หัวเว่ย (Huawei) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่จากประเทศจีนได้เรียกเก็บค่าสิทธิเพิ่มจากผู้ผลิตสินค้าในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงในอาเซียน หลังจากที่รายได้ของบริษัทลดลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา
Nikkei Asia รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Huawei ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่จากประเทศจีน ได้เตรียมที่จะเก็บค่าสิทธิ (Royalty) จากผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมในประเทศญี่ปุ่นกว่า 30 ราย ซึ่งเป็นการหารายได้เพิ่มเติม หลังจากที่รายได้ของบริษัทไม่เติบโตมากนักในช่วงที่ผ่านมา
โดยค่าสิทธิที่ Huawei จะเรียกเก็บนั้นจะมาจากสิทธิบัตรด้านโทรคมนาคมที่บริษัทจากจีนรายนี้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi หรือแม้แต่เทคโนโลยี 4G บางส่วน
ผู้ผลิตสินค้าในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กได้ถูก Huawei เจรจาในการขอเก็บค่าสิทธิดังกล่าวเพิ่มเติม โดยค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บนั้นมีหลายอัตรา ไม่ว่าจะเป็น 50 เยนต่อสินค้า 1 ชิ้น หรือ 0.1% (หรือต่ำกว่า) ของราคาสินค้าถ้าหากสินค้าหรือระบบดังกล่าวมีราคาแพง
ผู้ผลิตสินค้าในประเทศญี่ปุ่นที่ใช้เทคโนโลยีของ Huawei เช่น Suzuki Motor ที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทจากจีนรายนี้ในการเชื่อมต่อกับเครือข่าย 4G เพื่อที่จะใช้ในรถยนต์ของบริษัทที่วางจำหน่าย
ในช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศจีนล่าสุดมีรายได้จากการออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรของ Huawei เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว และรายได้ดังกล่าวยังมากกว่ารายจ่ายที่ต้องจ่ายให้กับสิทธิบัตรของบริษัทอื่นๆ แล้ว
ลูกค้าสำคัญของ Huawei ที่ซื้อสิทธินั้นประกอบไปด้วย ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็น Audi BMW รวมถึง Mercedes Benz ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังพยายามเพิ่มเทคโนโลยีการสื่อสารให้กับยานพาหนะของตน รวมถึงการออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรให้กับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Nokia ด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทต้องเรียกเก็บเงินค่าสิทธิเพิ่ม เนื่องจากกำไรของบริษัทที่ลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรของทางสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทต้องดิ้นรนเพื่อที่จะหารายได้เพิ่มเติม หรือแม้แต่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ ในผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อที่จะเอาชนะมาตรการดังกล่าวให้ได้
รายได้ของ Huawei ที่ยังไม่ผ่านการยืนยันของหัวเว่ยในปี 2022 อยู่ที่ราวๆ 636,900 ล้านหยวน แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2021 เท่าไหร่นัก ทำให้บริษัทต้องงัดมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้หลังจากนี้ ซึ่งการขึ้นค่าสิทธิจากผู้ผลิตสินค้าถือเป็นรายได้อีกทางของบริษัทในช่วงเวลานี้
ไม่เพียงแค่บริษัทในญี่ปุ่นเท่านั้น ทาง Huawei ได้เริ่มเจรจากับผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของทางบริษัทกับบริษัทต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน