สูตรลับ ‘กระจายความเสี่ยง’ สร้างผลตอบแทนแสนคลาสสิก

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ปีใหม่ผ่านมาจะเข้าสู่เดือนที่ 3 ของปีแล้ว ไม่ทราบว่าใครได้เริ่มลงมือปฏิบัติ New Year’s Resolution 2023 หรือสิ่งที่ตั้งใจทำในปีนี้กันบ้างแล้วครับ

เท่าที่ผมได้พบปะกับนักลงทุนโดยตรง หรือพูดคุยกันผ่าน social media ต่างๆ ‘การวางแผนลงทุน’ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของใครหลายๆ คนในปีนี้ และสำหรับบางคนอาจเป็นเป้าหมายในทุกๆ ปีด้วยซ้ำ ที่สำคัญเราเห็นแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนมากขึ้น นับเป็นนิมิตหมายที่ดีเลยครับ

ผมเองก็ได้รับคำถามแนว How to เกี่ยวกับการลงทุนจากนักลงทุน New gen มากขึ้น ที่เริ่มสนใจลงทุนจากเงินจำนวนไม่มากมากนัก หรือโอนย้ายจากเงินฝากมาเป็นเงินลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น เป็นโอกาสให้คนหนุ่มสาว วัยทำงาน หรือเพิ่งเริ่มทำงานได้วางแผนการเงิน สร้างวินัยทางการเงิน เพื่อสั่งสมความมั่งคั่งในอนาคต และผมก็ได้รับโจทย์จากนักลงทุนรุ่นใหม่ท่านหนึ่งที่ถามถึงหลักการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน วันนี้เลยมาแบ่งปันข้อมูลและแลกเปลี่ยนมุมมอง ถือเป็นการเล่าสู่กันฟังมากกว่าการเฉลยคำตอบนะครับ เพราะกลยุทธ์ลงทุนของแต่ละคนไม่มีคำว่า ‘ผิด’ หรือ ‘ถูก’

พื้นฐานการกระจายความเสี่ยง

หลักการกระจายความเสี่ยง พูดง่ายๆ ก็คือการจัดสรรพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับ ‘จริต’ ของนักลงทุนแต่ละคนนั่นเองครับ ซึ่งจริตนี้ก็แตกต่างกันไปตามวัย ความรู้ ประสบการณ์ ความชื่นชอบ ความกล้าได้กล้าเสีย รวมไปถึงตัวเลขเงินในบัญชี และจำนวนที่พร้อมจะสูญเสียได้ หรือปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งที่เกิดจากบุคลิกและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนเอง หรือสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ที่เข้ามากระทบ

สมมติเรามีเงินลงทุน X บาท การจัดพอร์ตลงทุนก็จะต้องมาดูว่าเราต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน อะไรบ้าง และมาแบ่งสัดส่วนว่าเราจะลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ กี่เปอร์เซนต์ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่ก่อนที่จะวางเงินลงในสินทรัพย์ใดๆ ต้องวางใจในตัวเองเสียก่อนว่าได้ศึกษาข้อมูลมาอย่างครบถ้วนชัดเจนแล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่ต้อง ‘รู้จริง’ ในสินทรัพย์ที่จะลงทุนเท่านั้น แต่ต้อง ‘รู้ใจ’ ตัวเองอย่างถ่องแท้ด้วย และผมมีหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ ที่นักลงทุนควรรู้ก่อนลงมือจัดพอร์ตลงทุน

ข้อแรกคือ รู้จักตัวเอง ถ้าว่ากันตามทฤษฎีก็คือ Risk profile นั่นเองครับ โดยต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า ต้องการลงทุนในอะไร ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ ในระยะเวลานานแค่ไหน ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับตัวเองให้ได้อย่างชัดเจนว่า สามารถยอมรับผลขาดทุนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะผลขาดทุนนี่แหละคือความเสี่ยงของการลงทุน

Financial Investing
Photo : Shutterstock

นักลงทุนหลายท่านคงเคยผ่านการทำแบบประเมินความเสี่ยงการลงทุนกันมาบ้างแล้ว ซึ่งคะแนนที่ได้จากแบบประเมินสะท้อนถึงระดับความเสี่ยงและสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับตัวเรา หลายคนอาจทำแบบประเมินมามากกว่า 1 ครั้ง ผลลัพธ์ในแต่ละครั้งอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ และหนึ่งใน ‘ปัจจัย’ เหล่านั้นอาจเป็น ‘ใจ’ ของเราเอง ตามคำกล่าวที่ว่า เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน.. ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ แต่ในการทำแบบประเมิน เราต้องไม่หลอกตัวเอง ต้องตอบคำถามตามความจริง เพื่อให้แม่นยำว่าเราสามารถยอมรับความเสี่ยงนั้นๆ ได้จริง

ข้อต่อมาคือ รู้จักความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำไปถึงสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ตั้งแต่เงินฝาก หุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล น้ำมัน ทองคำ ตราสารอนุพันธ์ หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งสินทรัพย์แต่ละประเภทล้วนมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ผลตอบแทนและความเสี่ยงก็แตกต่างกันไปด้วย

ข้อสุดท้ายคือ รู้เท่าทันสถานการณ์ โดยต้องติดตามข่าวสาร และปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อระดับความเสี่ยง ผลตอบแทนในสินทรัพย์ที่เราลงทุน และอาจกระทบถึงพอร์ตลงทุนโดยรวมได้เช่นกัน

จัดพอร์ตตามวัย

การจัดพอร์ตตามช่วงอายุของผู้ลงทุนเป็นอีกหนึ่งในหลักการกระจายความเสี่ยง ตามหลักทฤษฎีเราคงจะทราบกันอยู่แล้วนะครับว่า คนอายุน้อยมีโอกาสรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนที่อายุมากขึ้น และสินทรัพย์เสี่ยงเหมาะกับการลงทุนระยะยาว เมื่อประมวลตามทฤษฎีนี้ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ว่า คนอายุน้อยสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากกว่าคนอายุเยอะ เพราะรับความเสี่ยงได้สูงกว่า

ขณะที่การกระจายความเสี่ยงตามวัยก็มีอยู่หลายทฤษฎี เป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์การลงทุนของตัวเอง วันนี้ผมมี 2 แนวทางมาแบ่งกันกันครับ โดยแนวทางแรกเป็นทฤษฎีของ John Bogle นักลงทุนสหรัฐฯ ที่เป็นผู้คิดค้นกองทุนอิงดัชนี ซึ่งใช้วิธีคิดง่ายๆ โดยให้เอา 100 – อายุ เช่น หากคุณอายุ 30 ปี เมื่อเข้าสูตร 100-30 = 70 นั่นหมายความว่า คุณสามารถแบ่งสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ถึง 70%

Photo : Shutterstock

ส่วนอีกแนวทาง เป็นการจัดพอร์ตตามวัยที่พ่วงมาด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งแบ่งได้เป็นช่วงอายุคือ

  • อายุ 20-30 ปี วัยเริ่มต้นทำงาน เริ่มมีรายได้ ยังไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากนัก แนะนำให้หัก 20% ของรายได้เป็นเงินออม และสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้สูงถึง 80% ของพอร์ต
  • อายุ 30-40 ปี เริ่มสร้างครอบครัว มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ แต่งงานมีลูก ควรหักเงินออมไว้ 10% ของรายได้ และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ 60% ของพอร์ต
  • อายุ 40-50 ปี วัยผู้ใหญ่ มีรายได้มากขึ้น เริ่มมีความมั่งคั่ง แต่ก็เป็นช่วงอายุ ‘แซนวิช’ ที่อาจต้องดูแลทั้งลูกหลานและพ่อแม่ สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจึงลดลงเหลือ 40% ของพอร์ต
  • อายุ 50 ปีขึ้นไป วัยเตรียมเกษียณจนถึงวัยเกษียณ การจัดพอร์ตควรเน้นในสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นหลัก และหากมีเงินออมอยู่พอสมควรอาจกระจายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสัก 10-20% เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

กระจายลงทุนพอร์ต Core/Satellite

สำหรับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์มาระดับหนึ่งแล้ว คงทราบหลักการกระจายความเสี่ยงแบบ Core/Satellite กันนะครับ โดยเป็นการจัดสรรพอร์ตลงทุนระหว่างพอร์ตหลักกับพอร์ตเติบโต ซึ่งระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนก็จะแตกต่างกันไป ตามหลักการ high risk high return นั่นเองครับ

โดย Core จะเป็นพอร์ตลงทุนหลัก ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของพอร์ต จึงเน้นลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น บริษัทในดัชนี S&P 500 ซึ่งถือว่ามี Buffer ค่อนข้างหนาที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนของเราได้ แต่ผลตอบแทนอาจไม่หวือหวานัก หากต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เราอาจกระจายสัดส่วนลงทุนไปในพอร์ต Satellite ได้ ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนที่เน้นการเติบโต โดยเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่โตเร็ว เช่น Thematic ETF ต่างๆ พอร์ตลงทุนแบบ Satelite จึงช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในดัชนี และแน่นอนครับ.. จะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

ทีนี้ถามว่า แล้วเราจะจัดสรรสัดส่วนระหว่างพอร์ต Core กับ Satellite อย่างไรดี ผมก็ขอตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าเราสามารถจัดพอร์ตลงทุนในแต่ละฝั่งได้ตั้งแต่ 0-100%เลยครับ ดูเหมือนเป็นคำตอบกวนๆ หรือตอบแบบไม่ตอบ แต่นี่คือคำตอบตามหลักการจริงๆ ครับ เพราะสัดส่วนลงทุนในแต่ละฝั่งขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนเลยครับ

หากคุณต้องการปกป้องเงินต้นเป็นหลัก เวลาที่พอร์ตตกต่ำลงมาแล้วรู้สึกกระสับกระส่ายใจคอไม่ดี แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักลงทุนในฝั่ง Core มากกว่า 50% แต่ถ้าคุณต้องการเห็นพอร์ตเติบโต และมีจิตใจที่มั่นคงพอ ไม่ได้หวั่นไหวเมื่อราคาทรุดตัวลงมา สัดส่วน Satellite เกิน 50% คือพอร์ตลงทุนที่คู่ควรกับคุณครับ

Photo : Shutterstock

โดยพื้นฐานแล้ว นักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับสูงกว่า 50% ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อายุยังน้อย ซึ่งอายุของผู้ลงทุนจะมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาลงทุนและระดับความเสี่ยง เพราะในช่วงอายุน้อยเรายังมีเวลาลงทุนได้อีกมาก ยืนระยะสะสมพอร์ตลงทุนได้อีกยาว มีเวลาให้แก้ตัวเมื่อกลยุทธ์ลงทุนผิดพลาดไป และสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง นักลงทุนที่อายุน้อยจึงสามารถลงทุนในพอร์ต Satellite ได้มากขึ้น ในทางกลับกันหากเราอายุเยอะขึ้น รับความเสี่ยงได้น้อยลง ไม่อยากเห็นพอร์ตลงทุนผันผวนเกินไป ก็ไม่ควรลงพอร์ต Satellite มากเกินไปครับ

สำหรับคนที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังไม่มาก และยอมรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจเทพอร์ตไปฝั่ง Satellite ได้ถึง 100% โดยไม่ต้องลงพอร์ต Core เลยก็ได้ หรือบางคนอายุมากแล้ว แถมนำเงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุน ไม่อยากเสี่ยงมาก ต้องการปกป้องเงินต้นไว้และเก็บเกี่ยวผลตอบแทนไปเรื่อยๆ ไม่ได้หวังกำไรเติบโตหวือหวา อาจเลือกลงพอร์ต Core 100% ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ผลตอบแทนละความผันผวนของพอร์ตลงทุนแต่ละคนก็จะผันแปรไปตามสัดส่วนลงทุนในพอร์ต Core และพอร์ต Satellite หากเราให้น้ำหนักในพอร์ต Satellite มากขึ้นเท่าไหร่ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ขณะที่เดียวกันก็ต้องรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกันครับ

จากสถิติการลงทุนระหว่างพอร์ต Core และ พอร์ต Satellite ช่วงเดือนสิงหาคม 2013 – กุมภาพันธ์ 2020 พบว่า การลงทุนในพอร์ต Satellite 100% จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นประมาณ 7% ต่อปี ในขณะที่ความผันผวนก็จะมากกว่าเดิมได้ถึง 18% แต่หากลดสัดส่วนลงทุนลงเหลือ 90%, 80% จนถึง 0% อัตราผลตอบแทนและระดับความผันผวนก็จะลดหลั่นลงตามมา

เรียนหลักการ-รู้หลักปฏิบัติ

เมื่อทราบถึงหลักการกระจายความเสี่ยงกันแล้ว เราลองมาเรียนรู้การจัดพอร์ตลงทุนจริงๆ จากที่มีผู้ตั้งโจทย์เป็นตุ๊กตามาให้ว่า ‘หากมีเงินเย็น 100,000 บาท การนำเงินทั้งหมดมาลงใน Thematic Optimize ในระยะเวลาลงทุน 10 ปีขึ้นไป โดยจะ DCA ไตรมาสละ 10,000 บาท ถือว่าเสี่ยงมากเกินไปหรือไม่?’ ผมขอตอบตามนี้นะครับ

Thematic Optimize ถือเป็นพอร์ต Satellite เพราะเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตตาม Megatrend ต่างๆ โดยลงทุนตาม Thematic ETF อยู่แล้ว ถ้าหากอุตสาหกรรมเหล่านี้เติบโตในระยะยาว พอร์ตการลงทุน Thematic Optimize ก็จะเติบโตตามไปด้วย ในทางกลับกันพอร์ตก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ซึ่งกรณีเลวร้ายสุดคือเงินลงทุนหายไปทั้งจำนวน แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทุกอุตสาหกรรมที่เราลงทุนสูญเสียมูลค่าเชิงเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นถือว่ามีน้อยมากครับ

Photo : Shutterstock

ดังนั้น ในทางปฏิบัติการจัดสัดส่วนลงทุนในพอร์ต Thematic Optimize ว่าเป็นเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคน รวมถึงความเสี่ยงที่รับได้ หากคุณเป็นนักลงทุนที่อายุยังไม่มาก มีเวลาลงทุนได้อีก 10-20 ปีขึ้นไป โดยเงินที่นำมาลงทุนและทำ DCA นั้น เป็นคนละส่วนกับเงินที่ต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หากพอร์ตลงทุนตกต่ำลงก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตปกติ ที่สำคัญคุณหากคุณยอมรับความเสี่ยงที่สูงได้ เพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ก็สามารถลงทุนใน Thematic Optimize ได้ 100%

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางของพอร์ตลงทุนคุณควรหมั่นทบทวนเป้าหมายการลงทุนว่ายังเป็นไปตามที่วางไว้หรือไม่ และต้องเช็คหัวใจตังเองด้วยว่ายังสามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับเดิมได้หรือเปล่า ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีมุมมองการลงทุนที่เปลี่ยนไป เป้าหมายการลงทุนก็ไม่เหมือนเดิม หรือรับความเสี่ยงได้น้อยลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วการปรับพอร์ตลงทุนสามารถทำให้ตลอดนะครับ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

เปิดเดือนแรกของปีใหม่ เราเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนที่สดใสขึ้นเมื่อเทียบกับตลอดปีที่ผ่านมา คนที่วางแผนการลงทุนและเริ่มทำตาม Roadmap ที่วางไว้ ถือว่าคุณได้เดินมาไกลกว่าคนที่ยังไม่เริ่มทำอะไรเลย อย่างน้อยก็ 1 ก้าวแล้ว แม้เส้นทางการลงทุนในปีนี้ยังอีกยาวไกล และไม่มีใครหยั่งรู้ได้อย่างชัดเจนว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่การวางแผนลงทุนถือเป็นเครื่องกันกระแทกขั้นพื้นฐาน ที่จะช่วยให้คุณตั้งสติเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ลงทุนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และอีกหนึ่ง Buffer ที่จะช่วยปกป้องคุณจากความผันผวนของตลาดก็คือ ‘การกระจายความเสี่ยง’ ของพอร์ตลงทุนอย่างเหมาะสมนั่นนเองครับ