แบนแล้วไง! ‘หัวเว่ย’ เผยได้เปลี่ยนชิ้นส่วนที่สหรัฐฯ แบนกว่า 13,000 ชิ้น ด้วยวัสดุที่ผลิตเองได้ในจีน

ภาพจาก Shutterstock
นับตั้งแต่ปี 2019 ที่ หัวเว่ย (Huawei) ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ ทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจกับบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับภัยความมั่นคงจากการเก็บข้อมูลส่งให้รัฐบาลจีนผ่านอุปกรณ์ของบริษัท จนธุรกิจโดยเฉพาะในส่วนของสมาร์ทโฟนนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ล่าสุด เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย (Huawei Technologies Co Ltd) ได้เปิดเผยตอนขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong ของจีนว่า บริษัทได้ เปลี่ยนชิ้นส่วนมากกว่า 13,000 ชิ้นในผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ด้วยวัสดุทดแทนที่ผลิตได้ในประเทศจีนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ ออกแบบแผงวงจรใหม่ 4,000 ชิ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน

คำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นอีกความพยายามของหัวเว่ยที่จะ เอาชนะมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจต่อไป นับตั้งแต่ปี 2019 ที่หัวเว่ยในฐานะผู้จัดหาอุปกรณ์รายใหญ่ที่ใช้ในเครือข่ายโทรคมนาคม 5G ตกเป็นเป้าหมายของการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ โดยการควบคุมเหล่านั้นจะตัดทั้งการจัดหาชิปของหัวเว่ยจากบริษัทในสหรัฐฯ และการเข้าถึงเครื่องมือเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในการออกแบบชิปของตนเอง

เหริน ได้กล่าวต่อว่า หัวเว่ยในปี 2022 ได้ทุ่มงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 23,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่เริ่มดีขึ้น บริษัทก็จะเพิ่มการงบการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อไป โดยภายในเดือนเมษายนนี้ บริษัทกำลังจะเปิดตัวระบบวางแผนทรัพยากรของตนเองที่เรียกว่า MetaERP ขึ้นมา เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจหลัก ๆ ของหัวเว่ยทั้งในด้านการเงิน ห่วงโซ่อุปทาน และสายการผลิต

อย่างไรก็ตาม เหริน ระบุว่า หัวเว่ยยังไม่มีแผนที่จะเปิดตัว AI เพื่อมาแข่งกับ AI ChatGPT โดยเขาระบุเพียงว่า หัวเว่ยกำลังมุ่งเน้นไปที่การเป็น แพลตฟอร์มประมวลผลพื้นฐานของ AI