ข่าวดีรับสิ้นปีสำหรับผู้ประกอบการ “ฮาคูโฮโด” วิจัยพบคนไทยมูฟออนจากความกังวลเรื่องโควิด-19 ได้แล้ว บรรยากาศสิ้นปีส่งเสริมให้เกิดการเฉลิมฉลอง ความต้องการจับจ่ายซื้อสินค้าพุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี ‘Gen X’ นำโด่งซื้อของมากที่สุด
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทำการสำรวจรอบเดือนธันวาคม 2565 พบว่า ความรู้สึกของคนไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และความต้องการซื้ออยู่ในจุดที่ดีที่สุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีซึ่งทำให้คนไทยต้องการเฉลิมฉลอง จับจ่ายซื้อของเพื่อตัวเองหรือครอบครัว จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือเตรียมเดินทางไปท่องเที่ยว/กลับภูมิลำเนา
ในภาพรวมความสนใจข่าวสารของคนไทยจะสะท้อนได้ว่า คนไทยกำลังรู้สึกอย่างไรและสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ ซึ่งในช่วงปลายปีนี้ Top 10 ข่าวสารที่คนไทยสนใจ ‘ไม่มีเรื่องโควิด-19’ ส่วนกลุ่มเรื่องที่คนไทยสนใจช่วงนี้ เช่น น้ำท่วม พายุ เศรษฐกิจ ข่าวอาชญากรรม และเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมือง เห็นได้ว่าจะแตกต่างจากการสำรวจเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งข่าวไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้รับความสนใจอันดับ 1
มู้ดจับจ่ายพุ่ง เสื้อผ้าขายดี คนอยากทานอาหารนอกบ้าน
ด้านอินไซต์ความต้องการซื้อสินค้าของคนไทย พบว่า แนวโน้มความต้องการซื้อ “สูงที่สุดในรอบ 2 ปี” โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 69 คะแนน จาก 100 คะแนน (เทียบกับเมื่อเดือนเมษายนเฉลี่ยอยู่ที่ 63 คะแนน) และถ้าแยกเป็นกลุ่มเพศ “ผู้หญิง” จะมีคะแนนความต้องการจับจ่ายมากกว่าค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 70 คะแนน ซึ่งคาดว่าเกิดจากผู้หญิงมักจะนิยมซื้อของขวัญให้คนรอบข้างในช่วงสิ้นปี รวมถึงมี ‘emotional drive’ ซื้อด้วยอารมณ์อยากซื้อมากกว่า
ฮาคูโฮโดประเมินว่า ภาพรวมความต้องการซื้อที่มากขึ้นสัมพันธ์กับช่วงเทศกาลปลายปีซึ่งแบรนด์ต่างๆ จะจัดโปรโมชันสูง และบรรยากาศที่ทำให้คนไทยต้องการปลดล็อกออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า ไม่ว่าจะให้กับตัวเองหรือเป็นของขวัญ
ในแง่สินค้าที่ผู้บริโภคต้องการจะซื้อสูงสุดในช่วงสิ้นปี 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร, โทรศัพท์มือถือ, ของใช้ในชีวิตประจำวัน, เสื้อผ้า และการท่องเที่ยว
แต่ถ้ามองในกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อ “เติบโตสูงสุด” ในช่วงสิ้นปี ได้แก่ เสื้อผ้า, โทรศัพท์มือถือ, การท่องเที่ยว, การทานอาหารนอกบ้าน และรถจักรยานยนต์
กลุ่มที่น่าสนใจคือการซื้อ ‘เสื้อผ้า’ ที่กลับมาเติบโตเพราะการออกนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงการทานอาหารนอกบ้านก็กลับมาคึกคัก ทั้งหมดเพราะคนไทยไม่กังวลกับโควิด-19 แล้ว
Gen X ใช้จ่ายสูง ซื้อของขวัญให้คนรอบตัว
หากแยกความต้องการซื้อเป็นแต่ละช่วงวัย ผลปรากฏว่า คน Gen X คือวัยที่สนใจซื้อสินค้าเพิ่มมากที่สุดในช่วงปลายปี โดยคนวัย 40-49 ปี มีความต้องการซื้อ 72 คะแนน และวัย 50-59 ปี มีความต้องการซื้อ 74 คะแนน เห็นได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก
ฮาคูโฮโดพบจากการวิจัยว่า คนในวัยนี้ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีเพราะต้องการซื้อ “ของขวัญ” ให้คนรอบตัว สำหรับสานสัมพันธ์กับญาติสนิทมิตรสหายหรือให้ลูกหลาน รวมถึงเป็นกลุ่มที่นิยมหาโปรโมชันดีๆ เพื่อกักตุนสินค้าจำเป็น
อินไซต์นี้จะต่างจากคนวัย 20-29 ปี และวัย 30-39 ปี หรือกลุ่ม Gen Y จนถึง Gen Z ซึ่งจะใช้จ่ายไปกับการซื้อสินค้าเพื่อสร้าง ‘self-branding’ เช่น เสื้อผ้า ทานอาหารนอกบ้าน ไปร่วมงานอีเวนต์ เป็นสินค้าหรือกิจกรรมที่สามารถถ่ายรูปทำคอนเทนต์ลงโซเชียลได้
- EIC มองเศรษฐกิจไทยปี 66 ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว บาทแข็งค่าขึ้น เงินเฟ้อลดลง
- มองทิศทาง ‘เศรษฐกิจดิจิทัลไทย’ จะไปได้ไกลแค่ไหนหากไม่มีโควิดเป็นตัวกระตุ้น
การตลาดควรเจาะมู้ด ‘เปิด’ รับสิ่งดีๆ สู่ปีใหม่ และการ ‘ให้’ ผู้อื่น
จากข้อมูลอินไซต์ข้างต้น “ธีรเมศร์ นิติจรรยาวงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (จำกัด) ให้แนวทางการตลาดที่ควรมีในช่วงปลายปีดังนี้
- คำว่า ‘เปิด’ เป็นกิมมิคที่ใช้ช่วงนี้แล้วปัง!
การจับจ่ายในช่วงท้ายปี คนไทยกำลังอินกับการเปิดรับสิ่งใหม่ ไม่ใช่แค่ให้รางวัลกับตัวเองแต่ซื้อเพื่อเติมเต็มความรู้สึกของผู้อื่นด้วย เช่น การแสดงความขอบคุณ ความรัก หรือ reconnect กับครอบครัว เพื่อก้าวสู่ปีใหม่ที่ดีกว่าเดิม ดังนั้น แบรนด์ควรกระตุ้นให้คนออกมาเปิดหูเปิดตา ด้วยกิจกรรมใหม่ๆ โดยใช้ keyword ‘การเปิด’ เพื่อสร้างอารมณ์การมีส่วนร่วมกับแบรนด์ทั้งในด้านการสื่อสาร (communication) และการสร้างประสบการณ์ร่วม (engagement) เช่น เปิดตู้เสื้อผ้าอัพลุคใหม่ เปิดประตูออกเดินทางไปเที่ยว
- ‘ผสมผสาน’ คือกลยุทธ์การตลาดที่ต้องทำ
โควิด-19 ทำให้วิถีชิวิตคนไทยเปลี่ยนอย่างถาวร ช่องทางจับจ่ายเปลี่ยนไป แบรนด์จึงต้องประเมินช่องทางสร้างประสบการณ์กับลูกค้า (touchpoint) ทุกมิติทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางจำหน่าย การสื่อสาร หรือการจัดกิจกรรมกับลูกค้า จะต้องมีการผสมผสานกันไป เพราะลูกค้าจะเริ่มกลับมาหน้าร้านทางกายภาพ (physical) มากขึ้นในช่วงปลายปี ทำให้แบรนด์ที่เน้นออนไลน์มาก อาจจะต้องกลับมาพิจารณาออฟไลน์ด้วยเช่นกัน
ให้ข้อมูลโดย