รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ชี้ถึงปัญหาหนี้สาธารณะทั่วโลกรวมกันล่าสุดนั้นสูงถึง 92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มมากขึ้น 5 เท่าในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้ในประเทศกำลังพัฒนานั้นได้เพิ่มสูงขึ้น จนสร้างความเป็นห่วงในความสามารถในการชำระหนี้
รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ ที่ได้ออกมาเตือนถึงปริมาณหนี้สาธารณะในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยล่าสุดอยู่ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินเกือบ 3,000 ล้านล้านบาท ซึ่งปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นนั้นมาจากหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่
ในรายงานดังกล่าวชี้ว่า 30% ของปริมาณหนี้สาธารณะมาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยมีมากถึง 59 ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่า 60% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 22 ประเทศจากในช่วงปี 2011
โดยประเทศที่มีจำนวนหนี้สาธารณะมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี อินเดีย เยอรมัน
นอกจากนี้ UN ยังชี้ว่าหลายประเทศในแอฟริกาได้จ่ายดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะมากกว่างบประมาณสำหรับการศึกษาหรือแม้แต่งบสำหรับการสาธารณสุขด้วยซ้ำ และหลายประเทศกำลังพบกับสภาวะที่ต้องเลือกระหว่างหนี้ของประเทศหรือใช้งบประมาณในการดูแลประชาชน
แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนามีระดับหนี้สาธารณะน้อยกว่าประเทศพัฒนา แต่หลายประเทศนั้นกลับมีต้นทุนทางการเงินที่มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ในรายงานชี้ว่าหลายประเทศในแอฟริกาต้องชำระหนี้มากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า และมากกว่าประเทศในยุโรปถึง 8 เท่าด้วยซ้ำในจำนวนเงินกู้ที่เท่ากัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นในรายงานของ UN ก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศไม่สามารถหารายได้ จึงต้องใช้มาตรการในการกู้เงินทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อที่จะดูแลประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว
คำนิยามของคำว่าหนี้สาธารณะคือ การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งจำนวนหนี้ที่มากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการหนี้ นอกจากนี้จำนวนหนี้สาธารณะเป็นตัวชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานั้นด้วย
UN ยังชี้ว่าประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ควรจะสร้างเครื่องมือบริหารหนี้ให้กับประเทศที่มีหนี้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ การยืดอายุหนี้ออกไป รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในปัจจุบัน
โดยประเด็นหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ถูกหยิบยกมาในการประชุมกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเงินและเศรษฐกิจ หรือ G20 และมีความพยายามที่ชักชวนให้จีนเข้าร่วมในการบรรเทาวิกฤตหนี้ที่จีนเป็นเจ้าหนี้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหรือแม้แต่แอฟริกา