เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ “สมประสงค์ บุญยะชัย” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมหาซีอีโอใหม่ให้กับบริษัทในเครืออย่าง ไทยคม จำกัด (มหาชน) แทนผู้บริหารเดิมที่เกษียณอายุการทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ก็ได้ซีอีโอใหม่คือ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” อดีตผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ “ไอบีเอ็ม” ถือว่าเป็นธรรมนียมที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักของกลุ่มชินฯ ที่มีซีอีโอเป็นคนนอก
ปรากฏการณ์ ”ศุภจี” ในบริษัทเครือชินฯ สะท้อนให้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ 2 มุมคือ 1.กลุ่มชินฯ กำลังขาด “ผู้สืบทอดตำแหน่ง” ที่เติบโตมาจากในองค์กร ขณะที่ไทยคมกำลังต้องฟื้นตัวและรุกธุรกิจ และ 2.กลุ่มชินฯ กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้ภาพของความเป็นบริษัทการเมืองนั้นเลือนรางลงให้มากที่สุด โดยเริ่มจาก “ไทยคม” หลังจากเปลี่ยนชื่อมาจากชินแซทเทลไลท์ และต้นปีกลุ่มชินฯ เปลี่ยนชื่อเครื่องหมายการค้าและโลโก้จาก Shin เป็น Intouch
“ศุภจี” กับความเปลี่ยนแปลงที่ไทยคมจึงมีความหมายอย่างยิ่ง
“สมประสงค์” บอกว่าไม่เพียงแต่ในไทยคมเท่านั้น แต่บริษัทในเครืออย่างเอไอเอส โดยหลักการก็สามารถมีซีอีโอเป็นคนนอกได้ บนเงื่อนไขที่ว่าบริษัทกำลังไปในทิศทางที่ลูกหม้อไม่ใช่คำตอบที่ใช่
เหมือนอย่างกรณีเกิดขึ้นกับธนาคารไทยพาณิชย์ที่ต้องปรับไปสู่รีเทลแบงกิ้งมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการต้องเข้าถึงลูกค้าทั่วไป ต่างจากอดีตที่เน้นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” จึงเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ไม่ใช่ลูกหม้อ แถมยังข้ามสายอาชีพจากนักการตลาดที่ยูนิลีเวอร์มาสู่นายแบงก์
สำหรับการเตรียมพร้อมผู้บริหารในกลุ่มชินฯ นั้น “สมประสงค์” บอกว่าปกติผู้บริหารระดับสูงต้องเตรียมผู้สืบทอดตำแหน่งหรือ Successor ไว้ 3 ระดับ คือ1.ผู้ที่สามารถนั่งเก้าอี้แทนได้ทันที 2.ผู้ที่สามารถแทนได้ภายใน 1-2 ปี และ3.ผู้ที่แทนภายใน 3-5 ปี ซึ่งกลุ่ม2จะต้องถูกเตรียมพร้อมด้วยการมอบหมายหน้าที่สำคัญ ส่วนกลุ่ม 3.จะถูกส่งไปเข้าชั้นเรียนเตรียมเป็นผู้นำ หรือมีการเปลี่ยนตำแหน่งที่หลากหลาย ดังนั้นโดยปกติกลุ่มชินฯ จะมีคนนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงค่อนข้างยาก
แต่เมื่อจำเป็นต้องมี การคัดเลือกจึงมีกระบวนคัดสรรอย่างเข้มข้นเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับไทยคม
“สมประสงค์” บอกว่าปีที่แล้วในฐานะคณะกรรมการบริษัทไทยคม เมื่อเห็นว่าผู้บริหารเดิม(อารักษ์ ชลธรานนท์) กำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2554 จึงเสนอให้คณะกรรมการสรรหาบุคคลากรของไทยคมพิจารณาแนวทางการเลือกผู้บริหารคนใหม่ ที่ถึงเวลาที่ไทยคมต้องการผู้เชี่ยวชาญการทำตลาดต่างประเทศมากกว่าวิศวกร เพราะวิศวกรในไทยคมมีจำนวนมากแล้ว แต่ลูกค้าที่ใช้บริการดาวเทียมของไทยคมยังน้อยแม้ว่าได้ยิงขึ้นสู่อวกาศมาแล้วหลายปี
คณะกรรมการสรรหาจึงให้เริ่มกระบวนการคัดเลือก โดยให้บริษัทที่เชี่ยวชาญการคัดเลือกบุคลากร (Head Hunter) 3 บริษัทมาประมูลแข่งดำเนินการ เหลือบริษัทเดียวทำหน้าที่เฟ้นหา แทนการลงโฆษณาที่หลายองค์กรทำ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงความต้องการมากที่สุด จากนั้นคัดเลือกเหลือ 10 คนสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์ มีทั้งคนในกลุ่มชินฯ เอง และคนนอก จำนวนนี้มีผู้หญิง 2 คน
“สมประสงค์” บอกว่า “ศุภจี” เป็นคำตอบของไทยคม เพราะมีประสบการณ์ในองค์กรใหญ่อย่างไอบีเอ็มที่ทำตลาดทั่วโลก เข้าใจตลาดและความต้องการของลูกค้า เหมาะกับไทยคมที่ต้องทำตลาดระหว่างประเทศเหมือนกัน มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการบัญชีและการเงิน ที่ไทยคมอยู่ระหว่างการสร้างกำไร และระดมเงินทุนเพื่อลงทุนโครงการใหม่ๆ ที่สำคัญคือเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะยืดหยุ่น จึงเป็นคนเปิดกว้างมองหลายมุม มีความเข้าใจทางสังคม และเป็นคนที่แสวงหาความท้าทายใหม่ๆ ในแบบฉบับของ Pure Professional Executive
นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตาของกลุ่มชินฯ เพราะกว่า 20 ปีที่กลุ่มชินฯ และบริษัทในเครือมีผู้บริหารระดับซีอีโอที่เป็นลูกหม้อ ร่วมบุกเบิกธุรกิจกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ก่อตั้งบริษัท หรือพูดง่ายๆ คือเป็นบุคคลที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ” เลือกและไว้วางใจมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่ออดีตจ้าของกลุ่มชินฯ ไปเล่นการเมือง ภาพลักษณ์ขององค์กรจึงยึดโยงอย่างเหนี่ยวแน่นกับการเมือง
“การเมือง” จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจของกลุ่มชินฯ ที่มีบริษัทหลักๆ อย่างเอไอเอส และไทยคมมาโดยตลอด ถึงขั้นที่ว่าเมื่อมีการสำรวจภาพลักษณ์ของแบรนด์ในความรู้สึกของลูกค้าจะต้องมีคำถามเกี่ยวกับการเมืองกับแบรนด์ด้วยทุกครั้ง นี่คือจุดที่ผู้ถือหุ้นใหม่อย่างเทมาเส็ก สิงคโปร์ไม่พอใจเท่าไรนัก
ดังนั้นเมื่อ “ศุภจี” ได้รับเลือกให้เป็นซีอีโอของไทยคม ความหมายที่สื่อออกมาชัดเจนคือองค์กรนี้กำลังพยายามเว้นช่องว่างจากการเมืองให้มากขึ้น จนหลายคนมองว่าที่ไทยคมสำหรับ “ศุภจี” อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ “อาณาจักรชินฯ” เท่านั้น