ดราม่าพนักงาน “Starbucks” สหรัฐฯ แฉบริษัทสั่ง “แบน” ของตกแต่งสีรุ้งในช่วง Pride Month

(photo: Starbucks)
สหภาพแรงงาน “Starbucks” ในสหรัฐฯ แฉผ่านโซเชียลมีเดียว่าบริษัทมีคำสั่ง “แบน” การตกแต่งร้านด้วยสีรุ้งในช่วง Pride Month ขณะที่ฝั่งบริษัทปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นความจริง ถือเป็นดราม่าที่ขัดต่อความเป็นมาของเชนร้านกาแฟแบรนด์นี้ที่ให้การสนับสนุน LGBTQ มาตลอดหลายปี

สหภาพแรงงาน Starbucks สหรัฐฯ ทวีตแฉคำสั่งจากบริษัทให้งดการตกแต่งด้วยสีรุ้งเพื่อฉลอง Pride Month และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน Forbes ว่า สหภาพฯ ได้รับคำบอกเล่าจากพนักงานใน 21 มลรัฐว่าได้รับคำสั่งแบบเดียวกัน โดยในรัฐโอคลาโฮมาให้เหตุผลกับพนักงานว่า จำเป็นต้องงดตกแต่งร้านด้วยสีรุ้งเพื่อความปลอดภัยของร้านเอง หลังจากห้าง Target ถูกขู่วางระเบิดเพราะวางจำหน่ายสินค้าต้อนรับ Pride Month

พนักงานบางคนยังแชร์ภาพหรือวิดีโอลงในโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok , Twitter เพื่อยืนยันว่ามีคำสั่งงดเกิดขึ้นจริง เช่น วิดีโอการเก็บของตกแต่งสีรุ้งออกจากสาขาหนึ่งในรัฐวิสคอนซิน ซึ่งทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์บริษัท

อย่างไรก็ตาม Andrew Tull โฆษก Starbucks ปฏิเสธว่านโยบายงดตกแต่งร้านด้วยธงสีรุ้งนั้นไม่เป็นความจริง และกล่าวว่าข้อกล่าวหานั้นเป็น “ข้อมูลที่ผิด” รวมถึงให้ความมั่นใจว่าบริษัทยังสนับสนุนชุมชน LGBTQ เช่นเดิม

Starbucks นั้นมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับ LGBTQ มานาน โดยบริษัทนี้ได้คะแนนระดับสมบูรณ์แบบจาก “ดัชนีความเท่าเทียมในองค์กร” จัดโดย Human Rights Campaign ซึ่งจะพิจารณาจากการดูแลและสวัสดิการที่ให้แก่พนักงาน LGBTQ และไม่ใช่เพิ่งจะได้ในปีนี้ แต่บริษัทได้สถานะนี้มาตั้งแต่ปี 2015 และยังสนับสนุนการจัดเทศกาล Pride รวมถึงบริจาคให้กับกลุ่ม LGBTQ มาโดยตลอด

(Photo : Shutterstock)

อีกตัวอย่างการสนับสนุน LGBTQ คือเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน Starbucks อินเดีย มีการออกอากาศโฆษณาชุดหนึ่งเล่าเรื่องคุณพ่อที่พยายามจะกลับมาสานสัมพันธ์อันดีกับลูกสาวที่เป็นทรานสเจนเดอร์ ซึ่งทำให้ได้รับทั้งคำชื่นชมในความกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และคำวิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษนิยม

ไม่ว่าความจริงในกรณีดราม่านี้จะเป็นเช่นไร แต่ที่เห็นได้ชัดคือสังคมอเมริกันมีการโต้กลับจากกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดรุนแรงขึ้นมากในปีนี้ โดยมีอินฟลูเอนเซอร์หลายรายที่คอยติดตามล่าชื่อบริษัทที่ถือว่าเป็นบริษัท “woke” ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เพศ เชื้อชาติ ช่องทางเหล่านี้มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1-2 ล้านคนต่อช่อง

กลุ่มอนุรักษนิยมเหล่านี้ต้องการจะ “ทำสงครามทางวัฒนธรรม” และรู้สึกรับไม่ได้อีกต่อไปแล้วกับ “ทุนนิยมสีรุ้ง” ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน

ตั้งแต่ต้นปีนี้มีแบรนด์จำนวนมากที่ถูกโซเชียลมีเดียกลุ่มขวาจัดไล่ล่าเพื่อบอยคอต เช่น Bud Light เบียร์ที่เลือกทรานสเจนเดอร์ชื่อดังมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้แบรนด์ หรือห้าง Target ที่เปิดจำหน่ายสินค้าเพื่อ LGBTQ ต้อนรับ Pride Month ทำให้ถูกกลุ่มขวาจัดบุกข่มขู่พนักงานจนห้างต้องยอมนำของบางชิ้นออกจากชั้นวางจำหน่าย

Source