ผู้นำอินโดฯ มั่นใจปิดดีลให้ Tesla มาตั้งฐานการผลิตได้ เชื่อมีแต้มต่อกว่าประเทศอื่นเยอะ

ภาพจาก Shutterstock

ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย มั่นใจว่าในท้ายที่สุดจะสามารถปิดดีลให้ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา มาตั้งฐานการผลิตที่อินโดนีเซียได้ เนื่องจากมีแต้มต่อมากกว่าประเทศอื่นๆ หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นได้แล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สำนักข่าว Reuters ได้สัมภาษณ์พิเศษ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย มั่นใจว่าในท้ายที่สุดจะสามารถปิดดีลให้ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา มาตั้งฐานการผลิตที่อินโดนีเซียได้ และยังเชื่อมั่นว่าอินโดนีเซียมีแต้มต่อกว่าประเทศคู่แข่งหลายๆ ประเทศ

สิ่งที่ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียได้แสดงถึงความมั่นใจก็คือปริมาณนิกเกิลสำรองมากที่สุดและมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ โดยผู้นำอินโดนีเซียรายนี้กล่าวว่า “ผมบอกกับเขา (อีลอน มัสก์) ว่าถ้าคุณลงทุนในอินโดนีเซีย ผมจะให้สัมปทานนิกเกิล”

นอกจากนี้เขายังกล่าวเสริมว่า “ถ้าหาก Tesla จะเริ่มต้นจากแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่เป็นไร”

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Tesla ได้เซ็นสัญญาซื้อแร่นิกเกิลกับรัฐบาลอินโดนีเซียมากถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐมาแล้ว โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่ว่าจะต้องมีการมาตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าในประเทศ เนื่องจากอินโดนีเซียห้ามส่งออกแร่ดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2020

ไม่เพียงเท่านี้ อินโดนีเซียยังได้เตรียมสิ่งจูงใจอื่นๆ ที่จะทำให้ Tesla เข้ามาตั้งฐานการผลิตก็คือ การลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และยังให้เงินอุดหนุนสำหรับประชาชนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อที่จะสร้างตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอินโดนีเซียมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีอนาคตอีกตลาดหนึ่ง

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า Tesla บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับรัฐบาลอินโดนีเซียในการตั้งฐานการผลิต ซึ่งการเจรจาดังกล่าวคาดว่าโรงงานในอินโดนีเซียสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 1 ล้านคันต่อปี มากกว่าโรงงานที่ประเทศจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตเพียงแค่ 750,000 คันต่อปี

ปัจจุบัน Tesla มีโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ 4 แห่งทั่วโลก โดย 2 แห่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา และอีก 2 แห่งอยู่นอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป้าหมายของบริษัทในปี 2030 คือสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ปีละ 20 ล้านคัน

ถ้าหากมีการปิดดีล เซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการจริงๆ แล้ว จะทำให้ Tesla มีโรงงานในทวีปเอเชียเป็นแห่งที่ 2 ต่อจากประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่สนใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายนี้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศของตนเอง