ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับตัวเลขประมาณการ GDP ของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะอยู่ในกรอบ 3.2% ถึง 4.2% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย นอกจากนี้ภาคธุรกิจไทยเองก็ต้องรับการปรับตัวในปี 2566 ที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของ ESG ที่ภาคธุรกิจไทยจะต้องจับตามองและเกาะติดเทรนด์ดังกล่าว
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้กล่าวถึง ปี 2566 ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความสำคัญกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากในปี 2565 ที่ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจคือเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งจะเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐนั้นได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกันเธอได้ชี้ว่าในส่วนเรื่อง Supply Chain นั้นปัญหาได้คลี่คลายลงอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าค่าระวางเรือปรับลดลง ส่งผลทำให้ปัจจัยดังกล่าวนั้นคลี่คลายไปได้พอสมควร
อย่างไรก็ดี ณัฐพร ชี้ว่าในปี 2566 ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังเป็นประเด็นหลักของธนาคารกลางทั่วโลกอยู่ และธนาคารกลางทั่วโลกนั้นจะยังปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่มากเท่ากับปี 2565 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้นอาจไม่เติบโตเลยในปี 2566
แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยนั้นมองว่าเศรษฐกิจของทั้ง 2 ภูมิภาคนี้นั้นยังไม่ได้มีสภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยอย่างรุนแรงแต่อย่างใด เนื่องจากการจ้างงานยังถือว่าเติบโตได้ดี
ขณะที่กรณีของจีนนั้นทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจีนจะเปิดประเทศไวสุดในเดือนเมษายนและจีนไม่ได้กลับมาล็อกดาวน์เหมือนเดิม หลังจากจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีมุมมองแบบระมัดระวัง โดยให้เหตุผลว่าถ้าเคสของผู้ติดเชื้อมาก อาจไม่ได้ส่งผลดีกับจีนได้
เศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ได้ 22 ล้านคน และเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปี 2565 นี้อยู่ที่ราวๆ 11 ล้านคน
ขณะที่การส่งออกของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าว่าปี 2565 นี้เติบโตได้ 5.2% แต่ปีหน้านั้นอาจหดตัว -1.5% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย
สำหรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า GDP จะเติบโตได้ 3.2% มองค่าเงินบาทไทย น่าจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ในช่วง 33.5 ถึง 34 บาทต่อดออลาร์สหรัฐ ขณะที่ดอกเบี้ยนโบายของไทยมองว่าอยู่ที่ 1.75%
การเติบโตสินเชื่อของธนาคารในประเทศไทย
สำหรับมุมมองสินเชื่อของกลุ่มธนาคารไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่ระมัดระวัง โดยคาดว่าสินเชื่อรวมเติบโตได้ 4.7% และธุรกิจรายใหญ่ยังเป็นกำลังหลักในการเติบโตของสินเชื่อธนาคารไทย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ให้มุมมองว่ากลุ่มธุรกิจ SME อาจยังไม่ฟิ้นตัวดี ขณะที่ NPL ปีหน้าอาจไม่ได้ลดลงมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อ
ธุรกิจไทย
เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้กล่าวถึงมุมมองธุรกิจไทยถึง อัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นส่งผลดีกับภาคการส่งออก อย่างไรก็ดีก็แลกมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็อาจทำให้ลดต้นทุนลงมา เนื่องจากสินค้าที่ไทยนำเข้า เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ
เธอได้ชี้ว่า โจทย์ใหญ่ของภาคธุรกิจไทยในปี 2566 นั้นประกอบด้วย การฟื้นตัวที่ไม่แน่นอน แต่ละธุรกิจฟื้นตัวไม่เท่ากันเมื่อเทียบกับปี 2565 เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน รองลงมาคือกลุ่มโรงพยาบาล ภาคส่งออก ตามลำดับ แต่สำหรับกลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่ดีคือภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีโจทย์ที่ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพรวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และปัญหาของหนี้ครัวเรือน
ขณะเดียวกันเกวลินได้ย้ำถึงโจทย์สำคัญในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และเกณฑ์กำกับเรื่อง ESG นี้จะส่งผลต่อธุรกิจไทยอย่างมากในช่วงปี 2566 เธอได้ชี้ว่าถ้าหากธุรกิจไทยเกาะติดกับเทรนด์ ESG ก็จะส่งผลดีกับธุรกิจในระยะยาว ถ้าหากปรับตัวไม่ได้ก็อาจส่งผลต่อการแข่งขันได้ด้วยเช่นกัน