สงครามการค้าเกิดจุดพลิกผันที่คาดไม่ถึง เมื่อรัฐบาลจีนอาจสั่ง “แบน” การส่งออกเทคโนโลยีผลิต “แผงโซลาร์” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จีนเป็นผู้นำตลาด โดยมีส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 75% ของซัพพลายเชนทั่วโลก หากเกิดการแบนขึ้นจริง จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของฝั่งตะวันตกต้องสะดุดและชะลอตัวลง
การแบนส่งออกเทคโนโลยี “แผงโซลาร์” ของจีนเป็นกลยุทธ์ที่เสมือนเป็นการเอาคืนสงคราม “ชิป” ของฝั่งตะวันตก ก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาพยายามจะทำให้การพัฒนาชิปของประเทศจีนชะลอตัวลง ด้วยการสั่งห้ามส่งออกเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาชิปเซ็ตขั้นสูง
ขณะที่แนวทางของรัฐบาลจีนนั้นยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่สื่อต่างๆ ในจีนรายงานการคาดการณ์ว่า จะมีการห้ามส่งออกเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตองค์ประกอบของแผงโซลาร์ เช่น เวเฟอร์ขนาดใหญ่ แบล็กซิลิคอน แท่งซิลิคอนอินก็อตประสิทธิภาพสูง
ข้อมูลของสำนักงานพลังงานนานาชาติจะระบุว่า จีนเป็นผู้นำในซัพพลายเชนทุกๆ ด้าน โดยมีส่วนแบ่งตลาด 79% ในภาคการผลิตแผงโซลาร์โพลีซิลิคอน 97% ในการผลิตเวเฟอร์สำหรับผลิตโซลาร์ และ 85% ในการผลิตเซลล์โฟโตโวลตาอิก
ด้านความเคลื่อนไหวของฝั่งตะวันตกนั้น ก่อนหน้านี้มีการผลักดันการผลิตแผงโซลาร์ในบ้านตัวเองให้ได้มากขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ อัดฉีดสิทธิพิเศษทางภาษีให้กับบริษัทที่ต้องการลงฐานผลิตเซลล์โฟโตโวลตาอิกภายในสหรัฐฯ รวมถึงมีโครงการเงินกู้และเงินให้เปล่าจากรัฐในการผลิตโซลาร์ด้วย ส่วนสหภาพยุโรปก็กำลังพิจารณาที่จะทำแบบเดียวกัน
- ‘ไบเดน’ เว้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก ‘ไทย’ 2 ปีหนุนผลิตพลังงานสะอาด
- ไม่ง้อ! ‘ออสเตรเลีย’ ได้ ‘อินเดีย’ ตลาดส่งออกใหม่หลังถูก ‘จีน’ กีดกัน
ดังนั้น เมื่อจีนจะตอบโต้ด้วยการสั่งแบนการส่งออกเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต จึงเป็นปัญหาของฝั่งตะวันตก แต่สำนักข่าว Reuters วิเคราะห์ว่า ปัญหานี้ไม่ได้ยากลำบากเสียจนก้าวข้ามผ่านไปไม่ได้ เพียงแต่จะชะลอการพัฒนาของทางตะวันตกให้ช้าลง และใช้ต้นทุนที่แพงขึ้นเท่านั้น เนื่องจากฝั่งตะวันตกเองก็มีหลายบริษัทที่มีสิทธิบัตรด้านเซลล์โฟโตโวลตาอิกและมีความเชี่ยวชาญด้านโซลาร์ เช่น Applied Materials, Enel, NorSun
ต้นทุนการลงทุนผลิตโซลาร์เองนั้นค่อนข้างสูงทีเดียว เพราะจะต้องใช้เงินทุนถึง 1,000 ล้านยูโรสำหรับการเพิ่มกำลังผลิตแผงโซลาร์ทุกๆ 1 กิกะวัตต์ และขณะนี้ยุโรปมีกำลังผลิตเซลล์โฟโตโวลตาอิกแค่ 10 กิกะวัตต์เท่านั้น เทียบกับประเทศจีนที่ผลิตได้ถึง 300 กิกะวัตต์!
เมื่อจีนสกัดกั้นแบบนี้ ต้นทุนก็จะยิ่งสูงขึ้น และต้องใช้เวลานานขึ้นในการตั้งฐาน จากปกติการเริ่มผลิตโพลีซิลิคอนก็ต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ปีอยู่แล้ว และจะสร้างซัพพลายเชนโซลาร์ให้ได้ครบสมบูรณ์ก็อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น 4 เท่าตัว
Reuters สรุปว่า การสั่งแบนส่งออกเทคโนโลยีโซลาร์ของจีนนั้น จะไม่ทำให้โครงการไปสู่โลกแห่งพลังงานสะอาดของตะวันตกต้องหยุดชะงักงัน แต่จะทำให้เคลื่อนไปได้ช้าลงแน่นอน