จู่ๆ ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หน้าโพรไฟล์ของเพื่อนในเฟซบุ๊กของเราก็เปลี่ยนไปกันหมด ทำไมเพื่อนเรากลายเป็นปลาไหล ???
เบื้องหลังปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาจากญี่ปุ่น เมื่อ daijingogo ได้สร้างแอพพลิเคชั่นผ่านเว็บไซต์ anago.crap.jp สร้างอวาตาร์ปลาไหลสวน ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งนิยมเลี้ยง และความโด่งดังก็กระจายตัวหลังจาก Shou นักร้องนำวง Alice Nine เปลี่ยนรูปโพรไฟล์ของตัวเองเป็นรูปอวาตาร์ปลาไหล แฟนคลับของเขาจึงเปลี่ยนตาม จากกระแสที่แดนปลาดิบก็หลั่งไหลมาสู่คนไทยจนกระทั่งวันที่ 19 เดือนตุลาคม ทวิตเตอร์เจ้าของแอพพลิเคชั่นปลาไหล ต้องทวีตขอบคุณคนไทยที่ตัวเลขจาก googleAnalitics ระบุว่ามีผู้เล่นคนไทย 12,278 คน ขณะที่คนญี่ปุ่นเองยังเล่นน้อยกว่าที่ตัวเลข 8,000 คน ไต้หวัน 151 คน อเมริกา 139 คน และรัสเซีย 78 คน
จุดเด่นของอวาตาร์ปลาไหลอยู่ที่เข้าไปแล้วก็เล่นง่าย ถึงแม้ว่าหน้าเพจจะเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด แต่เรียนรู้แป๊บเดียวก็เก็ทแล้วว่าแต่ละปุ่มมีเอาไว้เปลี่ยนรูปแบบตา ลาย เปลี่ยนสีได้อย่างไร แต่กระนั้นก็มีคนทำให้ง่ายเข้าไปใหญ่ด้วยการแปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่ตามเว็บไซต์และบล็อก จนคนไทยเอาอวาตาร์ปลาไหลมาตกแต่งต่อ ผนวกกับเรื่องฮิตในตอนนั้น เช่น ไหลเม้ย ตัวละครผีจากรอยไหม ปลาไหลสตีฟ จ๊อบส์ หรือปลาไหลร่างแปลงของการ์ตูนญี่ปุ่นสารพัดเรื่อง หลายคนวิเคราะห์เชื่อมโยงว่าปลาไหลที่ดังในประเทศไทยเป็นเพราะมากับกระแสน้ำท่วม หรือบางคนก็เชื่อในสตอรี่ที่คนไทยสร้างขึ้นมาเองว่าปลาไหลเป็นการไว้อาลัยให้กับญาติที่ตายไป ปรากฏการณ์ฮิตจนมีเพลงประกอบ “โอ้…ปลาไหลเต็มเฟซบุ๊กเลย” แสดงออกถึงความงงว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อนๆ หน้าก็เปลี่ยนเป็นปลาไหลกันหมดแบบไม่มีเหตุผล
จากปลาไหลจนถึงปลาวาฬ
หลังจากนั้นก็มีดิสเพลย์ อวาตาร์สารพัดสัตว์ผุดขึ้นมาอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นแมวเหมียว ที่อันนี้ไม่ค่อยฮิตเท่าไหร่เพราะเล่นยากกว่าเยอะแต่ก็มีจุดเด่นที่เขียนหรือวาดลายเส้นได้เอง หรืออวาตาร์ช้างที่พยายามโชว์ความเป็นไทยด้วยสัตว์ประจำชาติของเรา และสุดท้ายคือปลาวาฬที่อันนี้มาจากกระแสน้ำท่วม เมื่อกลุ่ม “รู้ สู้ flood” ทำแอนิเมชั่นอธิบายเรื่องน้ำท่วมง่ายๆ ด้วยการเปรียบเทียบมวลน้ำเป็นปลาวาฬ หลังจากนั้นทางกลุ่มก็ทำอวาตาร์ปลาวาฬให้คนตกแต่ง ใส่ข้อความที่อยาจะพูดออกมาได้เอง บรรดาอวาตาร์ที่ปรากฏณ์บนโลกออนไลน์ทั้งหมดนี้ เป็นอีกตัวอย่างของกระแสบนดิจิตอลเวิลด์ที่ถ้าหากว่าจุดติดก็แจ้งเกิด แถมยังข้ามพรมแดน เหมือนที่ดีแทค D.I.Y เคยทำอวาตาร์รูปผู้ใช้บริการให้ถืออุปกรณ์สื่อสาร ที่ตอนนั้นชาวอินโดนีเซียก็เล่นอยู่หลายแสนคน