หมดยุคเดินทางประชุม! ผลสำรวจเผย “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” เริ่มลดความถี่ เน้นพาพนักงานเที่ยวและไปงานแสดงสินค้า

ในปี 2023 นี้ เราอาจจะเห็นภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาคึกคัก เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาคนต้องอัดอั้นอยู่แต่บ้าน ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 แต่กลับกัน การเดินทางเพื่อธุรกิจ อาจจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากองค์กรก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายที่อาจไม่จำเป็น

ตามรายงานฉบับใหม่ของบริษัทวิจัย Morning Consult พบว่า การเดินทางเพื่อธุรกิจจะไม่มีวันกลับคืนสู่ปกติ โดยจากการสำรวจชาวอเมริกันประมาณ 4,400 คน พบว่า การเดินทางเพื่อธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศในปี 2022 เพิ่มขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด โดย

  • 60% ของบริษัทพวกเขาได้เปลี่ยนนโยบายการเดินทางเพื่อธุรกิจ
  • 56% ลดความถี่ของการเดินทางหรือส่งพนักงานเดินทางน้อยลง
  • 54% มีการพิจารณาค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น

ดังนั้น จะเห็นว่ารูปแบบการเดินทางเพื่อธุรกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปและอาจจะกลายเป็น New Normal โดยรายงานระบุว่า ปัจจุบันนักเดินทางเพื่อธุรกิจ มีอายุน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะบินในชั้นประหยัดมากขึ้น เนื่องจากงบประมาณขององค์กรที่ต้องเข้มงวดขึ้นและการใช้งานเทคโนโลยีก็ได้เข้ามาช่วยให้ไม่จำเป็นต้องเดินทาง ดังนั้น การเดินทางแบบ First Class จะเริ่มเห็นน้อยลง ขณะที่การเดินทางส่วนใหญ่ขององค์กรในปัจจุบันจะเน้นที่ การพาพนักงานไปท่องเที่ยวประจำปี และ การไปงานแสดงสินค้า

“พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นทำขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และเนื่องจากการประชุมออนไลน์ก็ได้เข้ามาทำลายข้อจำกัดของการบินไปประชุมในต่างพื้นที่”

work from anywhere
Photo : Shutterstock

ตามรายงานของ Deloitte พบว่า ในปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านการเดินทางขององค์กรในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และกำลังจะไปถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาดในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 โดยรายงานระบุว่า ธุรกิจต่าง ๆ ต้องใช้จ่ายมากขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและค่าเดินทางที่สูงขึ้น

“ตั๋วเครื่องบินและราคาห้องพักที่สูงขึ้นเป็นตัวการใหญ่ที่สุดที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และยังกลายเป็นปัจจัยอันดับ 1 ที่ขัดขวางจำนวนการเดินทาง”

โดยมีบริษัทถึง 59% ระบุว่า พวกเขาสามารถประหยัดเงินได้โดยการเลือกที่พักที่ถูกกว่า 56% ประหยัดได้เมื่อจองตั๋วเครื่องบินที่ถูกกว่า และ 45% มองว่า การจำกัดความถี่ในการเดินทางก็ช่วยให้ประหยัดได้ นอกจากนี้ เกือบ 70% กำลังชั่งน้ำหนักความจำเป็นในการเดินทางอย่างมีกลยุทธ์

Photo : Shutterstock

นอกจากเรื่องของการลดต้นทุน อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเดินทางก็คือ แรงกดดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดย 1 ใน 7 ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามพบว่ามีความพยายามจะสนับสนุนด้านความยั่งยืน ขณะที่บริษัทอเมริกันราว 1 ใน 3 แห่ง และบริษัทในยุโรปราว 40% ระบุว่า จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานลงมากกว่า 20% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศในปี 2030 และความกังวลด้านสภาพอากาศน่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของบริษัทในอีกหลายปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนการเดินทางเพื่อธุรกิจนั้นอาจไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ โดยจากผลสำรวจนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างน้อย 3 ครั้ง/ปี ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดพบว่า ประเทศในฝั่งยุโรปกว่า 50% มองว่าอาจไม่มีการเดินทางอีกเลยในอนาคต ขณะที่ประเทศอย่าง อินเดีย จีน และบราซิล คาดว่าเป็นประเทศที่มีการเดินทางเพื่อธุรกิจมากที่สุด

ถึงแม้ว่าเดินทางเพื่อธุรกิจมีแนวโน้มลดลง แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่า การใช้จ่ายด้านการเดินทางเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 โดยในยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางหาลูกค้า ส่วนในสหรัฐอเมริกาเพื่อติดต่อประชุมกับเพื่อนร่วมงานทั่วโลก

และเกือบ 2 ใน 3 ของพนักงานที่ต้องเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ คาดว่า พวกเขาคาดว่าจะเข้าร่วมการประชุมหรือสัมมนาในปีนี้เช่นกัน และการเดินทางแบบ Bleisure ซึ่งผสมผสานระหว่างการเดินทางเพื่อธุรกิจและการพักผ่อนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการทำงานทที่ยืดหยุ่นมากขึ้น