ทั้ง ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด มหาชน เขาเป็นสองผู้บริหารหนุ่ม จากสองบริษัทคู่แข่ง ที่ต้องดูแลธุรกิจผลิตชุดชั้นในให้กับสาวๆ
ต่างกันตรง ธรรมรัตน์ ต้องปกป้องส่วนแบ่งตลาดให้กับวาโก้ เจ้าตลาดเดิมที่อยู่ในตลาดมาแล้ว 40 ปี ให้ยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้การแข่งขันที่รุมเร้า และทำให้แบรนด์ของวาโก้กลับมาเป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ได้อีกครั้ง
ในขณะที่บุญชัยต้องผลักดันให้ “ซาบีน่า” แบรนด์เบอร์ 3 ในตลาด รุกไล่ชิงส่วนแบ่งตลาดจากผู้นำทั้งวาโก้ และไทรอัมพ์
ธรรมรัตน์ เป็นทายาทคนโตของ “บุญสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือเครือสหพัฒน์ ธรรมรัตน์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญพาณิชย์ หรือ ABAC ภาควิชาศิลปศาสตร์ เริ่มงานครั้งแรก ถูกมอบหมายให้เรียนรู้งานในไอซีซี เริ่มตั้งแต่ทำงานในโรงงาน ตัดเย็บชุดชั้นในวาโก้ และเครื่องสำอาง เพื่อวางพื้นฐาน จากนั้นมาร่วมทีมแอร์โร่ว์ทำเสื้อผ้าผู้ชาย ก่อนจะถูกส่งไปทำงานในบริษัทพันธมิตร วาโก้ สาขานิวยอร์ก
การไปทำงานที่วาโก้ สาขานิวยอร์ก ทำให้ธรรมรัตน์เรียนรู้ภาพธุรกิจกว้างขึ้น ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ การเงิน โดยเฉพาะขั้นตอนการออกแบบชุดชั้นในวาโก้ ทั้งงานดีไซน์ การวางแพตเทิร์น ฟิตติ้ง เป็นพื้นฐานความรู้ที่เขานำมาปลุกปั้นแบรนด์ บีเอสซี ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าใหม่ที่ไอซีซีสร้างขึ้น ควบคู่ไปกับการระบบสมาชิกของผลิตภัณฑ์ในเครือไอซีซี HIS & HER ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเช่นกัน
ปีที่แล้ว ธรรมรัตน์ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลวาโก้ เป็นอีกหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ขาต้องสานต่อแบรนด์อายุ 40 ปี เป็นความท้าทายของการผลักดันแบรนด์ที่อยู่ในตลาดมานานให้เติบโตต่อไป และเป็นที่มาของการ “รีเฟรชแบรนด์” ให้ดูทันสมัย
ในขณะที่บุญชัย เริ่มงานแรกของเขาใน “ซาบีน่า” เมื่อ 15 ปีที่แล้ว หลังจากเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา ด้วยตำแหน่ง “ผู้จัดการฝ่ายขาย” ซึ่งเป็นช่วงทีซาบีน่ายังอยู่รวมกับชุดชั้นในจิตนา โดยส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก จากนั้นเขาย้ายไปทำงานที่ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของไทย เป็นช่วงที่เขาตักตวงความรู้ด้านส่งออกเต็มที่
จนในปี 2538 ซาบีน่า ชวนกลับไปร่วมงาน ซึ่งเป็นช่วงหลักจากที่ซาบีน่าแยกตัวจากจินตนา แต่ทำได้ปีเดียวก็ต้องเจอวิกฤติเศรษฐกิจ จากการลอยตัวค่าเงินบาท ซาบีน่าได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ ยอดขายในประเทศเก็บเงินลูกค้าห้างสรรพสินค้าไม่ได้ แต่ก็เป็นโอกาสในการขายต่างประเทศ ไปยังประเทศใหม่ จนต้องขยายโรงงานจากที่มีเพียงโรงงานเดียว เพิ่มเป็น 5 โรงงงาน มีพนักงาน 5,000 คน
แต่การเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง ถึงจะขายได้แต่โอกาสที่จะเติบโตแข็งแรงทำได้ยาก ซาบีน่าจึงต้องทำแบรนด์อย่างจริงจัง และลดการส่งออกลง หันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น
ภายในซาบีน่าต้องปรับวิธีคิด และระบบการทำงาน การผลิต ใส่ความเป็นแฟชั่น เพิ่มความหลากหลายในการออกแบบ คู่ขนานการทำตลาดที่ต้องหันมาโฟกัสทำตลาด โดยเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และจนเป็นที่มาของ “ซีรี่ส์ ดูม ดูม” ที่สร้างความจดจำไปทั่ว สร้างความท้าทายให้เจ้าตลาดอย่างวาโก้ ต้องออกมาเคลื่อนไหว
ด้วยพื้นฐานประสบการณ์การเรียนรู้ ที่ถูกปูพื้นฐานมาอย่างดี ในวัยที่ไม่ห่างกันมากนัก ดีกรีการแข่งขันตลาดชุดชั้นในนักจากนี้จะเข้มข้นขึ้นอีกหลายเท่าตัว