อีกหนึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมจีนในยุคหลังโควิด-19 คือ “วัยรุ่น” มีอัตรา “ว่างงาน” ถึง 20.4% เนื่องจากเรียนจบมาในสายงานหรืออุตสาหกรรมที่ถูกรัฐบาลสกัดความร้อนแรงหรืออยู่ในช่วงตกต่ำพอดี เช่น ไอที กวดวิชา อสังหาริมทรัพย์ ขณะที่โรงงานเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน แต่วัยรุ่นที่จบสูงย่อมไม่ต้องการทำงานที่ต่ำกว่าระดับการศึกษาของตน
Goldman Sachs วิเคราะห์ปัญหาการ “ว่างงาน” ในกลุ่มวัยรุ่นจีนอายุ 16-24 ปีที่พุ่งสูง 20.4% ของประชากรวัยนี้ว่า เป็นเพราะการจบการศึกษามาไม่ตรงกับความต้องการในตลาดงาน
ย้อนไปในปี 2021 ผู้ที่จบการศึกษาด้านศึกษาศาสตร์และกีฬาเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2018 แต่ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการศึกษากลับตกต่ำลงอย่างมาก เหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางกฎหมาย กวาดล้างบรรดาโรงเรียนกวดวิชาในปี 2021
ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลจีนยังเริ่มทลายความร้อนแรงของบริษัทไอที-เทคโนโลยี เริ่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่ Alibaba จากนั้นจึงถึงคิวของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
นักวิเคราะห์ Goldman Sachs มองว่าแค่เพียง 3 อุตสาหกรรมนี้ก็ทำให้ตำแหน่งงานหายไปจากตลาดพอสมควร และยังกระทบมากในกลุ่มวัยรุ่น เพราะ 3 อุตสาหกรรมดังกล่าวปกติแล้วมักจะจ้างเด็กจบใหม่จำนวนมาก
ในทางกลับกัน ฝั่งโรงงานอุตสาหกรรมมีดีมานด์ความต้องการแรงงานสูงขึ้นมากระหว่างปี 2018-2021 จนโรงงานเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากร
คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาสูงจึงเกิดทางแยกในชีวิต เพราะทุกคนถีบตัวเองให้เรียนจบถึงปริญญาตรีเพื่อจะหลีกเลี่ยงการใช้แรงงาน แต่วันนี้เมื่อตลาดงานไม่เอื้ออำนวย พวกเขาจึงติดกับดักว่าจะถอดชุดครุยไปทำงานแรงงานเพื่อให้มีกิน หรือพยายามหางานออฟฟิศและเสี่ยงว่างงานไปอีกยาว
ภาวะนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาส่วนบุคคล แต่เป็นกงล้อหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เพราะวัยรุ่นที่ว่างงานจะขาดรายได้ และทำให้ต้องลดการใช้จ่าย ไม่สามารถช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจจากภายใน โดย Goldman Sachs รายงานว่า ปกติวัยรุ่นจะใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการบริโภคในประเทศ
หากคิดเป็นจำนวนคนแล้ว ปัจจุบันวัยรุ่นที่ยัง “ว่างงาน” มีเพิ่มขึ้น 3 ล้านคนเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และในหลายปีต่อจากนี้ปัญหาจะหนักข้อมากขึ้น เพราะแค่เพียงปีนี้ปีเดียวจะมีนักศึกษาจีนจบใหม่เข้าสู่ตลาดงานอีก 11.6 ล้านคน
รัฐบาลจีนเล็งเห็นปัญหานี้และพยายามวางนโยบายแก้ไข เช่น เริ่มออกมาตรการให้รัฐวิสาหกิจเปิดตำแหน่งงานให้นักศึกษาจบใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงเปิดคอร์สฝึกอาชีพเพื่อจะให้นักศึกษาที่จบไม่ตรงความต้องการตลาดได้เปลี่ยนสายงาน
อีกหนึ่งนโยบายที่กำลังพิจารณาคือ สนับสนุนภาคบริการให้เติบโตเพื่อสร้างตำแหน่งงาน ที่เลือกภาคธุรกิจนี้เพราะจีนเห็นว่าในประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา ภาคบริการเป็นธุรกิจที่จ้างงานคนเป็นสัดส่วนถึง 80% ของตลาดงานทั้งหมด ขณะที่ในจีนภาคบริการมีตำแหน่งงานยังไม่ถึง 50% ของตลาดงาน ธุรกิจนี้จึงน่าจะยังขยายการจ้างงานได้
จีนมองว่าปัญหาวัยรุ่นตกงานนั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าวัยทำงานในวันนี้ไม่มีงานทำ จะยิ่งกระทบหนักต่อสังคมจีนที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอีกด้วย