‘Foxconn’ ทุ่มงบเพิ่ม 1.75 หมื่นล้าน สร้าง 2 โรงงานผลิตชิ้นส่วนสินค้า Apple ใน ‘อินเดีย’

ถึงจะแม้ว่าดีลการร่วมทุนมูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท ของ Foxconn ซัพพลายเออร์เจ้าใหญ่ของ Apple กับ Vedanta บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่จากอินเดีย เพื่อสร้าง โรงงานผลิตชิปและจอแสดงผล ในอินเดียจะต้องพับไป แต่ Foxconn ก็ยังมุ่งมั่นจะย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วน Apple จากจีนไปยังอินเดีย

ล่าสุด Foxconn กำลังวางแผนที่จะลงทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.75 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบ 2 แห่งในอินเดีย โดยโรงงานอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่บริษัทไต้หวันมีแผนจะก่อสร้างอยู่ในรัฐกรณาฏกะทางตอนใต้ โดยจะผลิตชิ้นส่วนสินค้าของ Apple โดยเฉพาะสำหรับ iPhone

นอกจากนี้ Foxconn ยังได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นกับ รัฐบาลรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้เพื่อจัดตั้งโรงงานส่วนประกอบด้วยเงินลงทุน 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.8 พันล้านบาท) โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมของรัฐคาดว่า โรงงานดังกล่าวอาจสร้างงานได้ถึง 6,000 ตำแหน่ง

สำหรับการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนเพิ่มเติมจากที่ Foxconn เคยลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานบนพื้นที่ 300 เอเคอร์ใกล้กับสนามบินในเบงกาลูรู เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ โดยโรงงานดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะประกอบ iPhone และคาดว่าจะสร้างงานประมาณ 100,000 ตำแหน่ง

ความเคลื่อนไหวของ Foxconn ในอินเดีย เน้นให้เห็นว่าประเทศอินเดียกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างรวดเร็วสำหรับ บริษัทผู้ผลิตที่มองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากจีน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในซัพพลายเชนทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ฝันสลาย! ‘Foxconn’ ถอนการลงทุน ‘โรงงานผลิตชิป’ มูลค่า 1.9 หมื่นล้านใน ‘อินเดีย’

ปัจจุบัน ศูนย์ประกอบ iPhone ขนาดใหญ่ของ Foxconn ตั้งอยู่ในเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนานตอนกลาง และปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์แกดเจ็ตของ Apple ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานประมาณ 200,000 คน แต่ในปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิดในจีนนั้นยังรุนแรง ส่งผลให้การผลิตต้องหยุดชะงัก จึงส่งผลให้ Apple เริ่มมีความคิดที่จะไม่พึ่งพาจีนอีกต่อไป

โดยการตัดสินใจของ Foxconn ชี้ให้เห็นว่าเหล่าซัพพลายเออร์อาจย้ายกำลังการผลิตออกจากประเทศจีนเร็วกว่าที่คาดไว้มาก โดยปัจจัยหนุนมาจากการที่รัฐบาลอินเดียมองเห็นโอกาสที่จะใช้ช่วงที่จีนกำลังมีปัญหากับชาติตะวันตก เนื่องจากนักลงทุนและบริษัทจากชาติตะวันตกไม่พอใจต่อกฎระเบียบที่ผันผวนของรัฐบาลจีน เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และข้อจำกัดทางการค้าของสหรัฐฯ

Source