“ฮันมีเดีย” The Content Hunter The Connection Power

“ถ้าเราขายให้ หากมีปัญหากับเซ็นเซอร์ของจีน เราก็จะได้รับแจ้งให้แก้ไขได้อีก แต่ถ้าขายให้กับคนอื่นๆ หากไม่ผ่านเซ็นเซอร์เรื่องนั้นก็อาจไม่ได้ฉายที่เมืองจีนอีกเลย” “วนิดา บุญประเสริฐวัฒนา” ผู้จัดการอาวุโสด้านการจัดจำหน่าย ของบริษัทฮันมีเดีย คัลเจอร์ จำกัด ผู้ส่งออกและนำเข้าคอนเทนต์บันเทิง เล่าให้ฟัง ถึงที่มาว่าเพราะเหตุใดละครไทยส่วนใหญ่ที่ไปเมืองจีน จึงเป็นฝีมือของฮันมีเดีย

อย่างค่ายเอ็กแซ็กท์ส่วนใหญ่ก็ไปกับฮันมีเดียมาแล้วและมีสัญญากันต่อเนื่องอีกหลายปี นอกจากนี้ยังมีค่าย 7 สี อาร์เอส และช่อง 9ที่อยู่ในพอร์ตของฮันมีเดียรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 15เรื่อง

โอกาสที่กองเซ็นเซอร์ของจีนมีให้กับฮันมีเดียนั้น มาจากการทำธุรกิจที่ต่อเนื่องกันมายาวนานและส่วนสำคัญคือคอนเนกชั่นที่ประธานบริษัทคือ “ลี ยอง กัง” ในฐานะนักธุรกิจชาวจีนที่มีถิ่นฐานเดิมในเมืองจีนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ของจีนจำนวนมาก

ภาพของธุรกิจนี้เปลี่ยนไปมาก “วนิดา” ย้อนหลังให้ฟังว่า หากเป็นช่วง 3-4ปีที่แล้ว ส่งออกละครสักเรื่องหนึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากแล้ว เพราะแต่ละปีรัฐบาลจีนมีโควต้าให้ละครแต่ละประเทศไม่เท่ากัน เมื่อจีนเปิดกว้างละครจากชาติอื่นเพื่อสร้างสมดุลกับละครจากเกาหลี จึงเป็นโอกาสของละครไทย

จุดเปลี่ยนของวงการและสำหรับฮันมีเดียนั้น “วนิดา” บอกว่ามาจากการนำละครเรื่อง “เลือดขัตติยา” ของค่ายเอ็กแซ็กท์ไปฉายที่สถานีโทรทัศน์หูหนาน เมื่อปี 2555และตามด้วย “สงครามนางฟ้า” ในสถานีโทรทัศน์อานฮุย ในปี 2552ซึ่งทั้งสองสถานีเป็นทีวีของมณฑลที่มีผู้ชมนับร้อยล้านคน

ทั้งสองเรื่องถูกใจผู้ชมชาวจีน เพราะเริ่มด้วยหน้าตาของพระเอกที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างป้อง ณวัฒน์ คือหล่อดูร้าย และติ๊ก เจษฎาภรณ์ หล่อดูอบอุ่น และเนื้อเรื่องที่ต่างกันสุดขั้วทั้งสองเรื่อง ทำให้ผู้ชมเห็นว่าละครไทยมีหลายมิติ หลากหลายให้เลือกชม ซึ่งในแบบที่ชาวจีนชอบเป็นเรื่องรักโรแมนติก ดราม่ามากที่สุด

ส่วนเนื้อเรื่องที่เสี่ยงต่อการไม่ผ่านเซ็นเซอร์ คือเรื่องผีความเชื่อไสยศาสตร์ เพราะรัฐบาลจีนไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดความงมงาย เรื่องการแสดงออกของเกย์ หรือคนข้ามเพศ เรื่องคนในเครื่องแบบที่ทำความเลว เรื่องความรุนแรงชนิดเลือดสาด ล่าสุดมีข้อห้ามเรื่องเกี่ยวกับข้ามภพ ข้ามชาติ ซึ่งแต่ละปีจะมีข้อห้ามต่างกัน ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางและส่งต่อมาให้แต่ละมณฑลปฏิบัติต่อ

สำหรับโมเดลของธุรกิจนี้เริ่มตั้งแต่ฮันมีเดียเลือกเรื่อง ซื้อจากผู้ผลิต คุยกับทางการจีนผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ซึ่งฮันมีเดียมีโอกาสนำเสนอได้ทั้ง สถานีโทรทัศน์ CCTV สถานีโทรทัศน์ระดับมณฑลหลายแห่ง เช่น อานฮุย หูหนาน มีการเสนอเรื่องย่อความยาวประมาณ 3-5นาที เขียนเรื่องย่อ 5-6 บรรทัด และเมื่อต้องส่งถึงกองเซ็นเซอร์จะต้องพากย์ไปให้เรียบร้อย

ปีหนึ่งจีนจะเปิดให้ส่งเรื่องไปเซ็นเซอร์ 2 ครั้งคือช่วงกลางปีและต้นปี หากผ่านเซ็นเซอร์ก็เตรียมโปรโมต ที่หากเป็นสถานีเอกชนของมณฑลจะมีกิจกรรมมากกว่า CCTVที่เป็นของรัฐบาลกลาง ซึ่งต้นทุนที่เกิดขึ้นมาจากค่าซื้อเรื่องจากค่าผลิตและการเตรียมการอย่างละครึ่ง

ในวงการนี้นอกจากฮันมีเดียแล้ว ยังมีอีกนับสิบบริษัทที่กำลังเข้ามาในธุรกิจนี้ ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินที่เข้าประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปีหนึ่งไม่กี่ล้านบาท เพิ่มเป็นหลักสิบล้านบาท และอาจถึง 100ล้านบาทได้ในปีหน้า จากเดิมที่ธุรกิจบันเทิงไทยแทบจะไม่มีรายได้จากส่วนนี้มาก่อน

ในการแข่งขันที่มีผู้เล่นมากขึ้น “วนิดา” มองว่าาจุดที่จะเป็นอุปสรรคให้อุตสาหกรรมนี้ชะงักคือการเริ่มมีการปั่นราคาและการนำเสนอเรื่องที่ไม่มีคุณภาพไปจีน ที่อาจทำให้ทางการจีนลดโควต้านำเข้าคอนเทนต์บันเทิงโดยเฉพาะละครจากไทยลงได้

อย่างไรก็ตาม กระแส T-Popที่แรงในขณะนี้ ทำให้ฮันมีเดียวางแผนขยายธุรกิจนี้ออกไปอีกด้านหนึ่ง โดย “เรย์ ลี” ผู้จัดการฝ่ายบริหารศิลปินและการผลิต ของฮันมีเดีย คัลเจอร์ บอกว่า แผนของเขาคือการสร้างศิลปินของตัวเอง และการร่วมลงทุนผลิตละครหรือหนังกับค่ายบันเทิงและมีเดียของจีน เพื่อการสร้างรายได้ในระยะยาว

“เรย์” บอกว่าเขาวางแผนที่จะปั้น “โดม ปกรณ์ ลัม” เป็นดาราในสังกัดของฮันมีเดีย ให้เป็นซูเปอร์สตาร์ของเอเชีย

จุดนี้มาจากความมั่นใจว่าเขาและทีมมองเห็นว่า T-Popจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้อย่างแน่นอน