ย้อนตำนานห้าง “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” 4 สาขา กับการปรับตัวหลังกระแสธุรกิจ “ไอที” เปลี่ยนทิศ

พันธุ์ทิพย์
พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ ก่อนจะรีโนเวตในปีนี้ (Photo: Google Maps)
ครั้งหนึ่ง “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” เคยเป็นตำนาน “ห้างไอที” ของเมืองไทย ศูนย์รวมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่และครบมากที่สุด จนกระทั่งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไอทีมาถึง พัดพาความร่วงโรยมาสู่พันธุ์ทิพย์ ทำให้ศูนย์การค้าแห่งนี้ทั้ง 4 สาขาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

“แต่ไม่ไปพันธุ์ทิพย์ แต่ไม่ไปพันธุ์ทิพย์แน่นอน” เนื้อเพลงท่อนฮุกของนักร้องดัง “เสก โลโซ” ดังก้องขึ้นมาในความทรงจำเมื่อพูดถึงห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า พร้อมด้วยภาพผู้คนขวักไขว่เลือกซื้ออุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์ หรือแบกซีพียูมาจากบ้านเพื่อนำมาส่งซ่อมร้าน

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2527 โดยเจ้าของมือแรกคือตระกูลบุนนาค แรกเริ่มไม่ได้เป็นห้างไอที แต่เป็นศูนย์การค้าทั่วไปที่มีโรงภาพยนตร์และภัตตาคาร อย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นในย่านประตูน้ำ ทำให้สุดท้ายตัดสินใจขายให้กับ “กลุ่มทีซีซี” ของตระกูลสิริวัฒนภักดีไปในปี 2531 ปิดดีลด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

หลังจากนั้น ทีซีซีเริ่มการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ เป็นผู้ปั้นให้ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ กลายเป็นห้างไอที ชักนำผู้ประกอบการเข้ามาเปิดร้าน และมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดในยุคทศวรรษ 2540-2550 ยุคที่แต่ละครัวเรือนต่างก็มีคอมพิวเตอร์ประกอบใช้งาน และเป็นยุคเฟื่องฟูของแผ่นซีดีเพลง-ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ กลายเป็นแหล่งใหญ่ในการซื้อหา

หลังจากความเป็นห้างไอทีประสบความสำเร็จที่ประตูน้ำ ทำให้พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าขยายสาขาไปอีก 3 สาขาโดยใช้ธีมห้างไอทีเหมือนกัน คือ สาขาเชียงใหม่ สาขางามวงศ์วาน และสาขาบางกะปิ

ทว่าต่อมาสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึงอีกครั้ง ในช่วงหลังปี 2550 พฤติกรรมผู้บริโภคก็เริ่มเปลี่ยนไป จากการซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบ เริ่มหันมาซื้อโน้ตบุ๊กพกพามากขึ้น และเริ่มนิยมการ “ซื้อใหม่” มากกว่า “ซ่อม” นั่นทำให้การเป็นศูนย์รวมอะไหล่และอุปกรณ์คอมพ์ของพันธุ์ทิพย์เริ่มจำเป็นน้อยลง เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อเครื่องใหม่ได้ที่ร้านไอทีในศูนย์การค้าใกล้บ้าน

ทางกลุ่มทีซีซีจึงเริ่มต้องหาจุดขายใหม่เพื่อให้พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าทุกสาขายังน่ากลับมาเดินอีกครั้ง

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ

ในช่วงปี 2557 ทีซีซีมีการปรับโฉมใหม่ในสาขาประตูน้ำ พร้อมกับคอนเซ็ปต์ใหม่ “เทคไลฟ์ มอลล์” คือเป็นห้างไอทีสมัยใหม่ นิยามเรื่องไอทีให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ แต่ยังมีไอทีด้านอื่นของชีวิต เช่น เครื่องเสียง อุปกรณ์สมาร์ทโฮม อุปกรณ์ไอทีสำหรับสำนักงาน เกม ของเล่นวัยเด็ก ฯลฯ รวมถึงมีโคเวิร์กกิ้งสเปซมาเสริมทัพ โดยทีซีซีวางแพลนปรับปรุงทั้งอาคารจากเดิมเป็นอาคารแบบโคโลเนียลมาเป็นสไตล์ที่ทันสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าของห้างกลับต้องเจอกระแสต่อต้านและประท้วงของผู้เช่าในศูนย์ฯ เพราะผู้เช่ามองว่า การก่อสร้างปรับปรุงที่ยาวนานมากกว่า 1 ปี ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าพันธุ์ทิพย์จะปิดตัว จนลูกค้ามาเดินห้างน้อยลง ยังผลให้ยอดขายของร้านตกลง ที่สุดแล้วร้านค้ารายย่อยที่เคยมีมากกว่า 600 รายจึงทยอยย้ายออกจนเหลือราว 300 รายในปี 2558

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ หลังรีโนเวตเป็น เทค-ไลฟ์ มอลล์ เสร็จในปี 2559

ในที่สุดพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำก็ปรับโฉมเสร็จในปี 2559 พร้อมกับเปิดตัว “Pantip e-Sport Arena” สร้างจุดดึงดูดใหม่ให้วัยรุ่นมาเดินห้าง

แม่เหล็กใหม่นี้ดูจะช่วยต่อลมหายใจได้ระยะหนึ่งแต่ก็ไม่ยั่งยืน กระแสของพันธุ์ทิพย์แผ่วลงอีกครั้งเมื่ออีคอมเมิร์ซบูมในปี 2560 ทำให้ผู้บริโภคยิ่งสะดวกในการหาซื้อสินค้าไอทีทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์แทนการเดินห้าง หนำซ้ำห้างยังเผชิญโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กระหน่ำจนต้อง “ฉีก” แนวไปโดยสิ้นเชิง

ปลายปี 2563 มีการประกาศที่ปิดตำนาน “พันธุทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ” ไปโดยสิ้นเชิง เพราะห้างถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “AEC Trade Center Pantip Pratunam” เลิกเป็นห้างไอที และหันมาเป็นศูนย์ค้าส่งสารพัดสินค้าแทน

เปลี่ยนรอบล่าสุดเป็น AEC Food Wholesale Pratunam

อย่างไรก็ตาม ด้วยโควิด-19 ที่ไม่จบลงง่ายๆ และคอนเซ็ปต์ที่อาจจะยัง “ไม่โดน” ทำให้ในปี 2566 มีการปรับคอนเซ็ปต์อีกครั้งเป็น “AEC Food Wholesale Pratunam” เพื่อจะโฟกัสไปที่การค้าส่งวัตถุดิบอาหารโดยเฉพาะ หมายมั่นจะเป็นแหล่งรวมอาหารจากทั่วโลก เพื่อจับคู่กับผู้ซื้อกลุ่มโรงแรม-ร้านอาหารในอาเซียน

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่

ห้างไอทีที่บุกโซนภาคเหนือ เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับที่ประตูน้ำเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วประเทศไม่ต่างกัน ที่สาขาเชียงใหม่เคยรับโมเดลธุรกิจแบบเดียวกันมาใช้คือ เสริมฟังก์ชัน “Pantip e-Sport Arena” สาขา 2 เข้าไป แต่ก็ไม่เวิร์กเช่นกัน

จุดดึงดูดของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ในระยะหลังกลับกลายเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงเรียนสอนพิเศษแทน นั่นทำให้แผนปี 2566 พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่จะถูกปรับเป็น “The Pantip Lifestyle Hub”

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า
พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ รีโนเวตเป็น The Pantip Lifestyle Hub

สาขานี้ยังเก็บชื่อเก่าเอาไว้แต่คอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งหมด จะมีการรีโนเวตทั้งห้างให้กลายเป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ เน้นสัดส่วนหลักคือ แหล่งกิจกรรมเยาวชน เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ ศูนย์การเรียนรู้ สนามเด็กเล่นในร่ม , ศูนย์รวมร้านอาหารชั้นนำ และตลาดนัดไลฟ์สไตล์ ขายสินค้าที่เข้ากับความเป็นเชียงใหม่ เช่น งานศิลปะ สินค้าทำมือ

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน

ใน 4 สาขาของพันธุทิพย์ พลาซ่า ปัจจุบันสาขางามวงศ์วานน่าจะเป็นสาขาที่ “อยู่รอด” ได้มากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นห้างไอที มีส่วนหนึ่งของห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วานที่มีผู้เช่าเป็นกลุ่ม “ศูนย์พระ” อยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อฝั่งไอทีเริ่มนิยมลดลง ในปี 2562 ทีซีซีจึงเลือกดันส่วนศูนย์พระให้ขยายใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันมีเนื้อที่ 2 ชั้นเต็มๆ ในห้างแห่งนี้ที่กลายเป็นแหล่งรวมวัตถุมงคลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง เครื่องราง ของขลัง ดึงดูดเหล่าเซียนพระให้มาเดินเลือกชม

พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน

พร้อมกับการดันสนามพระให้ขยายตัว สาขางามวงศ์วานยังปั้น “ตลาดนัดติดแอร์” เฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ขึ้นด้วย ซึ่งมีจุดเด่นที่การขายของมือสอง

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ

ปัจจุบันมีการปรับตัวที่คล้ายกับสาขางามวงศ์วาน คือดึงกลุ่มสนามพระเข้ามาเปิดกิจการ และมีการดึงหน่วยงานภาครัฐเข้ามา เช่น สำนักงานประกันสังคม สำนักงานจัดหางาน ศูนย์ฝึกวิชาชีพ

*สาขานี้ยังเปิดให้บริการ แต่ไม่อยู่ในพอร์ตของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC)

ต้องรอชมทั้งสาขาประตูน้ำและเชียงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้าไปอย่างชัดเจนว่า จะสามารถปั้นให้(อดีต)พันธุ์ทิพย์ พลาซ่ากลายเป็นห้างแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้หรือไม่