SCB EIC คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้โตได้ 3.9% ได้ปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ภาพจาก Shutterstock

SCB EIC คาดการณ์ว่า GDP ของไทยอาจโตได้ถึง 3.9% โดยได้ปัจจัยหลักมาจากภาคการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกเองก็มีความเสี่ยงจากเรื่องของวิกฤตเสถียรภาพระบบการเงินโลก จากกรณีของ SVB รวมถึง Credit Suisse แต่ก็มองว่าธนาคารกลางนั้นสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้

รายงานของ SCB EIC นั้นได้วิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเริ่มที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น แต่คาดว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ทางด้านเศรษฐกิจในทวีปยุโรปมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้เช่นกัน จากความพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากขึ้น

ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ภาคการผลิตและการส่งออกจะเติบโตชะลอตัวตามอุปสงค์โลก แต่ยังมีแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว ค่าแรงที่เพิ่มสูงกว่าในอดีตจะช่วยสนับสนุนการบริโภคในยามเงินเฟ้อเร่งตัวได้บ้าง ทางด้านของเศรษฐกิจจีน SCB EIC มองว่ามีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งหลังยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ซึ่งจะได้การบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น SCB EIC ได้ปรับตัวเลข GDP ของไทยเพิ่มมาเป็น 3.9% ในปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาโตแค่ 2.6% เท่านั้น ปัจจัยสำคัญได้มากจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคาดว่าในปีนี้จะสูงถึง 30 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 28.3 ล้านคน และการบริโภคของภาคเอกชนที่เติบโตจากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยที่จะเติบโตได้มากกว่าคาดนั้นประกอบไปด้วย เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีกว่าที่คาด การฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภค เป็นต้น

สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่อาจส่งผลทำให้ GDP ไทยโตต่ำคือ

  • ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่รุนแรงขึ้นอาจกระทบ Global Supply Chain และการส่งออกไทย
  • นโยบายการเงินโลกตึงตัวแรงขึ้นจากเงินเฟ้อโลกลดลงช้า
  • หนี้ครัวเรือนกลับมาเร่งตัวส่งผลกดดันการบริโภค
  • ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในระยะข้างหน้าได้

สำหรับวิกฤตเสถียรภาพระบบการเงินโลก จากกรณีของ SVB รวมถึง Credit Suisse นั้น SCB EIC ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด แม้ว่าโอกาสที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกยังมีน้อย ตราบใดที่ธนาคารกลางให้ความมั่นใจได้ว่าสามารถให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องได้เพียงพอและทันการณ์

อย่างไรก็ดีถ้าหากวิกฤตดังกล่าวนั้นลุกลามนั้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบรุนแรงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออกที่แย่ลง เงินทุนที่ไหลออก ภาวะการเงินที่ตึงตัว เนื่องจากหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะพยุงค่าเงิน