“เกาหลีใต้” เตรียมแก้ข้อสอบเข้ามหา’ลัยให้สอดคล้องกับการศึกษาของรัฐ ลดการทุ่ม “กวดวิชา”

(Photo: Shutterstock)
รัฐบาล “เกาหลีใต้” ประกาศแผนเพื่อลดการทุ่มเงิน “กวดวิชา” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกของแดนโสมขาวสูงที่สุดในโลก โดยรัฐบาลจะเริ่มจากการปรับแก้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนของรัฐ เนื่องจากปัจจุบันข้อสอบเอนทรานซ์มักจะออกให้ยากและไม่มีสอนในหลักสูตรปกติ จนเด็กมัธยมส่วนใหญ่ต้องเข้าเรียนกวดวิชาเพื่อฝึกทำโจทย์นอกหลักสูตร

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศในวันที่ 26 มิถุนายน 2023 ว่า รัฐมีแผนที่จะลดการใช้จ่ายมหาศาลไปกับโรงเรียนกวดวิชาของพ่อแม่ผู้ปกครองชาวเกาหลี ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของคนเกาหลีใต้ตกต่ำลงมาก

ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกัน “ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพิ่งจะวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่ามีการตั้งโจทย์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของรัฐ โดยมีโจทย์บางข้อถึงขั้นถูกเรียกว่าเป็น “คำถามฆาตกร” เพราะมีความซับซ้อนสูงมากจนนักเรียนทั่วไปไม่สามารถแก้โจทย์ได้

“เราจะตัดวงจรของ ‘คำถามฆาตกร’ ในข้อสอบ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการแข่งขันจนเกินพอดีในหมู่นักเรียนและผู้ปกครองภายในโรงเรียนกวดวิชา” ลี จูโฮ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้กล่าวในการแถลงข่าววันนี้

รัฐมนตรีลียังให้คำมั่นว่าจะกวาดล้าง “กลุ่มผูกขาด” ในตลาดการศึกษาภาคเอกชนเหล่านี้ และจะมีการสอดส่องการโฆษณาเกินจริงของโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมาสื่อมวลชนท้องถิ่นของเกาหลีใต้เคยรายงานข่าวว่า มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างอุตสาหกรรมโรงเรียนกวดวิชากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยความสัมพันธ์นี้นำไปสู่การออกข้อสอบเอนทรานซ์ที่ทำให้ต้องมีการ “ติว” หนังสือนอกโรงเรียนเท่านั้นจึงจะทำข้อสอบได้

รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการและสำนักสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ระบุว่า เมื่อปี 2022 ชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศลงทุนกับการส่งลูกไปเรียนกวดวิชาคิดเป็นเม็ดเงินรวมกันกว่า 26 ล้านล้านวอน (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) ทั้งที่ประชากรวัยเรียนในประเทศกำลังลดจำนวนลง โดยนักเรียนเกาหลีใต้เกือบ 8 ใน 10 คนลงเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่เรียกกันว่า “ฮากวอน”

การที่ต้องพึ่งพิงการศึกษานอกโรงเรียนเช่นนี้ทำให้เกาหลีใต้มีค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรที่สูงที่สุดในโลก และมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำติดอันดับโลกเช่นกัน

การที่ต้องส่งลูกเข้า “ฮากวอน” ก็เพราะข้อสอบเอนทรานซ์ที่มี “คำถามฆาตกร” คำถามที่ยากและไม่มีสอนในหลักสูตรปกติเช่นนี้ เปิดช่องให้โรงเรียนกวดวิชาทำหน้าที่สอนวิธีแก้โจทย์เหล่านี้แทน

สังคมเกาหลีใต้มองว่าคำถามที่ยากจะช่วยให้มหาวิทยาลัยได้คัดเลือกนักเรียนที่เก่งที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูง แต่ประธานาธิบดียุนกล่าวว่า การออกข้อสอบลักษณะนี้ “ไม่ยุติธรรม” เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์พอส่งลูกไปเรียนพิเศษนอกเวลาได้

Photo : Xinhua

ด้าน “ชิน โซยัง” นักกิจกรรมรณรงค์จากกลุ่ม The World Without Worry About Private Education (โลกที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเรียนกวดวิชา) กล่าวว่า แผนของรัฐบาลอาจจะยังไม่พอที่จะหยุดการแข่งขันด้านการศึกษาได้

“รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาแผนที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้ ตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดการแข่งขันเกินสมควรในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดไม่กี่แห่งของประเทศ” ชินกล่าว

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนนี้ มีนักเรียนและ ‘เด็กซิ่ว’ รวม 450,000 คนร่วมเข้าสอบเอนทรานซ์ในเกาหลีใต้ การจัดสอบที่มีขึ้นตลอดทั้งวันนั้นสำคัญกับคนเกาหลีใต้มาก จนมีการห้ามเครื่องบินขึ้นบินตลอดชั่วโมงที่ผู้เข้าสอบเข้าสู่ช่วงทำโจทย์ข้อสอบการฟังภาษาอังกฤษ

หลังรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศการกวาดล้างนี้ออกไป ทำให้ราคาหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกโรงเรียนของเกาหลีใต้ตกต่ำลงเล็กน้อย โดยมีบริษัทเกาหลีใต้ที่เกี่ยวข้อง เช่น Woongjin Thinkbig, MegaStudyEdu, Multicampus Corp. เป็นต้น

Source