กระแสดีไม่ช่วยอะไร! เหตุที่ Netflix ยกเลิกภาคต่อ ‘ซีรีส์’ เพราะคน ‘ไม่ดูจนจบ’

‘ซีรีส์’ หลายเรื่องบน Netflix ถูกยกเลิกไม่ให้งบสร้างซีซั่นต่อไป ทั้งๆ ที่กระแสดีมาก เป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ต หรือถูกใจนักวิจารณ์ เหตุเพราะดาต้าเบื้องหลังพบว่า แม้คนจะเริ่มกดดูกันเยอะแต่ส่วนใหญ่แล้ว “ไม่ดูจนจบ”

“เราใช้สัญชาตญาณ 70% และใช้ดาต้า 30% …ส่วนใหญ่ดาต้าก็มายืนยันสัญชาตญาณและลางสังหรณ์เนี่ยแหละ ดาต้าเหมือนมาเพิ่มน้ำหนักให้ลางไม่ดีที่คุณรู้สึก หรือมาสนับสนุนสิ่งที่คุณตัดสินใจจะทำ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” Ted Sarandos ประธานกรรมการของ Netflix เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่ง เมื่อถูกถามถึงวิธีตัดสินใจว่าคอนเทนต์ไหนที่จะได้ไฟเขียวให้สร้าง และเรื่องไหนจะถูกยกเลิกไม่ให้ทำต่อ

แต่วันนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่าการใช้สัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ของ Netflix นั้นจริงหรือเปล่า

ซีรีส์เรื่องล่าสุดที่ Netflix ยกเลิกสร้างภาคต่อจนทำให้ผู้ชมงงกันเป็นทิวแถวคือเรื่อง ‘1899’ ทำให้สตรีมมิ่งเจ้านี้มีซีรีส์ที่คนดูจะไม่มีวันได้รู้ตอนจบกองพะเนิน และหลายคนไม่เชื่อแล้วว่าบริษัทนี้ใช้ “สัญชาตญาณ” ในการตัดสินใจ เพราะมันดูสวนทางกับความรู้สึกผู้ชม หลายคนมองว่าจริงๆ แล้ว Netflix หันมาใช้ “ดาต้า” แทนต่างหาก

Netflix
ซีรีส์เรื่อง 1899 ที่เป็นกระแสเปิดตัว แต่สุดท้ายถูกยกเลิกภาคต่อ

มีมาตรวัดอย่างหนึ่งที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญนั่นคือ “อัตราการดูจบของผู้ชม” จากบริษัทภายนอกที่ทดลองติดตามดูมาตรวัดนี้ของซีรีส์ Netflix พวกเขาพบว่า อัตราการดูจบมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับการ ‘ได้ไปต่อ’ ของซีรีส์เรื่องนั้น

มาดูกันว่าซีรีส์ดังแต่ละเรื่องมีอัตราดูจบสูงหรือต่ำแค่ไหน

  • Heartstopper ดูจบ 73% และได้ไปต่ออีก 2 ซีซั่น
  • Squid Game ดูจบสูงถึง 87% และได้ไฟเขียวซีซั่นถัดไปทันที
  • Arcane ดูจบ 60% ทำให้รอดตัวและได้สร้างต่อ
  • Resident Evil ขึ้นอันดับ 1 ในช่วงที่ซีรีส์เปิดตัว แต่กลับมีอัตราดูจบแค่ 45% ทำให้ถูกยกเลิกซีซั่นถัดไป ถือเป็นอีกเรื่องที่ช็อกแฟนๆ
  • 1899 ที่เป็นกระแสในอินเทอร์เน็ต แต่มีอัตราดูจบ 32% เท่านั้น ยอดที่ต่ำขนาดนี้ทำให้ซีรีส์ถูกยกเลิกง่ายๆ
Heartstopper ที่มีอัตราดูจบสูงและได้ไฟเขียวภาคต่ออีก 2 ซีซั่น

วิธีคิดนี้น่าจะเรียกได้ว่าสมเหตุสมผล เพราะถึงกระแสจะดีมาก แต่ถ้ามีคนดูไปจนจบแค่ 30-40% เท่านั้น แปลว่าเมื่อซีซั่นต่อไปออกฉาย ผู้ชมน่าจะไม่กลับมาดูต่อ (ซีซั่นก่อนหน้ายังดูไม่จบเลยด้วยซ้ำ) ดังนั้น จะลงทุนสร้างภาคต่อไปเพื่ออะไร

แต่แน่นอนว่าผู้ชม 30-40% ที่สู้อุตส่าห์ดูจนจบก็ต้องมาอารมณ์ค้าง เพราะซีรีส์ของพวกเขาไม่ได้ไปต่อ ประเด็นนี้สำคัญมากต่อวิธีคิดของผู้ชมในภายภาคหน้า เพราะถ้าดูทรงแล้วซีรีส์เรื่องที่สนใจอยู่ในกลุ่ม ‘ดูยาก’ และคงจะไม่ได้สร้างภาคต่อ ผู้ชมอาจจะเลือกไม่รับชมเสียแต่แรกไปเลย

ในขณะที่ซีรีส์ประเภท ‘ดูง่าย’ เนื้อหาดูไปเพลินๆ แถมใช้เวลาเพียง 30 นาทีต่อตอน ก็จะทำให้อัตราการดูจบสูงกว่า มีโอกาสได้สร้างภาคต่อมากกว่า

นั่นแปลว่าผู้สร้างอาจจะหันมาหาซีรีส์ที่มีเนื้อหาเบาสมองกว่า และตัดเป็นตอนสั้นๆ กันมากขึ้น

นอกจากอัตราการดูจบแล้ว Netflix น่าจะพิจารณาเรื่องงบลงทุนว่าคุ้มค่าพอที่จะ ‘ถัวเฉลี่ย’ กับอัตราดูจบที่ต่ำไหม ยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง The Lincoln Lawyer มีอัตราดูจบ 56% ผ่านเส้นยาแดงมาไม่ไกล แต่ด้วยทุนสร้างไม่สูงมาก จึงได้ไปต่อ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากบริษัทภายนอก และการคาดเดาของนักวิเคราะห์ เพราะทาง Netflix ไม่เคยให้ข้อมูลเรื่องอัตราดูจบ จะให้เฉพาะจำนวนชั่วโมงรับชม แต่ถ้าอนาคตคุณสังเกตเห็นซีรีส์ที่เปิดตัวเป็นอันดับ 1 บนชาร์ต แถมยังมีจำนวนชั่วโมงรับชมสูง แต่สุดท้ายถูกแคนเซิลซีซั่นหน้า ก็เป็นไปได้ว่าอัตราดูจนจบนี่แหละที่เป็นปัญหา

Source