เปิดอินไซต์ตลาด ‘สัตว์เลี้ยง’ กับโอกาสทำเงินจาก ‘ทาส’ ที่มากกว่าขายอาหาร-อาบน้ำ-ตัดขน

ปี 2022 น่าจะเป็นปีที่เห็นภาพของ ตลาดสัตว์เลี้ยง ได้อย่างชัดเจนที่สุดในแง่ของการเติบโต เพราะจะเห็นผู้เล่นรายใหญ่หน้าใหม่ตบเท้าเข้ามาในตลาดมากมาย อาทิ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’ แบรนด์อาหารสัตว์ของอาร์เอส, ‘PET ‘N ME’ (เพ็ท แอนด์ มี) ร้านค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงครบวงจรของเซ็นทรัล และ Pet Us (เพ็ทอัส) ของโลตัส ยังไม่รวมถึงบริการอื่น ๆ อย่าง GrabPet (แกร็บเพ็ท) ที่ให้เจ้าของพาสัตว์เลี้ยงเดินทางได้ จากการที่แบรนด์ใหญ่เห็นโอกาส ทำให้ตลาด 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะเติบโตเป็น 60,000 ล้านบาทได้ภายในปี 2026 เลยทีเดียว

สาว Gen Y ตกเป็นทาสมากที่สุด

“วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล” หรือ “CMMU” ได้ทำผลสำรวจตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทย โดยพบว่า ทาสส่วนใหญ่นั้นเป็น ผู้หญิง (66.8%) รองลงมาเป็น เพศชาย (22.3%) และเพศทางเลือก (10.9%) โดยเจนเนอเรชั่นที่มีมากที่สุดคือ Gen Y (77.3%) ตามด้วย Gen Z (12%) และ Gen X (10.7%) สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้นมี 3 เหตุผล ได้แก่

  • เลี้ยงเป็นลูก (49%) : เกือบครึ่งของคนที่มีสัตว์เลี้ยงมองว่า เขาเลี้ยงแทนลูก เลี้ยงคลายเหงา ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเกิดน้อยลง แต่อัตราการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ขณะที่ 80% ของคนเลี้ยงสัตว์เป็นโสด
  • เลี้ยงเพื่อสถานะทางสังคม (33%) : บางคนเลือกจะเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ บ่งบอกตัวตน หรือสเตตัสทางสังคม
  • เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือหรือเยียวยาจิตใจ (18%) : มีบางส่วนที่เลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัด คลายเหงา คลายความเครียดจากการทำงาน ช่วยเพิ่มความสุข หรือเยี่ยวยาจิตใจผู้ป่วย ผู้สูงอายุ

น้องหมาสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอันดับ 1

จากผลสำรวจพบว่า 40.4% ของกลุ่มตัวอย่างเลี้ยง สุนัข ตามด้วย น้องแมว 37.1% และอีก 22.6% เลี้ยงสัตว์ Exotic โดยสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ปลาสวยงาม,นก, กระต่าย, เต่า และ หนู นอกจากนี้ยังมี สัตว์เลี้ยงเฉพาะกลุ่ม โดยที่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงมากที่สุดจะเป็น กิ้งก่า, ชูก้าไกลเดอร์, แมงมุม, งู และ ไก่สวยงาม

สำหรับช่องทางที่เหล่าผู้เลี้ยงสัตว์ Exotic ใช้ในการ รับข่าวสาร คือ Facebook และ Facebook Group ส่วน ช่องทางในการหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลี้ยง ดูแลรักษาจะหาจาก YouTube แต่ถ้าเป็นช่องทางที่ใช้เพื่อ หาความบันเทิง เช่น คลิปสัตว์ตลายเคลียดจะเป็น TikTok

ปีละ 2 หมื่นบาท ทาสจ่ายกับอะไรบ้าง

อาหาร : โดย 4 ช่องทางที่สำคัญสุดที่เหล่าทาสใช้หาข้อมูล คือ โซเชียลมีเดีย (39.8%) เพื่อนและครอบครัว (28%) เสิร์ชเอนจิ้น (22.3%) และ โฆษณาทีวี (9.9%) สำหรับพฤติกรรมการซื้ออาหารของเหล่าทาสนั้นจะคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยง ไม่ตุนของ และไม่เปลี่ยนแบรนด์ เนื่องจากกังวลเรื่องความไม่คุ้นเคยอาจทำให้สัตว์เลี้ยงอาจไม่ทาน หรืออาจทำให้ท้องเสีย

สำหรับปัจจัยที่จะ กระตุ้นการซื้อ ได้แก่ โปรโมชัน, ความหลากหลาย และคุณภาพ ในส่วนของ ช่องทางการซื้ออาหารสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยง (34.8%) อีคอมเมิร์ซ (22.2%) ซูเปอร์มาร์เก็ต (12.4%) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (11.8%) และคลินิกรักษาสัตว์ (8.2%) ขณะที่ความถี่ในการซื้อ กว่า 50% ซื้อมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาทต่อเดือน

บริการ : ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำตัดขน, ฝากเลี้ยง, สปานวด ฯลฯ เป็นอีกส่วนที่เหล่าทาส ใช้บริการทุกเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง โดยบริการยอดนิยม ได้แก่ อาบน้ำตัดขน (60.1%) รับฝากเลี้ยง (25.9%) สปานวด (6.7%) บริการทำเล็บ (5.8%) ส่วน ปัจจัยในการเลือกใช้บริการ ได้แก่ ทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง, ความน่าเชื่อถือ, พนักงานมีจำนวนเพียงพอและเชี่ยวชาญ และชื่อเสียงของแบรนด์

การรักษา : ในส่วนของการรักษา เหล่าทาส 43.3% เลือกที่จะรักษากับ คลินิกเอกชน ตามด้วยโรงพยาบาลสัตว์เอกชน (41.2%) และโรงพยาบาลสัตว์ของรัฐ (9.8%) โดยสาเหตุที่คลินิกเอกชนมาเป็นอันดับ 1 เพราะความเชื่อมั่น ทำเล เวลายืดหยุ่นและชื่อเสียงคลินิก

ยังมีอะไรที่เหล่าทาสมองหา

นอกจากความต้องการพื้นฐานแล้ว ยังมีอีกหลายบริการที่เหล่าทาสมองหา อาทิ Pet Wellness Center บริการตรวจสุขภาพ รักษาโรค อาบน้ำ ตัดขน สปาสัตว์เลี้ยง ฝากสัตว์เลี้ยง จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ และปรึกษาแพทย์ออนไลน์ Pet Training ฝึกนิสัยสุนัขพันธุ์ดุ คลินิกดัดนิสัยสุนัข-แมว หรือการฝึกกีฬาเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน

After Death Service บริการรูปปั้นสัตว์เลี้ยงหลังเสียชีวิต สร้อยล็อกเก็ตแทนใจ หรือตุ๊กตาสุนัขเหมือนจริง นอกจากนี้ อีกสิ่งที่เหล่าทาสสัตว์ Exotic คือ คลินิกเฉพาะทางที่ยังมีจำนวนน้อย ขณะที่ผู้ขายไม่มีคำแนะนำมากพอที่จะแนะนำการเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้

ใช้สัตว์ช่วยขายของอย่างไรให้ได้ใจทาส

สำหรับกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้สัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์ถือเป็นสิ่งที่มีมานาน แต่โฆษณาที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสอนค้าของผู้บริโภคมากที่สุดนั้นการมี สัตว์และสินค้า จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้ดีที่สุด โดย 43.82% ของผู้ทำแบบสำรวจมองว่า สัตว์ช่วยดึงดูด เปรียบเทียบขนาดสินค้าชัดเจน และไม่ดูยัดเยียดเกินไป

ตามมาด้วยโฆษณาที่มี สินค้าอย่างเดียว (37.08%) และสุดท้ายโฆษณาที่มี คน สัตว์ สินค้า (19.10%) แม้จะไม่ช่วยเรื่องปิดการขาย แต่ช่วยเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดูอบอุ่น เห็นความสัมพันธ์ ทั้งนี้ สำหรับสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากเห็นสัตว์เลี้ยงในการสื่อสารการตลาด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สายการบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์

สำหรับแบรนด์ที่กำลังมองหา Pet Influencer หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่โด่งดังบนโซเชียลมาใช้เพื่อโปรโมตสินค้า หรือบริการ ซึ่งคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดคนได้มากที่สุด คือ คอนเทนต์บันเทิง ขำขัน (68%) แต่ถ้าจะใช้วิธีนี้ต้องรีวิวอย่างสร้างสรรค์ ไม่ฮาร์ดเซลล์ อีก 48% มองว่าเขาชอบดูวิดีโอคลิปสั้น ๆ และส่วนใหญ่จะติดตามไปยาว ๆ หาเพจยังรักษาคุณภาพ ไม่ขายของมากเกินไป

สรุปกลยุทธ์มัดใจเหล่าทาสให้เปย์

  • Personalization – ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้าน
  • Easy Access – ความสะดวกและเข้าถึงง่าย คือ หัวใจ
  • Trustworthiness – มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ
  • Social Influence – อิทธิพลจากคนในสังคมสำคัญต่อการตัดสินใจ
  • Uniqueness – สร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ
  • Mental Support – การสื่อสารโดยใช้สัตว์เพื่อคลายเครียด
  • Engagement – สร้างความผูกพันกับลูกค้าจนเกิด Loyalty
  • Rights – ให้ความสำคัญกับสิทธิของสัตว์เลี้ยง