การกลับมาสร้างความเชื่อมั่นในสินค้ารถยนต์ฮอนด้า ได้มีการสร้างทั้งในระดับพนักงานและลูกค้า เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของฮอนด้าแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือขึ้น
หลังจากที่ผ่านวิกฤตน้ำท่วมไปแล้ว การพลิกฟื้นของแบรนด์ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาในวิกฤตก้เริ่มต้นขึ้น เพื่อทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพและผลิตภัณฑ์หลังจากนี้ว่าอยู่ในมาตรฐาน และยอมรับได้
ฮอนด้า ประเทศไทยเริ่มเรียกความเชื่อมั่นจากพนักงานก่อนด้วยการดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ทั้งเรื่องค่าแรง และเงินช่วยเหลือ พร้อม ๆ กับออกแคมเปญฟื้นฟูโรงงาน โดยใช้คำในภาษาญี่ปุ่นซึ่งอ่านออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษว่า Gambara คำนี้ถูกสกรีนลงบนแขนเสื้อยืดสีขาวของพนักงานฮอนด้าที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะใส่ ในวันที่ฮอนด้าจัดแถลงข่าวการทำลายรถฮอนด้าที่ถูกน้ำท่วมจำนวน 1,055 คัน ซึ่งเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก
เจ้าหน้าที่ของฮอนด้าอธิบายให้ฟังว่า คำนี้มีความหมายว่า “สู้” ในภาษาญี่ปุ่น โดยผู้ที่ส่งคำนี้มาให้คือพนักงานฮอนด้าที่ญี่ปุ่นที่เขียนลงบนป้ายผ้า และตะโกนคำนี้ออกมา บันทึกลงในคลิปวิดีโอ แล้วส่งมาให้พนักงานฮอนด้าในประเทศไทย สื่อถึงสัญญลักษณ์ว่าให้สู้ต่อไป
นอกจากนี้วิศวกรญี่ปุ่นของฮอนด้าที่ทำงานในประเทศต่าง ๆ จำนวนมากก็เดินทางเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างโรงงานใหม่ เพราะโรงงานที่ประเทศไทยเป็นเหมือนโรงเรียนอบรมวิศวกรญี่ปุ่นก่อนที่จะส่งไปทำงานยังประเทศอื่น ๆ จึงเหมือนการกลับมาเยี่ยมบ้านอีกครั้ง
บรรยากาศโรงงานฮอนด้าในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จึงผสมผสานไปด้วยคนญี่ปุ่น และคนไทย ทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้โรงงานกลับมาเดินเครื่องได้ในระยะเวลาอันสั้น
ส่วนการเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่าเพื่อตัดข้อกังวลใจของผู้บริโภคว่ารถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจะถูกนำมาแก้ไข ซ่อมแซม หรือมีชิ้นส่วนที่จมน้ำ ถูกนำกลับมาหมุนเวียนใช้ในตลาดรถ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจว่าสินค้าฮอนด้าอยู่ในมาตรฐานเช่นเดิม
ฮอนด้าลงทุนทำลายรถยนต์กว่า 1,000 คัน แลกมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ในระยะยาวก็ถือว่าคุ้มค่า