สุหฤท สยามวาลา กรรมการผู้จัดการ DHAS เชื่อว่า สิ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นอย่างทุกวันนี้ เริ่มมาจากคุณพ่อของเขา
“คุณพ่อผมไม่เคยสอนว่าต้องเป็นอย่างไร แต่พยายามให้เป็นตัวของตัวเอง เพียงแต่ว่าต้องมีขอบเขต บางอย่างที่ผมทำออกไปคุณพ่อก็ไม่เห็นด้วย แต่คุณพ่อก็จะไดรฟ์ว่าจะเป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น แต่อย่าเลยเถิด เบสิกก็คือคุณอย่าไปทำอะไรที่มันเน่าเสียออกมาในแง่ลบเละเทะ”
สิ่งที่พ่อสอน กับสิ่งที่สุหฤทใช้เป็นหลักในการบริหารองค์กรจึงไม่ต่างกัน กฎขององค์กรทำหน้าที่ของตัวเองและไม่ล้ำเส้นในการทำอะไรเพื่อทำลายองค์กร แต่สิ่งที่คิดสำเร็จแค่ไหนอยู่ที่การขับเคลื่อนด้วยสมอง สองมือ และสองเท้าที่จะนำทุกอย่างไปตามฝัน ขณะที่อีกใจ เขาก็ยอมรับตามที่พ่อสอนไว้ด้วยว่า ไม่ว่าจะอย่างไรฝีมือทางธุรกิจก็มีผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นแค่ 30% ส่วนอีก 70% อยู่ที่ดวงจะพาไป
“เก่งแทบตายแต่ดวงไม่มาก็ไม่ไป แต่ถึงเชื่อแบบนี้ ผมก็ไม่ชอบดูดวง เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาแล้ว”
หลักการง่ายๆ สำหรับองค์กรคือแนวทางที่ทำให้คนในองค์กรเกิดความสุข แต่หลักทำงานส่วนตัวที่กำหนดไว้สำหรับตัวเองจะเน้นที่ความพร้อม ไม่ว่าจะทำงานดึกดื่นแค่ไหน แต่ทุกเช้าที่มาถึงที่ทำงาน “ต้องสด”
“เช้าแปดโมงแปดโมงครึ่ง มาถึงต้องพร้อม เพราะมีคนจำนวนมากรอการตัดสินใจ ถ้าไม่พร้อมเราอาจจะตัดสินใจผิด เพราะฉะนั้นต้องพร้อมเสมอ ยิ่งทำงานเยอะก็ยิ่งต้องจัดการเวลาให้ดี”
ความผิดพลาดของการตัดสินใจของสุหฤท กินความหมายไปถึงเรื่องในครอบครัว ซึ่งลูกๆ 3 คน วัย 4 ขวบ 6 ขวบ และ 8 ขวบ อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงที่เขาจะปล่อยให้เกิดข้อผิดพลาดโดยการหลุดไปจากชีวิตลูกไม่ได้เช่นกัน เป็นสาเหตุให้เขาต้องตัดใจงดกิจกรรมทุกอย่างในวันเสาร์อาทิตย์เพื่ออยู่กับลูกๆ จนเบื่อกันไปข้างหนึ่ง
ส่วนเวลาหลังเลิกงานยกให้กับงานเพลง เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่เขาจะชอบตัดสินใจเร็ว ประชุมก็สรุปให้ไวไม่ยืดเยื้อเพื่อรีบเอาเวลาไปทำอีกงานที่รัก และใช้ทุกเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเรื่องการหาความรู้เพิ่มเติมในการทำงาน
“แหล่งความรู้ของผมอันดับแรกคือโต๊ะอาหารกลางวัน พี่น้องอยู่ด้วยกันสี่คนกินข้าว อันนี้เป็นแหล่งความรู้อันดับแรก ที่ออฟฟิศนี่แหละครับ อันดับที่สองคือเวลาไปประชุมข้างนอก นั่งรถผมจะซื้อหนังสือมาอ่าน ฟังเพลงไปก็นั่งอ่านหนังสือไป เสริมในสิ่งที่ผมอ่อนอย่างด้านการเงิน การจัดการ ไอเดียการตลาดอื่นๆ ที่จะเข้ามาเสริม หรือไม่ก็ออกไปสัมมนาเพื่อกระตุ้นความคิด ไปทุกครั้งก็มีความสุขได้ความรู้ใหม่กระตุ้นความคิดใหม่”
ขณะที่บ่อยครั้งเขาก็ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรงานสัมมนาด้านการขายอยู่บ่อยๆ เช่นกัน
เมื่อแบ่งเวลาชัดเจน ห้องทำงานของสุหฤทจึงเลือกตกแต่งด้วยรถโมเดลของสะสมที่โปรดปรานเท่านั้น ไม่มีเครื่องเสียงเพื่อฟังเพลงในแบบที่ชอบ เวลากลางคืนถึงจะเป็นช่วงทำงานเพลง ก่อนจะเข้านอน เพื่อให้ทุกเช้าเมื่อตื่น ต้องมาทำงานพร้อม “ความสด” ทั้งยังมีเวลาสำหรับ Tweet ทุกวันและเข้า Facebook เป็นประจำ
“เพราะหน้าที่ผมคือการตัดสินใจ ถ้าไม่สดโอกาสผิดพลาดง่าย วิธีทำให้เฟรชทุกเช้า ก็ต้องคิดบวก และไม่กลัวปัญหา”
และหากจะช่วยรักษาความสดให้ตัวเองผ่านทางลูกน้องด้วย ก็ต้องทำให้ทุกคนคิดและแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง นั่นคือทุกคนต้องรู้จักคิดและกล้าตัดสินใจภายใต้หน้าที่ที่รับผิดชอบ
เพียงเท่านี้ชีวิตสองภาคของสุหฤทก็จะเดินต่อไปได้ในแบบที่เขาต้องการ