ยักษ์ใหญ่มาแล้ว! Tata ลุยอุตสาหกรรม “ชิป” ในอินเดีย หวังเป็นซัพพลายเชนสำคัญของโลก

Tata ชิป
(Photo: Shutterstock)
Tata Group จะเริ่มผลิต “ชิป” ในอินเดียภายใน 2-3 ปีจากนี้ โดยหวังว่าจะผลักดันให้อินเดียเป็นแหล่งซัพพลายเชนการผลิตชิประดับโลก ขี่กระแสการกระจายแหล่งผลิตชิปเข้ามาในเอเชียตะวันออก

Nikkei Asia สัมภาษณ์ Natarajan Chandrasekaran ประธานกรรมการ Tata Sons เปิดเผยว่า องค์กรมีแผนจะเปิดธุรกิจใหม่ที่กำลังมาแรงอย่างการผลิต “ชิป”

“เราได้เริ่มก่อตั้งบริษัทย่อย Tata Electronics ตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งเราจะใช้บริษัทนี้ในการก่อตั้งธุรกิจประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์” Chandrasekaran กล่าว

“เราจะพูดคุยกับผู้เล่นหลายๆ รายในตลาด” ประธานกรรมการกล่าวเสริม โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตชิปที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว เนื่องจากการทำธุรกิจนี้เองโดยไม่มีประสบการณ์จะเป็นความท้าทายมากเกินไป

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ต่างเป็นพันธมิตรที่มีโอกาสจะมาร่วมงานกับ Tata ส่วนการออกแบบและพัฒนาชิปนั้น บริษัทได้ประกาศความร่วมมือกับ Renesas Electronics ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

Chandrasekaran กล่าวด้วยว่า Tata จะเริ่มมองความเป็นไปได้ที่จะผลิตชิปในขั้นตอนต้นน้ำ (upstream) ด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ท้าทายมากกว่าทั้งในแง่เทคโนโลยีและการลงทุนทางการเงิน เมื่อเทียบกับการผลิตในขั้นตอนปลายน้ำ (downstream) คือการประกอบและทดสอบที่บริษัทกำลังจะเริ่มผลิตนี้

ภาพจาก Shutterstock

การเข้าสู่ธุรกิจผลิตชิปของ Tata จะเป็นการเริ่มต้นอุตสาหกรรมใหม่แห่งอินเดีย และน่าจะทำรายได้ถึง 64,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2026 ตามข้อมูลการประเมินจาก สมาคมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งอินเดีย ปัจจุบันประเทศนี้ยังไม่มีอุตสาหกรรมชิปมาก่อน ยกเว้นการออกแบบซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง แต่อินเดียเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่ใช้ชิปมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือรถยนต์ไฟฟ้า

โมเมนตัมในการเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดชิปของอินเดียยังอยู่ในจุดที่ดีมากด้วย เพราะการขาดแคลนชิปในโลกผนวกกับการต่อสู้กันของจีนกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดแนวนโยบาย ‘decoupling’ ลดการพึ่งพิงซัพพลายเชนชิปในประเทศใดประเทศหนึ่ง และหันมากระจายความเสี่ยงหาซัพพลายเชนในหลายทำเลมากขึ้น ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้โอกาส และรัฐบาลอินเดียกับ Tata ก็จะขี่กระแสความเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อทำให้ประเทศเป็นฮับใหม่แห่งเซมิคอนดักเตอร์

Chandrasekaran ยังกล่าวถึงวิสัยทัศน์ในภาพรวมของกลุ่มด้วยว่า จะแบ่งการเติบโตออกเป็น 3 ส่วน คือ หนึ่ง การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของบริษัท สอง การถ่ายโอนความสำคัญของธุรกิจปัจจุบันไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคต และสาม การลงทุนธุรกิจแห่งอนาคต

การจะถ่ายโอนไปสู่ธุรกิจอนาคต Tata จะมีการเข้าสู่โลกแห่งดิจิทัล พลังงานอนาคต ความยั่งยืน และจะต้องมีความยืดหยุ่นในแง่ซัพพลายเชน

ทั้งหมดนี้ ทั้งกลุ่มมีแผนการลงทุนรวม 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ไม่เฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ แต่กลุ่มยังมองธุรกิจใหม่ๆ อีกหลายอย่าง เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผลิตแบตเตอรีรถอีวี พลังงานหมุนเวียน การพัฒนา ‘ซูเปอร์แอป’ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อสินค้าและบริการตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ในแอปฯ เดียว

การปักหมุดผลิตชิปในครั้งนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับธุรกิจหลักของ Tata ด้วย เพราะเดิมที Tata มีรายได้หลักจากการผลิตรถยนต์และสินค้าไอที ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศ และเมื่อซัพพลายชิปขาดแคลนจึงส่งผลต่อการผลิตของ Tata ด้วย

การขาดแคลนชิปจะยิ่งเป็นปัญหาเพราะ Tata เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว และรถอีวีจะยิ่งต้องการชิปมากกว่ารถยนต์สันดาป ซึ่งทางบริษัทคาดการณ์ไว้ว่ายอดขายรถอีวีจะแซงหน้ายอดขายรถยนต์สันดาปภายในปี 2027

Source