มันนิกซ์ เผยแผนธุรกิจในปี 2023 ปั้นแอปฯ FINNIX สู่ผู้เล่น 1 ใน 3 ของตลาดนาโนไฟแนนซ์ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ รวมถึงแผนที่จะ IPO ภายในปี 2025 ด้วย
ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) ได้กล่าวถึงตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ยังถือว่าเติบโต โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 31,000 ล้านบาท และมีผู้เล่นในตลาด 52 ราย แต่ถิรนันท์ก็ได้ชี้ว่าแม้ว่าจะมีผู้เล่นมากขึ้น แต่ก็มีผู้เล่นรายเก่าที่ออกจากตลาดออกไปด้วย
สำหรับ MONIX ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน SCBX ถือหุ้น 60% และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีนถือหุ้น 40%
เธอได้กล่าวถึง ฟินนิกซ์ (FINNIX) แอปพลิเคชันให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของ MONIX นั้นปัจจุบันมีให้บริการผ่าน 3 แอปสโตร์แล้ว หลังจากเริ่มต้นธุรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 650,000 ราย เติบโตมากถึง 58% มีสินเชื่อรวมกว่า 15,000 ล้านบาทเติบโตมากถึง 117% จากปี 2021
บริการของ FINNIX นั้นได้แยกออกมาจากบริการสินเชื่อของ SCB โดยเธอได้กล่าวว่าแอปพลิเคชันให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
กลุ่มลูกค้าสำคัญของแพลตฟอร์มส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ หรือผู้ที่มีรายได้น้อย ฐานลูกค้าคือรายได้เฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 10,000 บาท จุดเด่นของ FINNIX คือลูกค้าสามารถเลือกจ่ายหนี้เท่าไหร่ก็ได้ตามใจ และเป็นการลดต้นลดดอก ซึ่งแตกต่างกับสินเชื่อนอกระบบ ขณะเดียวกันถ้าหากสถานการณ์ของลูกค้าเปลี่ยนไป เช่น ลูกค้าอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาก็สามารถปรับเปลี่ยนวงเงินหรือดอกเบี้ยได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ FINNIX ยังมีการนำระบบ AI มาใช้ในการอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลของลูกค้าที่ขอสินเชื่อ เช่น การดู SMS หรือสมุดโทรศัพท์ของลูกค้า โดยลูกค้าเป็นคนให้สิทธิ์มอบข้อมูลให้กับแอปพลิเคชัน ขณะเดียวกันทาง MONIX เองก็พยายามที่จะลดต้นทุนผ่านการใช้ระบบไอทีให้มากที่สุดรวมถึง
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ MONIX ยังกล่าวว่ามีกำไรตั้งแต่กลางปี 2021 และ NPL ยังถือว่าอยู่ในเป้าหมายของบริษัท
สำหรับเป้าหมายของ MONIX ในปี 2023 ที่ตั้งเป้าไว้ เช่น
- ยอดดาวน์โหลดแอป FINNIX 12 ล้านครั้ง
- จำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ซึ่งมองลูกค้าในต่างจังหวัดไว้มากยิ่งขึ้น
- มีบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยหรือวงเงินที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงของลูกค้า
- มีระบบการให้รางวัลกับลูกค้าถ้าหากเล่นเกมภายในแอปฯ หรือส่วนลดในการซื้อสินค้า
- มีการขยายพันธมิตรใหม่ๆ หรือการเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้า เช่น การหางานใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เป็นต้น
- การให้ความรู้ทางด้านการเงิน
เธอยังชี้ว่าตลาดนาโนไฟแนนซ์ของไทยนั้นมีโอกาสเติบโตแน่นอน อย่างไรก็ดีเธอชี้ว่าผู้ประกอบการกลับต้องระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า และมองว่าถ้าหากปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปก็อาจทำให้มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อได้
ถิรนันท์ ยังได้กล่าวว่าเป้าหมายของบริษัทหลังจากนี้คือเป็นผู้เล่น 1 ใน 3 ของตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่ลูกค้าคิดถึง นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่ามีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ไม่เพียงเท่านี้บริษัทยังต้องการที่จะ IPO ภายในปี 2025 อีกด้วย