“เอพี” ปี 2566 ตั้งเป้าเปิดตัว 58 โครงการ 77,000 ล้านบาท รุกเซ็กเมนต์ใหม่ “บ้านหรู 100 ล้าน”

  • วางแผนเปิดตัวแบบดุดัน ไม่เกรงใจใคร “เอพี” ปี 2566 จะเปิดตัวทั้งหมด 58 โครงการ มูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาท สูงที่สุดในตลาดอสังหาฯ
  • ปีนี้ยังคงเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก และจะมีการรุกช่องว่างเซ็กเมนต์หรือโปรดักส์ที่บริษัทไม่เคยพัฒนา เช่น บ้านเดี่ยวหรูราคาแตะ 100 ล้านบาท
  • เปิดแนวคิด “อินเฮาส์ สตาร์ทอัพ” ระดมนวัตกรปั้นธุรกิจใหม่ต่อยอดให้บริษัท ประเดิมธุรกิจแรก “FitFriend” เทรนเนอร์เดลิเวอรี อนาคตต้องการให้กลุ่มธุรกิจนี้ช่วยให้พอร์ตสมดุล

“วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2565 และแผนธุรกิจปี 2566 ของบริษัทที่กำลังเป็นขาขึ้นหลังผ่านช่วงโควิด-19 มาได้

โดยปี 2565 บริษัทเปิดตัวไป 51 โครงการ มูลค่ารวม 63,600 ล้านบาท ทำยอดขาย 50,415 ล้านบาท และคาดว่าจะปิดยอดโอนที่ 48,000 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดและสูงกว่าช่วงปี 2562 (ก่อนโควิด-19)

สำหรับ ปี 2566 เอพีจะทำสถิติเติบโตต่อเนื่องในทุกด้าน โดยวางเป้าหมาย ดังนี้

  • เป้าหมายเปิดตัว 58 โครงการ มูลค่ารวม 77,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21% YoY)
  • เป้าหมายยอดขาย 58,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 15% YoY)
  • เป้าหมายรับรู้รายได้ 57,500 ล้านบาท
เอพี 2566
เป้าเปิดตัวโครงการเอพี 2566

แผนการเปิดตัวโครงการ 58 โครงการ แบ่งตามโปรดักส์ต่างๆ ได้แก่

  • บ้านเดี่ยว 22 โครงการ 34,800 ล้านบาท
  • ทาวน์โฮม 27 โครงการ 26,400 ล้านบาท
  • คอนโดฯ 4 โครงการ 11,800 ล้านบาท
  • ต่างจังหวัด 5 โครงการ 4,000 ล้านบาท (เป็นโครงการแนวราบทั้งหมด)

 

ขยายจับตลาดที่ยังมีช่องว่าง

การขยายตัวของเอพีนั้นนอกจากจะจับตลาดเดิมที่พัฒนาอยู่แล้ว ยังมีการขยายไปจับตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีก่อนด้วย แบรนด์ใหม่ที่เปิดตัวเมื่อปีก่อน เช่น “พลีโน่ทาวน์” เป็นโครงการมิกซ์โปรดักส์แนวราบในกลุ่มราคา 1.7-3.6 ล้านบาท หรือแบรนด์ “โมเดน” บ้านเดี่ยวราคา 3-5 ล้านบาท ถือเป็นการลงมาเล่นในตลาดกลางล่างซึ่งเอพีไม่ค่อยได้พัฒนาในระยะหลัง

วิทการกล่าวว่า ปี 2566 จะยังคงเห็นภาพการขยายตัวของเอพีในตลาดใหม่อีก เช่น บ้านเดี่ยวในกลุ่มลักชัวรีจนถึงซูเปอร์ลักชัวรี จะบุกด้วยแบรนด์ “บ้านกลางกรุง” เป็นบ้านเดี่ยว 4-5 ชั้น ทำเลในเมือง ราคา 30-50 ล้านบาท และ “เดอะ พาลาซโซ” บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ ราคา 70-100 ล้านบาท

THE CITY จรัญ-ปิ่นเกล้า โครงการที่จะเริ่มมีบ้านเดี่ยวขนาดที่ดิน 100 ตร.ว.

รวมถึงมีการปรับโปรดักส์แบรนด์ “THE CITY” ซึ่งปกติเป็นบ้านเดี่ยวที่ดินเฉลี่ย 54 ตร.ว. มาเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ดินขนาด 100 ตร.ว. ปั้นราคาขาย 25-40 ล้านบาท

ถือเป็นการขยับขึ้นไปในตลาดหรูยิ่งขึ้น เพราะปกติเอพีเคยพัฒนาบ้านแพงที่สุดคือราคา 50 ล้านบาท และส่วนใหญ่บ้านหรูเอพีจะมีราคา 20 ล้านบาทบวกลบ ปีนี้จึงเป็นปีที่เอพีจะเข้าตลาดหรูชัดเจนมากขึ้น

“ตลาดบ้านเดี่ยวกลุ่มที่เราถนัดจริงๆ คือราคา 7-20 ล้านบาท แต่เมื่อกลุ่มลักชัวรีราคามากกว่า 20 ล้านบาทขายดี ตลาดนี้ปีก่อนมียอดขายรวมทะลุ 2 หมื่นล้านบาท และผู้เล่นรายใหญ่มีเพียง 2-3 ราย เราจึงต้องบุกเข้าตลาดนี้ให้มากขึ้น โดยเราเริ่มชิมลางไปบ้างแล้วเมื่อปีก่อนและลูกค้าให้การตอบรับดี ทำให้มีความมั่นใจที่จะไปต่อ” รัชต์ชยุตม์ นันทโชติโสภณ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยว กล่าว

ทีมผู้บริหาร เอพี ไทยแลนด์

อีกกลุ่มช่องว่างที่เอพีจะยิ่งรุกหนักคือ “บ้านแฝด” ซึ่งจะรุกด้วยสองแบรนด์ คือ “แกรนด์ พลีโน่” บ้านแฝด 2 ชั้น ราคา 6-8 ล้านบาท และ “บ้านกลางเมือง THE EDITION” บ้านแฝด 3 ชั้น ราคา 8-12 ล้านบาท เป็นกลุ่มตลาดที่ผู้เล่นมีน้อยราย ขณะที่เอพีเห็นว่ามีผู้บริโภครออยู่ เป็นลูกค้าที่ต้องการขยับขยายแต่งบอาจจะมีไม่ถึงบ้านเดี่ยว บ้านแฝดจึงตอบโจทย์มากกว่า

 

“คอนโดฯ” ฟื้นแล้ว ปีนี้เปิดอีก 4 โครงการ

ด้านตลาดคอนโดฯ ที่ฟุบไปในช่วงโควิด-19 ตัวเลขจากเอพีระบุยอดพรีเซลปี 2565 เฉพาะคอนโดฯ พุ่งขึ้นมาที่ 11,440 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) เคยมียอดขายคอนโดฯ 14,438 ล้านบาท นับว่าปีก่อนทำยอดได้ใกล้เคียงฐานตลาดก่อนโรคระบาด สะท้อนการกลับมาของตลาดคอนโดฯ

ไลฟ์ พหล-ลาดพร้าว

ปี 2566 เอพีจึงมีแผนจะเปิดตัวคอนโดฯ ใหม่อีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 11,800 ล้านบาท ดังนี้

1.ไลฟ์ พหล-ลาดพร้าว (*) มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท จำนวน 598 ยูนิต เปิดพรีเซลเดือนมิถุนายนนี้ โดยเป็นคอนโดฯ เริ่มก่อสร้างก่อนขาย ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 45%
2.ริธึ่ม ทำเลตรงข้ามไอคอนสยาม (*) มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท จำนวน 584 ยูนิต
3.แอสไปร์ วิภา-วิคตอรี มูลค่าโครงการ 2,300 ล้านบาท จำนวน 593 ยูนิต
4.แอสไปร์ เกษตร-พหล 49 มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท จำนวน 622 ยูนิต

(*) = JV กับมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป จากญี่ปุ่น

 

“เอพี” ปั้นธุรกิจใหม่ แหล่งรายได้อนาคตระยะยาว

วิทการยังกล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญในระยะยาวของบริษัทคือการ “Hatch the New Business” ผ่านการส่งเสริมนวัตกรในบริษัท สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ในลักษณะ “อินเฮาส์ สตาร์ทอัพ” สร้างไอเดีย ทดลองทำโปรโตไทป์ เพื่อหาธุรกิจใหม่ที่ไปต่อได้

โดยคอนเซปต์การหาธุรกิจใหม่ของเอพีจะต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมนั่นคือ “การอยู่อาศัย” เพื่อให้เป็นการต่อยอดซึ่งกันและกัน

เมื่อปี 2565 บริษัทมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่อย่างแรกออกมาคือ “FitFriend” เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมและจองเทรนเนอร์เดลิเวอรีไปสอนส่วนตัวให้ที่บ้าน ซึ่งตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19 ที่คนไม่นิยมเข้าฟิตเนส และทำให้แพลตฟอร์มนี้มีเครือข่ายเทรนเนอร์มากกว่า 100 คน ทำยอดขายเฉลี่ย 8 แสนบาทต่อเดือน เป้าหมายปีนี้ต้องการผลักดันยอดขายไปถึง 1-1.5 ล้านบาทต่อเดือน และจะเริ่มทำกำไรสะสมได้ทันทีเพราะต้นทุนไม่สูง รวมถึงจะมีการผลักดันธุรกิจอื่นๆ ออกมาอีก

“คุณอนุพงษ์ (อัศวโภคิน ซีอีโอของเอพี) ให้แนวทางไว้ว่า อยากให้พอร์ตธุรกิจใหม่ของเอพีเติบโตจนสามารถบาลานซ์กับธุรกิจอสังหาฯ ดั้งเดิมได้ อนาคตระยะยาวอยากให้เป็นครึ่งหนึ่งของพอร์ต” วิทการกล่าว “ส่วนเป้าหมายระยะกลาง 5 ปีจากนี้ ธุรกิจใหม่น่าจะทำรายได้ได้ 300-500 ล้านบาท”

เป็นแนวทางธุรกิจที่น่าสนใจ ในขณะที่อสังหาฯ รายอื่นนิยมแตกไลน์ไปในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการหาที่ดินและการก่อสร้าง เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม คลังสินค้า ฯลฯ แต่เอพีมองโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต และต้องใช้เวลาในการสร้างฐานเพื่อทำกำไร