ทำความรู้จัก ‘Li Lu’ ศิษย์ปู่ Buffett สุดยอดอัจฉริยะนักลงทุนชาวจีน สาย VI

แปลกดีนะครับ ที่โลกเราไม่ค่อยรู้จักนักลงทุนเก่งๆ จากจีน…
ถ้ากลิ่นอายเทศกาลตรุษจีนยังไม่จางไปเสียทีเดียว วันผมก็ขอเข้าเทศกาลด้วยการพาคุณไปรู้จักกับนักลงทุนอัจฉริยะ VI ชาวจีน ที่ได้ร่ำเรียนวิชาการลงทุนโดยตรงมาจาก Warren Buffett และยังเป็นผู้ที่ Charlie Munger ยอมรับในฝีมือการลงทุน

จนเคยถูกวางตัวให้สืบทอดตำแหน่งของ Warren Buffett ใน Berkshire Hathaway มาแล้วด้วย (ก่อนที่เจ้าตัวจะปฏิเสธ)

ไปรู้จักกับ Li Lu คนที่ปู่ Munger บอกว่าเป็น ‘Chinese Warren Buffett’ กันครับ

เรียนวิชากับนักลงทุนตัวจริง

Li Lu เป็นคนจีนแท้ๆ เขาเกิดในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนพอดี ในวัยเด็กเขาจึงต้องอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์และมีชีวิตที่ยากลำบาก ไม่ได้เรียนหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก

แต่ด้วยความฉลาดที่ติดตัวมา เขาเรียนจนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Nanjing ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่รัฐนิวยอร์ก และได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Columbia University

แล้วอัจฉริยะอย่างเขาก็ปล่อยของ ด้วยการเรียนจบปริญญา 3 สาขาภายในแค่เวลา 6 ปี คือปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แถมด้วยปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจหรือ M.B.A อีกใบ

โดยในช่วงที่เขาเรียนอยู่ Columbia University ได้เชิญ Warren Buffett ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามาเป็นอาจารย์พิเศษในวิชาที่เขาเรียน ซึ่งตัว Li Lu เล่าให้ฟังว่าเขาเกือบจะไม่ได้เข้าเรียนในคลาสนี้ครับ

เรื่องตลกที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ในตอนนั้นภาษาอังกฤษของ Li Lu ยังไม่แข็งแรง เพราะเมื่อเพื่อนของเขาชวนให้เข้าไปฟังปู่ Buffett พูดเรื่องหลักการลงทุนพื้นฐาน เผื่อจะมีวิธีหารายได้เพิ่มจากทุนการศึกษาที่ได้

แต่ตัว Li Lu กลับเข้าใจว่าเพื่อนชวนให้ไปกิน ‘บุฟเฟ่ต์’ ฟรี ซึ่งจะทำให้เขาประหยัดเงินทุนการศึกษาที่เหลืออยู่น้อยนิดต่อไปได้อีก เขาจึงตกปากรับคำชวนของเพื่อนไปด้วยความเข้าใจผิดล้วนๆ

สุดท้ายโชคชะตาก็ทำให้เขาก็ได้ฟังปู่ Buffett พูดในปี 2536 และเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงนั้นก็ได้ ‘เปลี่ยนชีวิต’ ของ Li Lu ไปเลย เขาบอกว่าหลักการของปู่ (กลยุทธ์ลงทุนหุ้นแบบ Net-Nets) นั้น “รัดกุม มีเหตุผล และน่าทำตาม”

เพราะหลังจากนั้นไม่ถึงปี เขาก็นำเงินทุนการศึกษาที่เหลืออยู่มาลงทุนในหุ้นตามหลักการที่ได้ฟังมา และหลังเรียนจบในปี 2540 เขาก็ก่อตั้งกองทุนของตัวเองในชื่อ Himalaya Capital ทันทีครับ

ตั้งกองทุน โดนตลาดหุ้นรับน้อง ก่อนฉายแววอัจฉริยะ

Li Lu ก่อตั้งกองทุน Himalaya Capital ขึ้นในปี 2540 ด้วยเงินที่เขากู้ยืมมาจำนวน 300,000 ดอลลาร์สหรัฐในสมัยนั้น

คุณสังเกตอะไรไหมครับ ปี 2540 เป็นปีที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี ซึ่งทำให้กองทุนของเขาต้องขาดทุน -19% ตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้ง

เรียกได้ว่า โดนตลาดหุ้น ‘รับน้อง’ ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มอาชีพสายการลงทุนกันไปเลย

แต่ Li Lu ไม่ยอมแพ้ครับ เขาเดินหน้าหาหุ้นตามกลยุทธ์ Net-Nets ของ Benjamin Graham เพื่อลงทุนไปเรื่อยๆ จนเจอกับขุมทรัพย์หุ้น 10 เด้งตัวแรก ในที่ที่คุณยากจะนึกถึง นั่นคือหุ้นบริษัทน้ำมัน Lukoil ของรัสเซียครับ

เพราะในช่วงนั้นรัสเซียเพิ่งก่อตั้งขึ้นหลังสหภาพโซเวียดล่มสลาย บริษัทน้ำมันที่เคยเป็นของรัฐก็ถูกแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน รัฐบาลแจกใบหุ้นให้ประชาชนที่สนใจ

แต่ด้วยความที่รัสเซียเพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จึงไม่มีใครรู้ว่า ‘หุ้น’ คืออะไร มีค่าแค่ไหน และรัสเซียในสมัยนั้นยังไม่มีแม้แต่ตลาดหุ้นให้ซื้อขายหุ้นเลย

เมื่อไม่มีใครรู้คุณค่า หุ้นบริษัทน้ำมันของหุ้นรัสเซียหลายตัวจึงมีราคาถูกมากๆ ไม่ต่างจากกระดาษเปล่า และ Li Lu ก็ไปหาซื้อใบหุ้นมาจนได้จำนวนที่เขาพอใจ

ถามว่าหุ้นรัสเซียถูกขนาดไหน เขาได้เล่าย้อนไปว่า “ลืมเรื่องกำไรไปก่อน บริษัทน้ำมันรัสเซียเหล่านี้ซื้อขายกันที่ราคา 1 เซนต์ต่อมูลค่าสินทรัพย์ 1 ดอลลาร์เท่านั้น นี่ยังไม่รวมกำไรของบริษัทเลยนะ”

ตลอดการลงทุนของ Li Lu เขาเจอกับหุ้นคุณภาพดีจำนวนมากที่ถูกตลาดหุ้นไม่สนใจ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาทำกำไรได้ เช่น หุ้นของบริษัทเสื้อผ้า Timberland ซึ่งทำกำไรให้เขาถึง 6 เท่าในเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้นครับ

บางแหล่งข้อมูลระบุว่ากองทุน Himalaya Capital ของเขาทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 30% ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2540 และในปัจจุบันกองทุนของเขามีมูลค่า AUM มาก 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ก็ถือเป็นสถิติผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงมากๆ ครับ

หลักการลงทุน (ที่เข้มข้นกว่าปู่ Buffett)

ถ้าหลักการลงทุนของปู่ Buffett คือ ‘ซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยม ในราคาที่เหมาะสม’

หลักการลงทุนของ Li Lu ก็คงจะเป็นการ ‘ซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยม ในราคาถูกสุดๆ’ เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสทำกำไรในระยะยาวครับ

โดยเขาเคยอธิบายหลักการลงทุนของเขาไว้อย่างละเอียด ซึ่งพอจะสรุปออกมาให้คุณได้ศึกษากันดังนี้ครับ

ลงทุนระยะยาว: เขาเน้นลงทุนหุ้นในระยะยาวหลายสิบปี และมักมองหาบริษัทขนาดกลาง-เล็กที่เขาเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ มีทีมผู้บริหารที่ดี มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และจะเติบโตไปได้อีกนาน

ซื้อหุ้นที่มี Margin of Safety: จุดที่ทำให้หลักการลงทุนของ Li Lu ดุดันกว่าของปู่ Buffett คือ ถ้าเจอหุ้นคุณภาพดีแล้ว เขาพร้อมจะอดทนรอให้ราคาหุ้นตกลงมาจนถึงจุดที่เขาพอใจแล้วเท่านั้นถึงจะลงทุน ต่างจากปู่ Buffett ที่ยินดีซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม

ลงทุนแบบโฟกัส: จากข้อที่แล้ว ถ้าหุ้นที่เขาเล็งไว้ราคาตกลงมาถึงเกณฑ์ที่เขาพอใจ เขาก็พร้อมจะลงทุนแบบ ‘ใส่ไม่ยั้ง’ ด้วยเงินจำนวนมหาศาล เพราะโอกาสที่จะเจอ ‘หุ้นคุณภาพดี ราคาถูก’ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ

หาความรู้เพิ่มอยู่เสมอ: Li Lu บอกว่าเขาชอบหาความรู้เรื่องธุรกิจหรือหาหุ้นในประเทศใหม่ๆ ที่เขาไม่รู้จักอยู่เสมอ เพื่อขยายขอบเขตความสามารถของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เขาเจอโอกาสลงทุนดีๆ เยอะขึ้น

อีกข้อได้เปรียบของ Li Lu คือ เขาเป็นคนจีนโดยกำเนิดจึงเข้าใจภาษาจีนเป็นอย่างดี และทำให้เขาหาโอกาสลงทุนจากตลาดหุ้นจีนได้สะดวกกว่านักลงทุนสาย VI คนอื่นๆ

ซึ่งก็เป็น Li Lu นี่แหละที่แนะนำให้ปู่ Buffett และ Munger รู้จักกับหุ้น BYD ยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ EV ของจีน ซึ่งทำกำไรก้อนโตให้กับ Berkshire Hathaway ในปัจจุบัน และตัว Li Lu ก็ลงทุนหุ้น BYD อยู่ด้วย

และกองทุน Himalaya Capital ของเขาก็เป็นกองทุนเดียวนอกเหนือจาก Berkshire Hathaway ที่ปู่ Munger เอาเงินของตัวเองไปลงทุนด้วย เพราะยอมรับในความสามารถ

โดยปู่ Munger เคยพูดถึง Li Lu ไว้ว่า “ผมอ่านนิตยสาร Barron’s มาเกือบ 50 ปี ผมเจอโอกาสการลงทุนดีๆ แค่ครั้งเดียวและได้กำไรมา 80 ล้านดอลลาร์ ต่อมาผมเอาเงิน 80 ล้านดอลลาร์ไปให้ Li Lu ลงทุนต่อ และเขาทำกำไรให้ผมได้ 400 หรือ 500 ล้านดอลลาร์”

แค่เท่านี้ คุณก็น่าจะพอเห็นภาพความเป็นอัจฉริยะด้านการลงทุนของ Li Lu ที่ขนาดว่านักลงทุนที่มั่งคั่งที่สุดในโลกยังให้การยอมรับ

ถึงแม้ในโลกการลงทุน เราจะไม่ค่อยได้ยินชื่อของ Li Lu ปรากฏตามหน้าสื่อมากนัก แต่นักลงทุนสาย VI ที่เก่งๆ หลายคนกลับให้การยอมรับในฝีมือการลงทุนของเขา

แต่มุมมองต่อการลงทุนของ Li Lu นั้นน่าศึกษา เพราะเขานำหลักการลงทุนจากทั้ง Warren Buffett และ Charlie Munger มาต่อยอด แถมยังขยันหาหุ้นในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อขยายขอบเขตความรู้ของตัวเองอีกด้วย

ถือเป็นคุณลักษณะที่นักลงทุนสาย VI ที่ประสบความสำเร็จมักจะมีร่วมกันครับ คือ แน่วแน่ในหลักการลงทุน มองทุกอย่างในระยะยาว และหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
ซึ่งคุณเองก็นำมาใช้เป็นแบบอย่างในการลงทุนได้เช่นกัน
ขอให้มีความสุขในการลงทุนครับ