Positioning คุยกับผู้บริหารของ ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (DMHT) ถึงเทรนด์การดื่มของคนไทย ที่เปลี่ยนไปในช่วงที่ผ่านมาหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมา
อย่างที่เราทราบกันดีว่าเทรนด์การกินดื่มนั้นอยู่คู่กับสังคมไทย หรือแม้แต่สังคมโลกมาเป็นระยะเวลายาวนาน อย่างไรก็ดีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปอย่างมาก ขณะเดียวกันเทรนด์การดื่มของคนไทยในช่วงหลังก็ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกเช่นกัน
รัชนาทร เลาหพันธ์ุ ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ DMHT กล่าวถึงเทรนด์การดื่มของคนไทยเปลี่ยนไป โดยปัจจัยแรกคือปัจจัยด้านสุขภาพและสุขอนามัย สินค้าหลายอย่างใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ หรือแม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำเริ่มมีในท้องตลาดเยอะขึ้น
ขณะที่เทรนด์ที่ 2 คือผู้บริโภคกินดื่มที่บ้านมากขึ้น จากเดิมออกไปกินนอกบ้าน ไปผับ หรือบาร์ เทรนด์การดื่มที่บ้านมากขึ้น สังเกตว่าผู้บริโภคทดลองมากขึ้น ไปลองเครื่องดื่มประเภทใหม่ๆ มากขึ้น เธอยังกล่าวเสริมว่าแม้โควิดจะหายไปแล้ว แต่เทรนด์ดังกล่าวก็ยังอยู่
ขณะเดียวกันเธอยังชี้ถึงเทรนด์ที่ 3 คือ วัฒนธรรมการดื่มค็อกเทล (Cocktail Culture) ก่อนหน้านี้ในไทยไม่มีด้วยซ้ำและมีเฉพาะที่แหล่งท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมการดื่มดังกล่าวกลับได้รับความนิยมเยอะมาก และยังทำให้ในไทยมีอาชีพอย่าง Mixologist หรือ Bartender ที่มีความสามารถทัดเทียมต่างชาติ
ปัจจุบันเธอยังชี้ว่า ภาพลักษณ์อาชีพอย่าง Mixologist หรือ Bartender ในอดีตถือว่าดูไม่ดี แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ๆ มองเป็นอาชีพในฝันด้วย และตอนนี้ประเทศไทยไม่น้อยหน้าประเทศอื่น เพราะมีบาร์ค็อกเทลที่ติดอันดับในเอเชียด้วย
เธอยังชี้ว่าคนไทยมีความละเมียดละไมในการดื่มมมากขึ้น ทานกับอาหารมากขึ้น และวัฒนธรรมได้แทรกไปในไลฟ์สไตล์มากขึ้น
ขณะเดียวกันเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกประเทศไทย ก็ส่งผลทำให้เทรนด์การดื่มของไทยเปลี่ยนไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมของเกาหลี ที่ทำให้การดื่มคนไทยหลากหลายมากขึ้น หรือแม้แต่เทรนด์ของวัฒนธรรมละตินอเมริกาที่กำลังเฟื่องฟูก็ทำให้การดื่มของผู้บริโภคในตะวันตกเปลี่ยนไปเช่นกัน
ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ DMHT ยังได้กล่าวถึงลูกค้านั้นเน้นสินค้าประเภทพรีเมียมมากขึ้น และเน้นความละเมียดละไม โดยในช่วงที่ผ่านมาเธอกล่าวว่าลูกค้าคนรวยนั้นต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาแพงมากกว่าเดิมมาก โดยลูกค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 5-6% ของบริษัท
อย่างไรก็ดีหลังจากการเปิดประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น เธอยังชี้ว่ายอดขาย Traditional Trade บางพื้นที่ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่ยอดขายตามห้างต่างๆ กลับมาเติบโตมากกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว แต่ก็พบกับปัญหาสินค้าขาดแคลนเหมือนกัน
ขณะที่ประเด็นของความยั่งยืนนั้นเธอได้กล่าวว่า บริษัทได้ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ รวมถึงปัญหาขยะในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาที่บริษัทพยายามจะช่วยผลักดัน เช่น ผลิตภัณฑ์ไม่มีกล่องกระดาษอีกต่อไปเพื่อลดปัญหาดังกล่าว เป็นต้น
สิ่งที่ผู้บริหารหญิงรายนี้ได้เน้นคือเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะลดปัญหาที่เกิดจากการดื่ม เช่น การดื่มปริมาณไม่เหมาะสม และยิ่งโดยเฉพาะในประเทศไทยที่กฎหมายรัดกุม บริษัทให้ความใส่ใจอย่างมาก เช่น การออกแคมเปญการดื่มยังไงให้เหมาะสม เป็นต้น