แกะสูตร “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” เจ้าของ “จ๊อดแฟร์” ปั้น “ตลาดนัดกลางคืน” อย่างไรให้โดน!

จ๊อดแฟร์
ใครๆ ก็ใจหายเมื่อครั้งได้ข่าวว่าตลาดนัดรถไฟรัชดาจะปิดตัวลงช่วงกลางปี 2564 จากพิษโควิด-19 แต่ไม่นานหลังจากนั้นทีมงานฮึดสู้เปิด “จ๊อดแฟร์” ขึ้นแม้โรคระบาดยังไม่จาง โปรเจกต์ที่เหมือนเสี่ยงดวงนี้ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่เที่ยวสุดฮิตชนิดที่เรียกได้ว่า “ตลาดแตก” จากปรัชญาการทำ “ตลาดนัดกลางคืน” ของ “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ก่อตั้งทั้งจ๊อดแฟร์และตลาดนัดรถไฟ

ผู้สื่อข่าวหลายสำนักมีโอกาสได้พบ “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ก่อตั้งจ๊อดแฟร์และตลาดนัดรถไฟ ในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กับทีมจ๊อดแฟร์ โดยตลาดจ๊อดแฟร์นั้นจะย้ายที่จากหลังเซ็นทรัล พระราม 9 มาอยู่ด้านหน้าอาคารมิกซ์ยูสใหม่ของเพอร์เฟค ริมถ.รัชดาภิเษก ใกล้กับ MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567

เรียกว่าเป็นการ ‘กลับถิ่นเก่า’ ก็ไม่ผิดนัก เพราะก่อนหน้านี้ตลาดนัดรถไฟรัชดาก็อยู่ที่หลังศูนย์การค้าเอสพลานาด สถานีเดียวกันนี้เอง

 

เสี่ยงดวงปั้นตลาดใหม่ “จ๊อดแฟร์”

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ข่าวแพร่สะพัดว่าในที่สุด “ตลาดนัดรถไฟรัชดา” จำต้องปิดตัวลงเพราะพิษโควิด-19 ทำเอาแฟนคลับตลาดนัดต่างใจหายว่าอนาคตตลาดจะกลายเป็นแค่ตำนานหรือไม่

ไพโรจน์เล่าย้อนถึงความลำบากในช่วงนั้นว่าร้านค้าเปิดไม่ได้ คนไม่มาเดิน จนจำเป็นต้อง ‘คืนสัญญา’ ทางเอสพลานาด รัชดา เป็นโชคดีที่เจ้าของที่เช่าเข้าใจสถานการณ์และไม่เรียกปรับเงินจากการคืนสัญญาเช่าก่อนกำหนด

“ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ก่อตั้งจ๊อดแฟร์และตลาดนัดรถไฟ

หลังจากนั้นก็พักกิจการไปพักใหญ่ จนมีโอกาสเข้ามาเป็นข้อเสนอพื้นที่เช่าของกลุ่มจีแลนด์ ด้านหลังเซ็นทรัล พระราม 9 ซึ่งจะให้เช่าระยะสั้นเพียง 2 ปี

“ตอนนั้นเราเหมือนไม่ได้ทำอะไรมาเป็นปี แล้วที่ตรงนี้ได้ราคาน่าวัดดวง เป็นราคาที่ถ้าเราเจ็บก็เจ็บน้อย แล้วสัญญาเช่าระยะแค่ 2 ปี ถ้าเป็นช่วงปกติสั้นขนาดนี้เราคงไม่ทำ แต่พอเป็นภาวะโควิด-19 สัญญาระยะสั้นกลับกลายเป็นเหมาะสมเพราะสายป่านทุกคนก็สั้น เราก็เลยลองทำ” ไพโรจน์เปิดใจ

ที่ใหม่มาพร้อมชื่อใหม่ “จ๊อดแฟร์” ซึ่งมาจากชื่อฉายาที่เพื่อนเรียกไพโรจน์ว่า ‘ไอ้จ๊อด’ พร้อมเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ โลโก้ การตกแต่ง เปิดตัวครั้งแรกเดือนธันวาคม 2564

ตลาดจ๊อดแฟร์ หลังเซ็นทรัล พระราม 9

“เปิดมาก็ยังอยู่ท่ามกลางโควิด-19 นะ ช่วงแรกมีร้านเข้าแค่ 70% เอง ไม่เต็มพื้นที่” ไพโรจน์กล่าว แต่ตลาดก็ค่อยๆ ดีขึ้นพร้อมกับจังหวะของโรคระบาด “ผมว่าจ๊อดแฟร์เกิดได้เพราะมันเหมือนเราจุดพลุในที่ที่มันเงียบสนิท เรากล้าทำในช่วงที่ไม่มีใครกล้า”

ปัจจุบันจ๊อดแฟร์เป็นยิ่งกว่าพลุไปแล้ว เพราะลูกค้าเดินกันแน่นเอี้ยดทั้งคนไทยและต่างชาติ พร้อมสถิติจาก Grab การันตี โดยจ๊อดแฟร์นั้นเป็นสถานที่เที่ยวอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ ที่ลูกค้าต่างชาติเรียกรถ Grab ไปมากที่สุด เป็นรองก็แต่เพียงไอคอนสยามเท่านั้น

 

แกะสูตรปั้น “ตลาดนัดกลางคืน”

ประสบการณ์ของไพโรจน์และทีมงานปั้นตลาดนัดกลางคืนกันมากว่า 12 ปีแล้ว เริ่มจากแห่งแรกที่ตลาดนัดรถไฟ จตุจักร ก่อนจะย้ายมา “ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์” ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุด เนื้อที่ถึง 60 ไร่ (*สาขานี้ยังเปิดอยู่ เหลือสัญญาเช่าอีก 6-7 ปี) จากนั้นจึงเข้ากลางเมืองที่ตลาดนัดรถไฟ รัชดา และปิดท้ายที่จ๊อดแฟร์ พระราม 9

จากการทำงานทั้งหมด ทีมของไพโรจน์จึงมีเครือข่ายร้านค้าในมือราว 3,000-4,000 ร้าน คัดเกรดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าระดับ B+ จนถึง A นับเป็นมือทองด้านการติดตลาดนัดของกรุงเทพฯ

ร้านค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องให้เขามากกว่าที่เราเก็บจากเขา

ปรัชญาของไพโรจน์ตลอดเส้นทางสายตลาดนัดคือ “ร้านค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องให้เขามากกว่าที่เราเก็บจากเขา” สะท้อนจากค่าเช่าที่เก็บวันละ 500 บาทต่อล็อกต่อวัน (ล็อกขนาด 2×2 เมตร) ไม่ว่าจะขายดีแค่ไหนก็ไม่ไปเก็บเพิ่ม บางร้านใช้เนื้อที่ 10 ล็อก ค่าเช่าวันละ 5,000 บาท แต่ทำยอดขายได้วันละ 500,000 บาท ก็คือสิ่งที่ได้กับร้านค้าเอง

สิ่งที่ “ให้” กับร้านค้าคืออะไร? Positioning กะเทาะสูตรจากไพโรจน์มาให้ดังนี้

1.ทำเล

ทำเลมาอันดับ 1 ในการสร้างตลาดนัด โดยไพโรจน์บอกตรงๆ ว่าเขาใช้ ‘สัญชาตญาณ’ ในการวัดว่าที่ไหนจะขายได้ เช่น ทำเลใหม่จ๊อดแฟร์ที่ MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ มองแล้วมีคนเดินขวักไขว่สูงมาก และมีคนเดินทุกวัน

“ผมได้กลิ่นเงิน และน่าจะพาร้านค้าเราไปเก็บเงินจากย่านนี้ได้” ไพโรจน์สรุปแบบตรงไปตรงมา

2.สินค้าและหน้าร้าน

จุดสำคัญต่อมาก็คือของขายในตลาด นี่คือเรื่องสำคัญที่ไพโรจน์จะต้อง “คัด” ร้านที่ใช่มาอยู่รวมกัน ใช่ในที่นี้คือร้านต้อง “สวยด้วย อร่อยด้วย”

เพราะในโลกยุคใหม่จะพาคนไปที่ไหนได้ สินค้าและหน้าร้านค้าถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วต้องดึงดูดใจ แต่ไม่ใช่สวยอย่างเดียว หากเป็นของกินก็ต้องอร่อยจริงตรงปกถึงจะยั่งยืน

นอกจากคัดเลือกร้านเข้ามาแล้ว ไม่ใช่ว่าทีมจ๊อดแฟร์จะปล่อยให้ร้านดิ้นรนเอง เพราะจะมีทีมงานคอยดูแลร้านที่ยอดขายไม่ดี ทีมจะให้คำแนะนำในการปรับปรุงส่วนไหนที่จะทำให้ขายดีขึ้น

เขายังย้ำด้วยว่า สินค้าที่เข้ามาขายจะต้องเน้น “คนไทย” ก่อน ส่วนต่างชาติเขาจะตามมาเอง เพราะถ้าต่างชาติจะสนใจก็เพราะความเป็นตลาดสไตล์ไทยที่คนไทยเองก็นิยม

จ๊อดแฟร์
ตัวอย่างร้านค้าในจ๊อดแฟร์ ต้องมีการตกแต่งให้ดูดี
3.จัดพื้นที่ ทางเดิน ที่นั่ง

อีกจุดที่ไพโรจน์เน้นคือ “คนต้องเห็นคน” ความหมายคือ การมาเดินตลาดนัดไม่ใช่แค่มาหาซื้อของ แต่หลายคนมาเพื่อดูคนในตลาด

ดังนั้น การจัดผัง ทางเดิน ที่นั่ง ต้องเหมาะสม จำนวนที่นั่งต้องเพียงพอให้คนได้นั่งพักหรือทานอาหาร ขณะเดียวกันผังทางเดินก็ต้องทำให้รู้สึกว่าคนมาเยอะ บรรยากาศคึกคัก

จ๊อดแฟร์
“คนต้องเห็นคน” บรรยกาศต้องเห็นว่าคึกคัก
4.ศิลปะการตกแต่ง

เรื่องนี้เป็นหมัดเด็ดอีกอย่างของทีมตลาดรถไฟ เพราะหลายตลาดนัดไม่ได้ใส่ใจเรื่องศิลปะเท่ากับตลาดนี้ ดังที่เห็นว่าตลาดของไพโรจน์แต่ละแห่งจะมีคอนเซ็ปต์ มีธีม จัดทำโลโก้สวยๆ ตกแต่งบริเวณให้ดูดี เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องถ่ายรูป

ทั้งหมดคือเคล็ดวิชาที่มือทองปั้นตลาดนัดกลางคืนเผยไต๋ แถมยังแย้มด้วยว่าปีนี้ทีมจ๊อดแฟร์จะมีตลาดนัดใหม่อีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยจะเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ไม่เหมือนเดิม แต่ที่เหมือนเดิมคืออยู่ในทำเลทองใกล้สถานีรถไฟฟ้าแน่นอน!

ขอบคุณภาพจาก Facebook@JoddFairs