ตลาดรถนั่งขนาดเล็ก เครื่องยนต์ 1500 ซีซี หรือรถประเภท B-Car เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีการเติบโต และแข่งขันกันสูงรองลงมาจากตลาดรถกระบะ เนื่องจากตลาดรถขนาดนี้เป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีกำลังซื้อจำกัด และต้องการใช้รถขนาดเล็กเพื่อความประหยัดทั้งด้านการซื้อ และค่าใช้จ่ายเรื่องเชื้อเพลิง
รถ B-Car เริงร่า และเก็บลูกค้าไปมากมายและต่อเนื่อง แม้จะมีผู้ผลิตรถหลายรายเข้ามาร่วม แต่ตลาดก็ยังเติบโต และน่าพึงพอใจสำหรับผู้ผลิตทุกราย
ตลาดรถ B-Car ขณะนี้มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 65% ในตลาดรวมรถเก๋ง สะท้อนให้เห็นทิศทางตลาดและความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และคาดว่าปีนี้ยอดขานรถ B-Car จะอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.6 แสนคัน ส่วนปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.2 แสนคัน
Eco Car – คืน 1 แสนบาท ทุบ B-Car
จนเมื่อการมาถึงรถอีโค่คาร์ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับโครงสร้างตลาดรถทันที เพราะรถอีโค่คาร์ไล่กินส่วนแบ่งตลาดรถกระบะ รถ B-Car อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากความได้เปรียบเรื่องราคา และการประหยัดน้ำมัน ทำให้รถอีโค่คาร์ที่หลายค่ายประเมินว่าเกิดยาก และไม่น่าจะรอด
ทุกวันนี้ อีโค่คาร์อย่างนิสสัน มาร์ช ก็ต่ออายุและช่วยชีวิตนิสสันไว้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ พร้อมๆ กับการเข้ามาของฮอนด้า บรีโอ้ ก็เขย่าตลาดมากพอสมควร และปลายปีนี้ มิตซูบิชิ รายที่ 3 ของอีโค่คาร์ก็จะตามมา
รถ B-Car กำลังถูกแย่งชิงตลาด และถูกท้าทายอย่างหนัก ถ้าบอกว่าผู้เล่นในตลาดนี้ไม่หวั่นรถอีโค่คาร์ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตลาดของรถ 2 กลุ่มนี้ทับซ้อนกันอยู่ ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา
พร้อมกับแรงบวกของนโยบายคืนเงิน 1 แสนบาทสำหรับรถคันแรกของรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้ตลาดรถโดยรวมปั่นป่วนเพิ่มขึ้น เพราะความจูงใจในเรื่องของราคารถที่ถูกลงมาถึง 1 แสนบาทค่ายรถยนต์ทุกรายต่างก็หวังว่านโยบายนี้จะทำให้ยอดขายรถพุ่งถึงขีดสุดอีกครั้ง
แต่เมื่อมาตรการของรัฐบาลให้สิทธิ์นี้กับรถกระบะและรถอีโคค่าร์ ทำให้ตลาดรถ B-Car ที่กำลังมีทีท่าว่าจะได้รับผลดีจากมาตรการนี้ก็กลายเป็นฝันค้าง และส่วนแบ่งในตลาดก็กำลังจะถูกแย่งด้วยรถกระบะและรถอีโค่คาร์แบบไม่ทันตั้งตัว
Mazda 2 เปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดรับมือ
ต้องบอกว่า มาสด้า 2 มองตลาดรถ B–Sagment อย่างจริงจัง และเกาะติดไม่ยอดให้หลุดกระแสไปแม้วินาทีเดียว ตั้งแต่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2552 พร้อมกับได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในระดับที่มาสด้าคาดไม่ถึงเช่นกัน
มาสด้า 2 เมื่อเทียบชั้น ชื่อเสียงกับคู่แข่งในตลาดระดับเดียวกันแล้ว ต้องยอมรับว่าไล่ตามแชมป์อย่างโตโยต้า วีออส ฮอนด้า ซิตี้ อย่างเหน็ดเหนื่อยทีเดียว แต่สิ่งที่มาสด้า 2 ทำ ไม่ใช่การวิ่งเข้าไปหาเบอร์หนึ่ง แต่วิ่งห่างออกมา พร้อมกับดึงผู้บริโภคส่วนหนึ่งออกมา และวิ่งในถนนที่มาสด้าสร้างขึ้นมาเอง
มาสด้า 2 สร้างลูกค้าของตัวสินค้าขึ้นมาเองอย่างชัดเจน สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ยิ่งขายมานาน ความชัดเจนของแบรนด์มาสด้า 2 กับผู้บริโภคชัดเจนขึ้น ไม่คลุมเครือเหมือนช่วงเปิดตัว ขณะนี้รู้แล้วว่าสินค้าอยู่ตรงไหน ผู้บริโภคคือใคร
สุรีทิพย์ใช้วิธีการเปลี่ยนระบุชื่อรุ่น เพื่อทำการตลาดใหม่อีกครั้งหลังจากทำตลาดมาได้เกือบ 2 ปี เธอบอกว่า “มาสด้า 2 รุ่น 5 ประตู ใช้ชื่อ New Mazda 2 Sports และรุ่น 4 ประตู ใช้ชื่อ News Mazda 2 Elegance เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์และความใหม่ของรถยนต์แต่ละรุ่นผ่านการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร”
การปรับเปลี่ยนให้มีชื่อรุ่นที่ชัดเจน แตกต่างจากการทำการตลาดแบบเดิม เป็นไปตามแนวคิดของมาสด้า ที่เริ่มมาจากการใช้พรีเซ็นเตอร์มาเป็นตัวแทนของผู้ใช้รถ ไม่ใช่เป็นตัวแทนของรถ
เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ ถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนของผู้ใช้ที่ต้องการความโฉบเฉี่ยว ทันสมัยในมาสด้า 2 รุ่น 5 ประตู ส่วน ณเดชน์ คูกิมิยะ ถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนของคนทำงาน ต้องการความมั่นคงทั้งการทำงาน และการใช้ชีวิต ในมาสด้า 2 รุ่น 4 ประตู
ทั้ง 2 คนถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ที่ยังไม่มีการระบุชื่อรุ่น จนมาถึงขณะนี้ทั้ง 2 คนเป็นตัวแทนของรถที่มีชื่อรุ่นเรียกหาอย่างชัดเจน ไม่ใช่มาสด้า 2 รุ่น 4 ประตู หรือ 5 ประตู
การทำเช่นนี้หมายความว่าทั้งตัวสินค้าและตัวพรีเซ็นเตอร์ ต้องได้รับการยอมรับจากลูกค้า และตลาดมากทีเดียว ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะยอดขายของมาสด้า 2 ยังคงเป็นสินค้าหลักของมาสด้าในประเทศไทยอยู่เช่นเดิม
แต่ถึงจะมีชื่อรุ่นเรียกหาชัดเจน แต่เชื่อเถอะว่าผู้ซื้อรถก็ยังคงเรียกมาสด้า 2 ว่าเป็นรุ่น เป้ หรือ ณเดชน์ อยู่ต่อไป จนกว่าจะเปลี่ยนพรีเซ็นเตอร์นั่นแหละ
สิ่งที่มาสด้าปรับตัวอย่างชัดเจนในการแข่งขันตลาดรถ B–Car ก็คือ การปรับตัวสินค้า จากเดิมที่การขายรถเก๋งจะเริ่มต้นจากรุ่นล่าง รุ่นกลาง และรุ่นสูงสุด เป็นแนวทางนี้มานาน
รถรุ่นล่างจะไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นรถแบบพึ่งพาตัวเองมากที่สุด แต่มีราคาถูกที่สุด มาสด้า 2 ช่วงแรกก็ทำการตลาดแบบนี้ แต่ครั้งนี้มาสด้า 2 ตัดรุ่นล่างสุดทิ้งไป เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ล้อแม็ก ถุงลมนิรภัย เบรก ABS เข้าไปในรถทุกรุ่น พร้อมกับปรับราคาขึ้น 10,000 – 20,000 บาท
“การใส่อุปกรณ์มาตรฐานสูงขึ้นในรถทุกรุ่น มีมูลค่ามากกว่าราคาขายที่ปรับขึ้น” สุรีทิพย์ให้รายละเอียด
การปรับวิธีการขายแบบนี้ทางมาสด้าบอกว่ามาจากการสอบถามผู้ซื้อ ที่ส่วนใหญ่ตั้งใจมาดูรถรุ่นล่าง แต่สุดท้ายตัดสินใจซื้อรุ่นที่มีอุปกรณ์มาตรฐานครบถ้วนกว่า
วิธีการนี้ทำให้มาสด้ากำหนดกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน และกำหนดเป้าหมายในการแข่งขันกับคู่แข่งให้แคบลง มาสด้าไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าเป็นรถที่มีราคาต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ขายความครบถ้วนของตัวรถ เช่น สมรรถนะ อุปกรณ์มาตรฐาน
มาสด้าสร้างตลาดของตัวเองขึ้นมา หากคู่แข่งจะเข้ามาก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่มาสด้าเขียนไว้ พร้อมๆ กับให้รถสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างน้อยมาตรการคืนเงิน 100,000 บาทสำหรับรถยนต์คันแรก ก็ทำให้มาสด้า 2 ลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายประการ เพื่อชิงลูกค้าให้ได้มากที่สุด
TOYOTA Vios สินค้าเก่า โปรโมชั่นใหม่
ถ้าตลาดรถ B-Car แล้ว ก็ต้องให้โตโยต้า วีออส เป็นตัวละครหลัก เพราะตลาดนี้โตโยต้าขายเป็นหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง
วิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า Vios เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 จนถึงขณะนี้เป็นรุ่นที่ 3 มียอดจำหน่ายรวมกว่า 500,000 คัน
โตโยต้ามีความภูมิใจในรถรุ่นนี้ไม่น้อยทีเดียว แม้ว่าจะมีเสียงบ่นจากผู้บริโภคมาตลอดว่าใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย และออกแบบไม่สวยก็ตาม การทำตลาดของโตโยต้าก็ยังคงเป็นแนวทางเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ในขณะที่คู่แข่งทั้งอีโค่คาร์และ B-Car ต่างปรับตัวสินค้ากันอย่างมากมาย เพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อดึงลูกค้าให้มากที่สุด
แต่ โตโยต้า วีออส เลือกการเปลี่ยนโปรโมชั่นและพรีเซ็นเตอร์ ด้วยกิจกรรมการตลาด “VIOS We Love” ให้ช้อปปิ้งฟรีที่ห้างบิ๊กซี สำหรับลูกค้าซื้อรถวีออส เสริมด้วยกิจกรรม VIOS We Love photo contest ประกวดภาพถ่ายคู่กับรถวีออสคู่ใจ และส่งท้ายปีกับคอนเสิร์ต
พร้อมกับเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ ซึ่งเข้ามาเสริมภาพลักษณ์ร่วมกับ โจ-ภานุพล เอกเพชร และ ว่าน-ธนกฤต พานิชวิทย์
โตโยต้าเลือกใช้แคมเปญทางการเงินมาเป็นตัวดึงลูกค้า ด้วยการใช้ดอกเบี้ย 1.49% และแคมเปญ Triple Zero คือ ดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน ผ่อน 0 บาท ในเดือนแรก และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
ความเคลื่อนไหวของโตโยต้าในการปรับเปลี่ยนรูปโฉมของวีออส ยังจะไม่เกิดขึ้นจนถึงกลางปีหน้า เพราะยอดขายของรถรุ่นนี้ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อีกทั้งคู่แข่งที่ไล่ตามหลังอย่างฮอนด้าก็ไม่ได้แรงหรือมีความฮือฮามากเท่าใดนัก
โตโยต้าเลือกวิ่งอยู่ข้างหน้า แบบประคับประคองตำแหน่ง ไม่ให้ยอดขายตกลงมามากนัก พร้อมกับจับตาดูคู่แข่งอยู่ห่างๆ แต่ไม่แน่ว่าหากนโยบายรถคันแรกลด 100,000 บาท ออกมาอย่างจริงจัง โตโยต้าอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดบ้าง
แต่เมื่อย้อนกลับไปดูการเลือกใช้แคมเปญทางการเงินของโตโยต้าสำหรับรถวีออสแล้ว คือการอิงกับนโยบายรถคันแรกเช่นกัน
เมื่อลูกค้าซื้อรถคันแลรกแล้วได้ลดราคา 100,000 บาท เมื่อผนึกรวมกับดอกเบี้ย 0% ราคาของรถรุ่นนี้ก็ถือว่าถูกลงมาก และผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น
Brand ที่แข็งแกร่ง ราคาถูกลง ดอกเบี้ยต่ำ วีออสก็คงเป็นทางเลือกแรกๆ ของคนซื้อรถ B-Car อยู่ต่อไป
HONDA City ปรับโฉมแต่งหน้า แต่งตาใหม่
ผู้เล่นหลักอีก Brand หนึ่งในตลาดรถ B-Car ก็คือ ฮอนด้า ที่ไล่ตามหลังโยโยต้ามาตลอด ฮอนด้า ซิตี้ คือรุ่นที่ออกมาประกบกับวีออสตั้งแต่ต้น ซิตี้รุ่นปัจจุบันมีอายุกว่า 3 ปีแล้ว ก็ถึงเวลาปรับแต่งหน้าตากันบ้าง
อาซึชิ ฟูจิโมโตะ ประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ความต้องการรถยนต์นั่งทั้งในประเภทซับคอมแพค และคอมแพคทำให้มียอดขายรถยนต์คิดเป็น 79% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมดในปี 2553 และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันในปี 2554 และ 2555 รถขนาดซับคอมแพคจะมีส่วนแบ่งประมาณ 50% ของยอดขายรถยนต์นั่งในประเทศไทย
รถซับคอมแพคที่ประธานออนด้ากล่าวถึงก็คือ รถกลุ่ม B-Car นั่นเอง และในรถกลุ่มนี้ฮอนด้า ซิตี้มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งของค่ายฮอนด้า ในขณะที่ฮอนด้า แจ๊ซอยู่ในอันดับที่สาม
ในเดือนกันยายนนี้ ฮอนด้า ซิตี้ รุ่นปรับโฉมจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ความใหม่ของรถรุ่นนี้คือการเปลี่ยนกระจังหน้า และกันชนท้าย เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามแบบรถรุ่นใหม่ อุปกรณ์มาตรฐานยังเหมือนเดิม ในส่วนของราคาคงเป็นไปตามธรรมเนียมของฮอนด้าที่อาจจะเพิ่มขึ้น 20,000 บาท
การปรับโฉมย่อยของฮอนด้าครั้งนี้ เป็นแนวทางที่คล้ายกับมาสด้า 2 โดยมุ่งไปที่ตัวสินค้า ปรับอุปกรณ์มาตรฐานติดรถให้สูงขึ้น ใช้ความหรูหราเข้ามาเป็นจุดขายมากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อเปิดทางให้กับฮอนด้า บริโอ้ ให้มีโอกาสในการขยายตลาดได้มากขึ้น ไม่ต้องมาแย่งตลาดกันเอง จึงต้องมีการวางตำแหน่งสินค้า และราคาที่ชัดเจนขึ้น
ฮอนด้า ซิตี้ ก็คงไม่ปล่อยให้วีออสสิ่งหนีไปไกลเท่าไหร่นัก ต้องวิ่งตามอย่างกระชั้นชิดเช่นเดิม
ค่ายอื่นก็ขาย B-Car
ไม่ใช่แค่จะมีเพียงสาม Brand นี้ที่ทำตลาดรถ B-Car ค่ายอื่นก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ค่ายรถต่างทั้งญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกัน ก็จะมีรถกลุ่ม B-Car ออกมาเป็นระยะ
หลายค่ายที่เคยขายรถเก๋งขนาดเล็กแล้วล้มเลิกไป ก็จะกลับคืนตลาดอีกครั้งเช่นฮุนไดและเกียจากเกาหลี ส่วนค่ายอเมริกัน ฟอร์ด เฟียสต้า ก็ยังคงแทรกตลาดอยู่เป็นระยะ เช่นเดียวกับเชฟโรเลต อาวีโอ ที่ใช้พลังงานทางเลือก NGV มาเป็นจุดขาย ซีกรถอีโค่คาร์ จะได้เห็นมิตซูบิชิ โกลบอล สมอล และนิสสัน มาร์ช 4 ประตู
ทั้งหมดนี้คือเกมขายรถที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
ประมาณการยอดขายรถยนต์ปี 2554 | ||
---|---|---|
ปริมาณการขายรวม | 900,000 คัน | เพิ่มขึ้น 12.4% |
รถยนต์นั่ง | 410,000 คัน | เพิ่มขึ้น 18.3% |
ยอดขายรถยนต์ ม.ค. – มิ.ย. ปี 2554 | ||
---|---|---|
ปริมาณการขายรวม | 432,012 คัน | เพิ่มขึ้น 21.1% |
รถยนต์นั่ง | 193,510 คัน | เพิ่มขึ้น 26.3% |
เปรียบเทียบยอดขายรถยนต์นั่ง | ||||
---|---|---|---|---|
อันดับ | มิ.ย. 54 | มิ.ย. 53 | ม.ค. – มิ.ย. 54 | ม.ค. – มิ.ย. 53 |
1.โตโยต้า | 14,013 | 12,018 | 76,747 | 62,532 |
2.ฮอนด้า | 4,776 | 11,175 | 42,979 | 47,462 |
3.นิสสัน | 4,324 | 3,576 | 23,851 | 11,339 |
4.มาสด้า | 3,162 | 2,886 | 15,400 | 14,457 |
5.มิตซูบิชิ | 862 | 709 | 4,218 | 3,781 |
รวมทั้งหมด | 27,137 | 30,364 | 193,491 | 153,274 |
หน่วย : คัน |
ยอดขายรถ Eco Car และรถขนาดเล็ก | ||
---|---|---|
อันดับ | มิ.ย. 54 | ม.ค. – มิ.ย. 54 |
1.นิสสัน มาร์ช | 3,329 | 18,426 |
2.ฮอนด้า บริโอ้ | 794 | 972 |
3.โปรตอน เซฟวี | 121 | 387 |
4.เฌอรี่ คิวคิว | 16 | 477 |
5.เฌอรี่ เอ1 | 6 | 329 |
รวมทั้งหมด | 4,319 | 21,449 |
หน่วย : คัน |
ยอดขายรถนั่ง B-Car | ||
---|---|---|
อันดับ | มิ.ย. 54 | ม.ค. – มิ.ย. 54 |
1.โตโยต้า วีออส | 6,336 | 32,807 |
2.ฮอนด้า ซิตี้ | 1,663 | 17,008 |
3.มาสด้า 2 | 1,186 | 6,646 |
4.ฮอนด้า แจ๊ซ | 1,140 | 9,837 |
5.โตโยต้า ยาริส | 588 | 5,134 |
รวมทั้งหมด | 15,246 | 92,734 |
หน่วย : คัน |
ความเคลื่อนไหวของค่ายรถยนต์กลุ่ม B-Car | |||
---|---|---|---|
รถ | กลยุทธ์ | รูปแบบ | ความเปลี่ยนแปลง |
โตโยต้า วีออส | ออกโปรโมชั่นใหม่, เพิ่มพรีเซ็นเตอร์, กิจกรรมดนตรี | ดอกเบี้ยต่ำ, ดอกเบี้ย 0% | รถรุ่นเดิมไม่มีการปรับเปลี่ยน |
มาสด้า 2 | ปรับโฉมย่อย, ตั้งชื่อรุ่น Sports และ Elegance | เพิ่มอุปกรณ์มาตรฐาน, ไม่มีรุ่นล่าง | ราคาเพิ่ม 10,000- 25,000 บาท มี 6 รุ่นย่อย |
ฮอนด้า ซิตี้ | ปรับโฉมย่อยเปลี่ยนกระจังหน้า, กันชนท้าย | เพิ่มอุปกรณ์มาตรฐาน, ใช้พลังงาน NGV | เปิดตัวกันยายน, ปรับราคาเพิ่ม |
ฮุนได | นำเข้าฮุนได แอคเซนต์ | รถเก๋งขนาดเล็ก | เปิดตัวมอเตอร์โชว์ปลายปี |
เกีย | นำเข้า เกีย ริโอ | รถเก๋งขนาดเล็ก | เปิดตัวมอเตอร์โชว์ปลายปี |