ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองวิกฤตธนาคาร อาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งออก

ภาพจาก Shutterstock

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองกรณีของวิกฤตธนาคารทั่วโลก ไม่กระทบกับธนาคารในไทย เนื่องจากมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องน้อยมาก แต่ผลกระทบอาจไปเกิดที่ภาคเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปอาจมีการชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อภาคการส่งออกไทยได้

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้กล่าวถึงกรณีปัญหาวิกฤตธนาคารในสหรัฐอเมริกาว่า โดยยกปัญหาธนาคารของสหรัฐมีอยู่เรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นธนาคารเล็กๆ ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินของสหรัฐอเมริกาได้มีวิธีจัดการปัญหาแตกต่างกันไป

เธอได้ยกกรณีอย่าง Silicon Valley Bank (SVB) นั้นมีทรัพย์สินที่เยอะมาก หน่วยงานกำกับดูแลก็จะใช้วิธีแก้ปัญหาต่างกับกรณีสถาบันการเงินอย่าง Silvergate Bank ที่มีขนาดเล็กกว่า

ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตธนาคารในสหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วย งบดุลมีปัญญา การผ่อนคลายกฎระเบียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ฎเกณฑ์ Dodd–Frank สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงดอกเบี้ยสหรัฐที่เพิ่มสูงชึ้นจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

แต่รองกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย นั้นมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีเครื่องมือทาการเงินต่างๆ เพื่อทำให้ สถาบันการเงินที่มีปัญหานั้นมีสภาพคล่อง โดยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การให้สภาพคล่องผ่านการซื้อตราสารต่างๆ ของธนาคารได้ 

ขณะเดียวกันเธอก็มองว่า ปัญหาวิกฤตธนาคารในสหรัฐอเมริกานั้นถือเป็นเรื่องยืดเยื้อ ไม่จบเร็ว ถ้าหากมองเฉพาะหน้า นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และแก้ปัญหาโดยรวดเร็วไม่ได้ นอกจากนี้เธอยังมองว่าการเข้ามาซื้อกิจการสถาบันการเงินที่มีปัญหาตอนนี้ก็ไม่ง่าย

เธอยังรวมถึงกรณีของรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ไม่อยากใช้ภาษีของประชาชนมาอุ้มภาคการเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นคือในระยะกลางคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเกิดการชะลอตัว และเมื่อคืนนี้ Fed ยังชี้ว่าอาจต้องทบทวนกฎหมายข้อระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันการเงิน ฉะนั้นหลังจากนี้อาจทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถทำกิจกรรมได้ถนัด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจได้

ขณะที่สถาบันการเงินในยุโรปเองนั้นได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ หลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากฝั่งสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008 วิกฤตจากประเทศในกลุ่มยุโรปอย่างกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และล่าสุดยังรวมถึงวิกฤตของเครดิตสวิส ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง

ในกรณีของสถาบันการเงินไทยนั้น รองกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามีผลจำกัดจากวิกฤตแบงก์ทั่วโลก นอกจากนี้ธนาคารไทยที่มีธุรกรรมเกี่ยวกับ FinTech และ Starup ทั่วโลกน้อยกว่า 1% นอกจากนี้พอร์ตของสถาบันการเงินไทยมีความหลากหลายมากกว่า นอกจากนี้ถ้าหากมีเงินไหลออกอย่างรวดเร็ว ก็ยังมีปริมาณสภาพคล่องเยอะมาก

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวว่า ปัญหาวิกฤตที่เกิดกับสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาก็อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงกรณีเรื่องกฎหมายข้อระเบียบต่างๆ ของภาคการเงินเข้มงวดมากขึ้น

ณัฐพร ยังได้ยกข้อมูลจาก Bloomberg มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเริ่มถดถอยในไตรมาส 2 และถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอาจส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือไอที ซึ่งสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของการส่งออกไทยไปยังสหรัฐอเมริกา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่า GDP ไทยเติบโต 3.7% ในปีนี้ โดยรวมผลจากภาวะวิกฤตธนาคารไว้แล้ว และมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผลดีจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 28.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอาเซียน ขณะที่เงินเฟ้อไทยคาดว่าจะลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา

ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากปัจจัยภายนอก เช่น เสถียรภาพธนาคารในสหรัฐฯ ยุโรป ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังไม่จบ ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ได้