รายงานฉบับใหม่จากธนาคารโลก ได้แนะนำให้ประเทศไทยต้องปฏิรูปการจัดเก็บภาษีชุดใหญ่ และมีการควบคุมค่าใช้จ่าย หลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะของไทยในระยะยาว
ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกรายงานที่มีชื่อว่า Thailand – Public Revenue and Spending Assessment : Promoting an Inclusive and Sustainable Future โดยได้ประเมินรายได้ของรัฐบาลไทยในระยะยาวหลังจากนี้อาจมีปัญหาจากรายได้ที่ไม่เพียงพอ แต่รายจ่ายมากขึ้น
World Bank ได้ยกความท้าทายของไทยหลังจากต้องใช้มาตรการทางการคลังเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญปัญหาในระยะกลางจากปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น และต้องลดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง แต่ต้องมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะจากรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมที่สูงอายุ
ไม่เพียงเท่านี้ World Bank ยังเทียบกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ซึ่งประเทศไทยเองถือเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพของการใช้เงินภาษีต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศคล้ายๆ กัน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ World Bank คาดไว้คือมาจากภาคเศรษฐกิจนอกระบบของไทย
ในรายงานของ World Bank ฉบับดังกล่าวได้ชี้ว่ารัฐบาลไทยจะต้องปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวนั้นไม่ว่าจะเป็น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% ให้เป็น 10% การยกเลิกมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับปรุงค่าลดหย่อนต่างๆ
นอกจากนี้ World Bank ยังเสนอให้สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการดึงธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ หรือแม้แต่การเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งถ้าหากประเทศไทยมีการปฏิรูปภาษีแบบต่อเนื่องทาง World Bank คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้มาอยู่ที่ 24.3% ของ GDP ไทยต่อปี เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 3.5% จะทำให้มีรายได้ให้กับรัฐบาลสามารถใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น
ขณะที่การประหยัดค่าใช้จ่ายที่ World Bank นั้นไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนมาใช้การบูรณาการในการตรวจสุขภาพ การติดตามผลที่ดีจะลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้ การปรับปรุงการทำประกันสุขภาพให้กับข้าราชการ การรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อที่จะทำให้การสอนมีคุณภาพ
รายงานดังกล่าวยังคาดว่าถ้าหากมีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น แต่การจัดเก็บรายได้ยังเท่าเดิม คาดว่าในปี 2049 หนี้สาธารณะต่อ GDP ไทยจะสูงมากกว่า 110% ของ GDP แต่ถ้าหากมีปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีและมีการจัดการด้านรายจ่ายต่างๆ คาดว่าหนี้สาธารณะจะมีระดับต่ำว่า 40% ของ GDP ได้