วางแผนการเงินส่วนบุคคล คุณค่าที่เหนือกว่าการลงทุน

บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
ทุกท่านคิดเหมือนกันไหมครับว่า ‘โลกทุกวันนี้หมุนเร็วเหลือเกิน’ แต่ละปี แต่ละช่วงเวลา จะมีความท้าท้ายใหม่ๆ เข้ามาให้เราได้เรียนรู้ หรือต้องเอาชนะ เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้ และการที่จะก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันข้างนั้น จำเป็นต้องวางแผนการใช้ชีวิต เท่านั้นยังไม่พอ ควรต้องวางแผนทางการเงินด้วยนะครับ

ต้องยอมรับนะครับว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการวางแผนทางการเงินมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากในทุกมิติ ที่สำคัญคือ ‘คน’ ที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินมากขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและช่องทางการออมการลงลงทุนต่างๆ ก็มีการพัฒนามากขึ้น มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยให้เราดูแลเรื่องเงินทองได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการออมและการลงทุนบนแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้คนยุคนี้สามารถสร้าง ‘อิสรภาพทางการเงิน’ ให้กับตัวเองได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

แนวคิดวางแผนการเงิน

เมื่อพูดถึง ‘การวางแผนการเงิน’ สำหรับบางคนอาจดูเป็นเรื่องยาก ต้องซีเรียสกับการใช้จ่าย จะซื้ออะไรสักอย่างต้องคิดแล้วอีก.. แค่คิดก็เครียดแล้ว!! หลายคนจึงยังไม่ได้เริ่มต้นเสียที แต่จริงๆ แล้วการวางแผนทางการเงินและทำให้ได้ตามแผนไม่ใช่เรื่องยากเย็นขนาดนั้น ลองปรับมุมมองของการวางแผนการเงินให้เป็น ความฝันคุณอาจจะมี “Passion” ขึ้นมาก็ได้

ถ้าเราฝันอยากมีบ้าน มีรถ ไปเที่ยวเมืองนอก แต่งงาน มีลูก มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชีวิตที่สุขสบาย มีเงินทองใช้จ่ายไม่ขาดมือ มีผลตอบแทนจากการออมและการลงทุนเป็นโบนัสให้กับชีวิตนอกเหนือจากรายได้ประจำ มีฐานะการเงินที่มั่นคงไปจนถึงวัยเกษียณ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขกับชีวิต การวางแผนทางการเงินคือ Roadmap ที่จะนำพาคุณไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

Photo : Shutterstock

ในการวางแผนทางการเงิน แต่ละคนคงมีเป้าหมายแตกต่างกันไป ซึ่งในเป้าหมายปลีกย่อยหรือจุดประสงค์แบบเฉพาะเจาะจง ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความสะดวกของแต่ละคนเลยครับ แต่ผมขอใส่เครื่องหมายดอกจันให้เป็นข้อสังเกตไว้สักนิดว่า เป้าหมายโดยภาพรวม เราควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีขึ้น เพื่อสร้าง ‘ความมั่นคง’ ทางการเงินในระยะยาวไปตลอดเส้นทางชีวิตของเรา และระหว่างทางก็สามารถสะสม ‘ความมั่งคั่ง’ ให้เพิ่มพูนได้ตามตัวไปด้วย

ซึ่งผมมองว่าการวางแผนทางการเงินควรเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เป็นสิ่งที่ควรทำต่อเนื่องทุกปี และเป็นแผนที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง สามารถทำได้โดยไม่ต้องกดดันการใช้ชีวิตมากเกินไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราต้องทำตามแผนด้วยความเครียด ความสุขในการใช้ชีวิตก็จะลดลง หรืออาจถึงขั้นท้อแท้อยู่กลางทาง จนไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้

4 เรื่องต้องรู้ ก่อนวางแผนการเงิน

แล้วถ้าจะวางแผนทางการเงินแบบไม่ต้องเครียดมาก ทำไปได้เรื่อยๆ ต้องเริ่มอย่างไร ผมมีทริค 4 ข้อให้คุณเดินอยู่บนทางสายกลางในการวางแผนการเงิน แบบไม่ซีเรียสมากไป แต่ก็ไม่ชิลจนเกินไป.. เพื่อให้เดินไปถึงจุดหมายได้จริงๆ

#ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะช่วยให้คุณเห็นสถานะทางการเงินของตัวเองอย่างชัดเจนขึ้น แน่นอนว่าช่องรายรับของคนโดยทั่วไปมีอยู่ไม่กี่รายการ เทียบกับช่องรายจ่ายที่ยาวเฟื้อย ทีนี้ลองมาโฟกัสที่ช่องรายจ่าย จิ้มนิ้วเลื่อนลงมาทีละบรรทัดเลยครับ บรรทัดไหนที่ทำให้คุณสะดุด.. หยุด.. และร้องเอ๊ะ!! เป็นสัญญาณว่าบรรทัดนั้นไม่น่ารอด.. ต้องตัดทิ้งไปจากบัญชี แล้วยอดเงินคงเหลือสุทธิในบรรทัดสุดท้าย จะทำให้คุณยิ้มได้กว้างกว่าเดิมแน่นอนครับ

#กำหนดเป้าหมายลงทุน

อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วนะครับว่า เราควรมีเป้าหมายในภาพรวมเพื่อบริหารจัดการการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความมั่นคงทางการเงิน และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้แต่ละคนอาจมีเป้าหมายปลีกย่อยที่อยากได้ อยากทำ อยากมี ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ในระยะสั้นหรือระยะยาว เช่น เก็บเงินไปดูแสงเหนือสิ้นปีนี้, หรือเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ดาวน์รถ Tesla เพื่อเป็นเจ้าของ EV ให้ได้ภายใน 4 ปี, วางแผนแต่งงานในอีก 2 ปี พร้อมซื้อบ้านหลังใหญ่ขึ้นเพื่อรอต้อนรับลูกคนแรกในปีถัดไป

ตามหลักทฤษฎี ยิ่งวางแผนการเงินและเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งได้เปรียบ แต่บางคนอาจใช้ช่วงวัยมาเป็นข้ออ้างที่ยังไม่เริ่มลงทุน ถ้ามีเงื่อนไขแบบนี้ก็ต้องบอกว่า ตัวเลขอายุจะเป็นเท่าไหร่ไม่สำคัญครับ เพราะคุณสามารถเริ่มต้นตอนนี้ได้เลย ที่สำคัญควรสร้างวินัยการออมให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะทันทีที่คุณเริ่มลงทุนคุณก็จะสะสมพลังแห่งผลตอบแทนทบต้นได้ทันที เมื่อระยะเวลาผ่านไปคุณยิ่งได้ประโยชน์จากดอกผลที่หว่านเมล็ดไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

Photo : Shutterstock

#เลือกสินทรัพย์ลงทุน

ในโลกของการเงินการลงทุนมีหลากหลายประเภทสินทรัพย์ให้คุณเลือก โดยพื้นฐานแล้วผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเราในแต่ละช่วงชีวิตประกอบด้วยเงินฝาก สินเชื่อ ประกัน การลงทุน ซึ่งตามหลักการการเลือกสินทรัพย์ลงทุนก็จะพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการลงทุน อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ ระยะเวลาในการลงทุน และที่สำคัญคือระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ซึ่งความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อาจทดสอบง่ายๆ จากจิตใจของผู้ลงทุนเอง ถ้าลงทุนอะไรไปแล้วนอนหลับไม่สนิท แสดงว่าคุณไม่เหมาะกับสินทรัพย์นั้น วิธีแก้ก็แค่ตื่นขึ้นมาแล้วคิดทบทวนดูใหม่ และเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ทำให้คุณสบายใจและนอนหลับได้สนิท

#หมั่นปรับพอร์ตลงทุน

เมื่อวางแผนการเงินและจัดพอร์ตลงทุนแล้ว คุณควรหมั่นตรวจสอบพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าให้ผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ถ้าเริ่มเบี่ยงเบนหรือผิดเพี้ยนไปก็สามารถปรับพอร์ตลงทุนได้ตามความเหมาะสม

เพิ่มทักษะวางแผนการเงิน

แผนการเงินที่จะประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับทักษะทางการเงินของแต่ละคนด้วย ลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่า คุณมีความรู้ทางการเงินหรือมีทักษะในการวางแผนทางการเงินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจใช้มาตรวัดง่ายๆ ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เช่น ในแต่ละเดือนมีเงินเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหนหลังหักค่าใช่จ่ายที่จำเป็นออกไปแล้ว เงินในส่วนที่เหลือนั้นนำไปใช้ทำอะไร สามารถแบ่งเป็นเงินออมหรือเงินลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบของคุณจบตั้งแต่คำถามแรก คือแต่ละเดือนแทบไม่มีเงินเหลือเลย ก็สะท้อนทักษะในการวางแผนทางการเงินได้ชัดเจนเลยละครับ แต่หากมีคำตอบได้ถึงคำถามสุดท้าย แสดงว่าคุณมีทักษะทางการเงินที่แข็งแรงทีเดียว

หรือถ้าจะอัพเลเวลขึ้นอีกนิด ลองนึกย้อนกลับไปในช่วงโควิด 19 ว่าสถานะทางการเงินของคุณอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากน้อยแค่ไหน คุณมีเงินเหลือพอใช้ได้ถึงกี่เดือนในสถานการณ์โรคระบาดที่ยาวนานกว่า 2 ปี ซึ่งทุกคนเจอปัญหาเดียวกัน แต่ผลกระทบของแต่ละคนไม่เท่ากัน และ เงินออมคือตัวชี้วัดผลกระทบได้อย่างชัดเจน

Photo : Shutterstock

ก่อนวิกฤติโควิด 19 ตามหลักทฤษฎีแนะนำไว้ว่า เราควรมีเงินออมสำรองไว้ให้พอใช้ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือกรณีที่ไม่มีรายได้ แต่วิกฤตการณ์ครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบอย่างแสนสาหัส ทำให้เราต้องปรับทฤษฎีให้เข้มขึ้น โดยควรมีเงินออมให้เพียงพอรองรับการขาดรายได้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ระยะเวลาเพิ่มขึ้นมาเท่าตัวเลยนะครับ ที่สำคัญโควิด 19 ยังได้สะท้อนถึงความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงทักษะทางการเงินและการวางแผนทางการเงินของคนไทยได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งโดยภาพรวมแล้วถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอ่อนแอ และส่งผลถึงความเหลื่อมล้ำทางการเงินที่สูงขึ้นในสังคมไทย

โดยงานวิจัยเกี่ยวกับความมั่งคั่งของครัวเรือนไทย ของจากธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างปี 2560-2564 พบว่า คนมีรายได้สูงมีโอกาสสะสมความมั่งคั่งได้มากกว่า โดยคนในกลุ่มนี้มีมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันเกิน 50% ของครัวเรือนทั้งหมดที่ทำการสำรวจ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสสะสมความมั่งคั่งได้น้อยลง โดยคนกลุ่มนี้มีสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันในสัดส่วนเพียง 2% เท่านั้น และส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินสดและเงินฝากเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยปี 2563 พบว่า คนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินอยู่ที่ 71% แต่ในแง่การบริหารการเงินยังน่าเป็นห่วงและสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้ เช่น การคำนวณดอกเบี้ยทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าเงินตามเวลา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในพื้นฐานความรู้ที่สำคัญ ในการวางแผนการเงินและสร้างรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งในระยะยาว

นิสัยการออม ชี้อนาคตการเงิน  

David Bach นักเขียนและนักวางแผนทางการเงินชาวอเมริกันชื่อดัง ที่ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลออกมาถึง 7 เล่ม และหนังสือของ Bach ติดชาร์ต Best seller มาอย่างต่อเนื่อง โดย Bach ได้ทำนายอนาคตทางการเงินตามนิสัยการใช้เงินของแต่ละคน ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มดังนี้

  • มั่งมี ศรีสุข คือ หาได้ 100, ใช้ 50, ออม 25, ลงทุน 25
  • กินดี อยู่ดี คือ หาได้ 100, ใช้ 80, ออม 20
  • พอมี พอกิน คือ หาได้ 100,ใช้ 90, ออม 20
  • ร่อแร่ ไม่มั่นคง คือ หาได้ 100, ใช้ 100
  • ล้มละลาย หายนะ คือ หาได้ 100, ใช้มากกว่า 100 และหยิบยืมคนอื่น
Photo : Shutterstock

และยังมีอีกทฤษฎี ที่ Bach ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง คือ “The Automatic Millionaire” หรือ “เศรษฐีอัตโนมัติ” โดยได้แบ่งฐานะทางการเงินของคนตามนิสัยการออม ซึ่งแยกได้เป็น 6 กลุ่มคือ

1. กลุ่มถังแตก คนกลุ่มนี้จะไม่คิดเรื่องการออม ใช้จ่ายมากกว่าที่หาได้หรือใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ต้องคอยหยิบยืมจากคนอื่นเป็นประจำ ซ้ำร้ายยังไม่สามารถจ่ายคืนได้อีกต่างหาก แนวทางแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มคนถังแตก เริ่มแรกเลยก็คือ ต้องหยุดก่อหนี้ แล้วหารายได้เสริม ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องใช้จ่ายให้น้อยลง

2. กลุ่มคนจน กลุ่มนี้จะเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการออม แต่ติดที่ “ไม่เริ่มซะที” จึงยังต้องติดกับดักความจนอยู่ ซึ่งตามคำจำกัดความของ Bach คนจนไม่ได้ชี้วัดจากรายได้แต่สะท้อนจากสัดส่วนเงินออม หากคุณไม่อยากอยู่ในข่ายคนจนต้องรีบออมเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะการออมคือจุดเริ่มต้นของความมั่งคั่ง คำพูดที่ว่า “ออมก่อนรวยกว่า” จึงถูกต้องที่สุดครับ

3. กลุ่มชนชั้นกลาง คือกลุ่มที่สามารถออมได้ 5-10% ของรายได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการวางแผนทางการเงินค่อนข้างดี ไม่ว่าจะมาจากการถูกปลูกฝังนิสัยการออมมาตั้งแต่เยาว์วัย หรือจากทัศนคติในการใช้เงินของตนเองก็ตาม แม้สามารถเก็บออมได้ในระดับนี้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่พอใช้ในยามเกษียณ ทั้งจากปัจจัยเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่มีโอกาสสูงขึ้นในอนาคต และสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้

การออมอย่างเดียวจึงอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรมองหาการลงทุนเข้ามาเสริมด้วย เพื่อให้เงินต้นออกดอกออกผลมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ควรบริหารความเสี่ยงด้วยประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างความปลอดภัยทางการเงินให้ครอบคลุมไปถึงหลังเกษียณ

4. กลุ่มพอมีพอกิน ออมได้ประมาณ 10-15% ของรายได้ กลุ่มนี้ถือว่าสามารถออมได้ตามหลักทฤษฎีขั้นพื้นฐานที่ระดับ 10% แต่หากสามารถออมเพิ่มได้ก็จะยิ่งเพิ่มความอุ่นใจในอนาคตได้มากขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย หัวหน้าครอบครัวขาดรายได้หรือตกงาน ดังนั้นการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยและการประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงก็จะช่วยเพิ่ม Buffer ให้คุณได้เช่นกัน

5. กลุ่มคนรวย ออมได้ 15-20% ของรายได้ ใครที่สามารถออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอในระดับนี้ และสามารถบริหารรายจ่ายได้แบบไม่ต้องกดดัน ต้องกด Like ให้เลยครับ และโดยพื้นฐานแล้วคนกลุ่มนี้ยังสามารถสร้างรายได้จาก Passive income ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเข่า ที่สำคัญคนกลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการเงินออม เงินลงทุน ความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายได้แบบชิลๆ อีกด้วย

6. กลุ่มคนรวยที่สามารถเกษียณอายุได้ก่อนเวลา ออมเงินได้มากกว่า 20% ของรายได้ ใครที่สามาถบริหารจัดการเงินได้อย่างสม่ำเสมอในระดับนี้ ต้องกด Like แถมกด Love ให้แบบรัวๆ ไปเลย คุณยอดเยี่มมากๆ เพราะสามารถสร้างอิสระทางการเงินให้กับตัวเองได้อย่างแท้จริง

ซึ่งคนกลุ่มนี้ ไม่จำเป็นต้องมี Wealth มาแต่กำเนิดนะครับ เพราะความมั่งคั่งทางการเงินเราสามารถสร้างได้เอง โดยมีการวางแผนทางการเงินเป็นเข็มทิศนำทาง กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีวินัยทางการเงิน และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ‘อิสรภาพทางการเงิน’ ที่อาจอยู่ไกลถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ของใครหลายๆ คน ก็อาจอยู่ใกล้แค่หน้าปากซอยสำหรับคุณ

Photo : Shutterstock

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มไหนตามนิยามของ Bach เพียงแค่เริ่มต้น เครื่องยนต์การออมของคุณก็จะสตาร์ทขึ้นได้ทันที ให้คุณพร้อมไปต่อ และต่อยอดความมั่งคั่งด้วยเครื่องมือลงทุนอื่นๆ หรือจะใช้วิธีทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบ DCA (Dollar cost averaging) เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง และช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนในแต่ละเดือนก็ย่อมได้เช่นกัน

วางแผนการเงินด้วยแพลตฟอร์มลงทุน

ในโลกยุคดิจิทัล ทำให้ชีวิตทางการเงินของเราง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่าน Mobile application ของผู้ให้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน รวมถึงฟินเทคและสตาร์ทอัพ ให้เราสามารถเลือกใช้งานได้ตามอัธยาศัย และจะช่วยให้เราวางแผนทางการเงิน ออมเงิน และลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีการออมและการลงทุนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล อาจอยู่ในรูปแบบ Robo-adviser ที่เป็นเสมือนผู้จัดการการลงทุนให้คุณอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดพอร์ตลงทุน เลือกสินทรัพย์ลงทุน ปรับพอร์ตลงทุน และคอยติดตามผลการดำเนินงานของพอร์ตลงทุนให้คุณแบบอัตโนมัติ

หรือรูปแบบของ AI portfolio manager ที่เสมือนเป็นผู้ช่วยตัดสินใจด้านการลงทุน โดยใช้วิธีการคิด (Algorithm) ด้วยการเรียนรู้จากตัวอย่าง ข้อมูลสถานการณ์ลงทุนปัจจุบัน และข้อมูลผู้ลงทุนทั้งส่วนตัวและทางการเงินที่เคยให้ไว้มาช่วยปรับพอร์ตลงทุน

ในต่างประเทศ ยังมีเทคโนโลยีการลงทุนในรูปแบบของ Micro-investing ที่เสมือนเป็นผู้ช่วยออมและลงทุนอัตโนมัติ โดยมีแนวคิดว่าจะช่วยตัดเงินส่วนหนึ่งจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น ค่าช้อปปิ้ง ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค เข้ามาสะสมไว้เป็นเงินสำหรับลงทุน ทำให้เหมาะกับคนที่ไม่สามารถออมเองได้และไม่มีเงินก้อนมาลงทุน ซึ่งในประเทศไทยก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาบริการนี้ เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น

และอยากตอกย้ำกันอีกครั้งนะครับว่า “การวางแผนการทางการเงิน” ไม่ได้เป็นเรื่องของคนรวย แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพทางการเงินที่มั่นคงแข็งแรง และเป็นหนทางสู่การสร้างความมั่งคั่งได้ในอนาคต.. เราสามารถออกแบบชีวิตให้เป็นไปตามที่ฝันไว้ได้ ด้วยการวางแผนทางการเงิน เพราะการวางแผนทางการเงินคือคุณค่าที่ให้คุณได้มากกว่าการลงทุน