“ไม่ได้แพงอย่างที่คิด” มุมมองใหม่ที่ MUJI อยากให้ทุกคนเข้าใจ

MUJI
  • ทำอย่างไรถึงจะดึงลูกค้าเข้าร้านได้มากกว่านี้ และเห็นว่าสินค้าของแบรนด์น่าสนใจ “MUJI” กำลังแก้โจทย์เหล่านี้ด้วยโซน “สินค้าราคาไม่เกิน 300 บาท”
  • พร้อมเร่งนำเข้าสินค้ากลุ่ม “อาหาร” เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 10% ของร้าน เพราะเป็นสินค้าที่จะเร่งทราฟฟิก ลูกค้ากลับมาซื้อได้บ่อยๆ
  • ด้านการขยายสาขา วางเป้าเพิ่มอีก 10 สาขาภายในปี 2567 เน้นทำเลปริมณฑลและต่างจังหวัด ไซส์มาตรฐาน “ร้านขนาดใหญ่” 1,500 ตารางเมตร

แบรนด์ MUJI (มูจิ) เป็นแบรนด์ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นในกลุ่มคนรักดีไซน์แบบ “มินิมอล” แต่ปัญหาก็คือ มินิมอลแบบ MUJI มักจะถูกมองว่า “แพง” แม้จะมีคุณภาพดีก็ตาม ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าบางกลุ่มหนีไปเลือกหาแบรนด์อื่นที่ทำตามปรัชญามินิมอลกันมากมายในวันนี้

เพื่อจะแก้โจทย์ดังกล่าว ทำให้ MUJI ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2563 แบรนด์มีการ “ปรับลดราคา” สินค้าหลายรายการ และปี 2564 ก็มีการปรับลงอีก จนทำให้ราคาสินค้านับว่า “จับต้องได้” ขึ้นกว่าเดิมมาก

MUJI
MUJI สาขาโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์

แต่ “ภาพจำ” ไม่ใช่เรื่องที่ลบกันได้ง่ายๆ ทำให้แบรนด์ต้องพยายามมากขึ้น ในปี 2565 นี้จึงเป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญ เมื่อ MUJI จัดโซน “สินค้าราคาไม่เกิน 300 บาท” ไว้ในสาขาใหม่ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์ ทำให้สินค้าราคาจับต้องได้โดดเด่นสะดุดตา มาวางรวมกันให้ลูกค้าเห็นว่ามีหลายๆ อย่างที่พวกเขาซื้อไปลองใช้ได้

“โซนสินค้าราคาไม่เกิน 300 บาทหรือ Affordable Area ในไทยนั้นได้แรงบันดาลใจจากร้าน MUJI 500 yen ที่เพิ่งเปิดตัวในญี่ปุ่น” อกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

“เพราะลูกค้าไทยมองว่า MUJI คุณภาพดีแต่ราคาสูง ทั้งที่จริงแล้ว สินค้ากลุ่มของใช้ในบ้านของเรากว่า 4,000 รายการ มีถึง 50% หรือกว่า 2,000 รายการที่ราคาไม่เกิน 300 บาท เราจึงอยากให้โซนนี้ช่วยสื่อสารให้ชัดเจนว่า จริงๆ แล้วแบรนด์ของเรามีสินค้าราคาย่อมเยาด้วยเหมือนกัน”

MUJI
โซนสินค้าราคาไม่เกิน 300 บาท

สินค้าในโซน 300 บาทมักจะเป็นของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ในบ้านชิ้นเล็กๆ เช่น กระดาษเช็ดแว่นตา ราคา 35 บาท (*สินค้าชิ้นนี้เป็นของที่ขายดีที่สุดในไทย), ถุงเท้าแพ็ก 3 คู่ ราคา 190 บาท, ลูกกลิ้งทำความสะอาดพรม ราคา 190 บาท, เหยือกน้ำ ราคา 190 บาท เป็นต้น ทั้งหมดเป็นสินค้าที่แบรนด์วางขายอยู่แล้ว ไม่ได้ผลิตหรือออกแบบใหม่เพื่อให้อยู่ในกลุ่มราคานี้

คาโมการิกล่าวว่า โซนราคาไม่เกิน 300 บาทน่าจะมีการขยายไปยังสาขาอื่นๆ ต่อไป แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นสาขาใดบ้าง

 

“อาหาร” แม่เหล็กดึงคนเข้าร้านให้บ่อยขึ้น

คาโมการิกล่าวถึงอีกกลยุทธ์หนึ่งที่หวังจะช่วยดึงทราฟฟิกเข้าร้าน คือการขยายสินค้าหมวด “อาหาร” ให้มากขึ้น เพราะอาหารเป็นสินค้าใช้แล้วหมดไป จะทำให้ลูกค้าแวะกลับมาซื้อได้อีกบ่อยๆ และเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมื่อเข้ามาแล้วก็มักจะแวะเดินชมร้านเผื่อหยิบสินค้าอื่นกลับไปด้วย

MUJI
แกงกะหรี่สำเร็จรูป สินค้าใหม่ในหมวดอาหารที่หวังว่าจะเป็นแม่เหล็กใหม่ดึงลูกค้า

ปัจจุบัน MUJI ไทยแบ่งสัดส่วนสินค้าออกเป็น กลุ่มเสื้อผ้า-เครื่องแต่งกาย 50% กลุ่มของใช้ในบ้าน-เฟอร์นิเจอร์-ของใช้ส่วนตัว 48% และกลุ่มอาหาร 2% ทั้งที่ในญี่ปุ่นนั้น ร้าน MUJI มีกลุ่มอาหารจำหน่ายเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงต้องการจะเร่งสินค้าหมวดอาหารให้เพิ่มสัดส่วนเป็น 10%

ล่าสุด MUJI มีการนำเข้าสินค้า “แกงกะหรี่สำเร็จรูป” เข้ามา 5 รสชาติ ซึ่งหวังว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้าได้เหมือนกับที่ญี่ปุ่น จากปัจจุบันลูกค้าไทยจะชอบสินค้าอาหารของแบรนด์ เช่น ขนมบามคุเฮน, ขนมสตรอว์เบอร์รี่เคลือบช็อกโกแลต, เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

 

ASEAN MD กลุ่มสินค้าที่พัฒนาต่อเนื่อง

อีกส่วนที่ MUJI เริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 และจะทำอย่างต่อเนื่องคือการพัฒนาสินค้า ASEAN MD เริ่มมาจากความเข้าใจของ MUJI ว่า ลูกค้าในอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบางอย่างก็ไม่เหมือนคนญี่ปุ่น ทำให้อุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ก็นิยมต่างกันด้วย บริษัทแม่ในญี่ปุ่นจึงออกแบบสินค้าเพื่อมาวางขายในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ

ยกตัวอย่างสินค้า ASEAN MD เช่น ม๊อบถูพื้น, หมอนข้าง, ผ้านวมแบบบาง, เสื้อผ้าใยผ้าระบายอากาศร้อน สิ่งของเหล่านี้เป็นวิถีของคนอาเซียนหรือคนไทย และแบรนด์จะดีไซน์สินค้าใหม่ออกมาในอีกหลายหมวด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวขนาดเล็ก, อาหาร จากปัจจุบัน MUJI ไทยวางขายสินค้ากลุ่ม ASEAN MD อยู่ราว 30% ของร้าน ต่อไปสัดส่วนน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก

ผ้านวมแบบบาง สินค้า ASEAN MD ออกแบบมาเพื่อให้ตรงกับภูมิอากาศแบบอาเซียนที่ไม่หนาวเหมือนในญี่ปุ่น

 

ขยายสาขาเจาะทำเลที่ ‘ไม่ใช่’ ใจกลางกรุงเทพฯ

จากแนวทางการปรับมุมมองต่อแบรนด์ และพัฒนาสินค้าให้ ‘localized’ สูงขึ้น การขยายสาขาก็จะสอดคล้องเช่นกัน

“การขยายทำเลของเราต่อไปจะเน้นให้เข้าถึงคนหมู่มาก ขยายไปกว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้สาขาใหม่จะเน้นออกไปในปริมณฑลและต่างจังหวัด” คาโมการิกล่าว

สิ้นปี 2565 นี้ MUJI จะมีครบ 29 สาขา โดยมีเพียง 3 สาขาในต่างจังหวัด คือ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, เซ็นทรัล ชลบุรี และเซ็นทรัล ศรีราชา

MUJI สาขาเซ็นทรัล ชลบุรี

แผนการเปิดสาขาปี 2566-67 จะเปิดรวม 10 สาขา โดยเฉพาะในปี 2566 ตั้งเป้าจะเปิดให้ได้ 7 สาขาภายในปีเดียว มีสาขาต่างจังหวัดที่คาดว่าจะเปิดแน่นอนแล้วคือ เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และอีกสาขาหนึ่งกำลังมองหาทำเลในภาคใต้ รวมถึงมีความสนใจทำเลในภาคอีสานด้วย

คาโมการิยังบอกด้วยว่า สาขาใหม่ๆ จะพยายามเน้นหาพื้นที่ลงร้านได้ใน “ขนาดมาตรฐาน” คือ 1,500 ตารางเมตรขึ้นไป ถือเป็นร้านแนวใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิมของ MUJI ไทย เพราะพบว่าลูกค้าให้การตอบรับดี ชื่นชอบที่ร้านใหญ่มีสินค้าให้เลือกเยอะเหมือนที่ญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าร้านที่เป็นไซส์ใหญ่ของแบรนด์ต่างทำยอดขายได้ในอันดับต้นๆ ของประเทศ เช่น สาขาเอ็มควอเทียร์, สาขาสามย่านมิตรทาวน์, สาขาเซ็นทรัล ชิดลม เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นแผนการเดินหน้าต่อของแบรนด์ต้นตำรับมินิมอลจากญี่ปุ่น โดยบริษัทเชื่อว่าปี 2566 จะเป็นปีที่สดใสของ MUJI คาดทำรายได้ได้มากกว่าปี 2562 (ก่อนโควิด-19)