ประจำเดือนสิงหาคมต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนกันยายน โดยหลังลง Youtube ได้เพียง 4 เดือน มียอดวิวกว่า 10 ล้านวิว

สำหรับ คยูฮยอน (Kyuhyun) เกิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2531 ปัจจุบันอายุ 23 ปี และเป็นสมาชิกรายล่าสุดของซุปเปอร์จูเนียร์เมื่อปี 2549

มาชิตะกู้หน้าเอนจอย

มาชิตะเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดขนมแบรนด์ที่ 2 ของสิงห์ หลังปลาแผ่นกรอบปรุงรส เอ็น-จอย ต้องยุติการจัดจำหน่ายไปหลังทดลองวางจำหน่ายที่เซเว่น อีเลฟเว่นได้ไม่นาน เนื่องจากความผิดพลาดในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่มีเชลฟ์ไลฟ์สั้น ทำให้มีปัญหาในเรื่องการสต๊อกสินค้า

เอ็น-จอย จากไปเป็นปี มาชิตะขอกู้หน้าความผิดพลาดในครั้งนั้นของสิงห์คืนมา ในตลาดร้อนอย่างสาหร่ายปรุงรส ที่ยักษ์ใหญ่อย่างสิงห์มองว่ามีโอกาสอีกมาก

มาชิตะ
Official Launch มิถุนายน 2554
Positioning สาหร่ายระดับพรีเมียม
Slogan อร่อยเนี้ยบ สาหร่ายเต็มๆ
Product Details
 
 
 
เริ่มแรกมีเฉพาะสาหร่ายทอดกรอบ 2 รสได้แก่ รสออริจินัล และรสสไปซี่ ใน 3 ขนาด คือ ขนาด 4 กรัม ราคาซองละ5 บาท ขนาด 16 กรัม ราคาซองละ 20 บาท และขนาด 40 กรัม ราคาซองละ 39 บาท
Channel คอนวีเนียนสโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาเก็ต และโชห่วยต่างๆ
Strategy
 
 
 
สื่อสารครบวงจรเพื่อฉายภาพความเป็นสาหร่ายต้นตำรับ 100% จากเกาหลี โดยชื่อแบรนด์ มาชิตะ แปลว่า อร่อย โดยใช้ภาพยนตร์ โฆษณา สื่อ ณ จุดขาย สื่อดิจิตอล และใช้พรีเซ็นเตอร์ คยูฮยอน จากซุปเปอร์จูเนียร์