TikTok Music แอปฯ น้องสาวที่ออกมาบุกธุรกิจมิวสิค สตรีมมิ่ง เปิดตัวแล้วใน 5 ประเทศ มาดูกันว่าฟีเจอร์เด็ดๆ ในแอปฯ นี้จะมีอะไรมาแข่งขันกับเจ้าตลาดดั้งเดิมบ้าง
TikTok กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมดนตรี เพราะฟีเจอร์การใช้เพลงประกอบ ‘ท่าเต้น’ ถ้าหากชาเลนจ์ฮิตติดกระแสขึ้นมาก็จะทำให้เพลงนั้นดังระเบิดไปด้วย จากอิทธิพลตรงนี้ทำให้ ByteDance บริษัทแม่เลือกเปิดแอปฯ มิวสิค สตรีมมิ่งอย่าง “TikTok Music” ขึ้นมาแข่งขัน
ขณะนี้แอปฯ TikTok Music มีให้บริการใน 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ บราซิล, เม็กซิโก, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ และยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีการเปิดบริการเพิ่มในประเทศใดอีกในเร็วๆ นี้
สำนักข่าว Business Insider มีการทดลองใช้งานแอปฯ TikTok Music เวอร์ชันเบตาของประเทศสิงคโปร์ พวกเขาพบว่าประสบการณ์การใช้งานจะคล้ายกับการเล่น TikTok มากๆ ทำให้คนที่ใช้ TikTok ประจำจะรู้สึกคุ้นเคยกับแอปฯ ใหม่ได้ง่าย
TikTok Music มีเฉพาะฟังก์ชันแบบจ่ายค่าสมาชิก ไม่มีฟังก์ชันใช้ฟรี (แบบมีโฆษณาคั่น) โดยมีโปรโมชันให้ทดลองใช้ฟรี 3 เดือน ในสิงคโปร์ขณะนี้คิดราคาแพ็กเกจบุคคลที่ 7.90 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน (ประมาณ 206 บาท)
พวกเขายังเก็บฟีเจอร์ที่น่าสนใจมาฝาก ดังนี้
1.หน้าฟีดส์ “For You” แนะนำเพลงที่น่าจะโดนใจมาให้
คล้ายกับหน้าฟีดส์ “For You” ใน TikTok คือจะมีการใช้อัลกอริธึมแนะนำเพลงที่เราน่าจะชอบมาให้ โดยสามารถเลือกแยกย่อยได้อีก 2 แบบคือ ฟีดส์แบบ “Fresh” กับแบบ “Familiar”
หน้าฟีดส์ “Fresh” จะเป็นการป้อนเพลงใหม่ๆ ที่เราอาจยังไม่เคยฟังมาให้ ส่วนฟีดส์ “Familiar” คือจะเน้นเฉพาะเพลงที่เราได้ฟังบ่อยๆ คุ้นเคย และน่าจะอยากฟังซ้ำ
2.มีระบบโซเชียลในแอปฯ ผู้ใช้ออกความเห็นพูดคุยกันเกี่ยวกับเพลงนั้นได้
ถือว่าเป็นระบบที่แตกต่างจากแอปฯ มิวสิค สตรีมมิ่งอื่นๆ คือ ให้ผู้ใช้คอมเมนต์เพลงโดยตรง แถมยังให้ความสำคัญมาก เพราะ ‘Top Comment’ ความเห็นที่มีคนกดไลก์มากที่สุดจะถูกนำมาแสดงให้เห็นชัดเจน
ความเห็นเหล่านี้ยังกดแปลเป็นภาษาแม่ของผู้ใช้ได้ด้วย ทำให้แอปฯ พร้อมจะเป็นแอปฯ ระดับสากล คนทั้งโลกสามารถคุยกันได้หมด
ตาเตียนา คิริซาโน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมดนตรีและที่ปรึกษาจากบริษัทวิจัย MIDiA Research กล่าวว่า ฟีเจอร์ลักษณะนี้จะดึงดูดความสนใจผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ได้ดี ซึ่งจะทำให้ TikTok Music ได้เปรียบแอปฯ เจ้าตลาดดั้งเดิม เช่น Spotify, Apple Music ในการดึงผู้ใช้ใหม่ๆ
3.ระบบ Party Mode
เป็นระบบสำหรับงานปาร์ตี้ ทำให้เพลงสามารถเล่นที่วอลุ่มเสียงดังกว่าปกติขึ้นไปอีก และปรับไฟฉายของเครื่องให้ส่องแสงเป็นจังหวะเข้ากับเพลง
4.ฟังเพลย์ลิสต์จาก “TikTok Viral”
ไม่น่าแปลกใจที่แอปฯ จะต้องเชื่อมโยงกับ TikTok โดยนำเพลงที่กำลังเป็นไวรัลในแอปฯ มาจัดเป็นเพลย์ลิสต์ มีทั้งแบบไวรัลทั่วโลก และไวรัลในประเทศนั้น
5.“Similar Mix” ระบบจัดเพลงที่เหมือนกับเพลงนั้นมาให้
โหมดนี้จะต่างจากแอปฯ อื่นซึ่งมักจะสร้างเพลย์ลิสต์มาให้เลือกฟังเพลงตามอารมณ์ (Mood) หรือฟังตามประเภทเพลง (Genre) แต่ใน TikTok Music จะให้เรากดเลือกฟังเพลงสักเพลงหนึ่งก่อน จากนั้นให้แอปฯ สร้างเพลย์ลิสต์ “Similar Mix” เป็นเพลงที่คล้ายกับเพลงนั้นที่เราฟังอยู่ ซึ่งหมายถึงคล้ายทั้งประเภทแนวเพลงและคล้ายในแง่เนื้อหาของเพลงด้วย
ต้องดูว่า TikTok Music จะเดินเกมต่ออย่างไร เพราะแอปฯ มิวสิค สตรีมมิ่งระดับโลกอื่นๆ เดินหน้าไปมากแล้ว Spotify และ Apple Music มีบริการในตลาดมากกว่า 100 ประเทศ
ส่วน YouTube Music ซึ่งมาทีหลังและใช้โมเดลในลักษณะดึงผู้ใช้จากแอปฯ สุดฮิตอันเดิมเข้าสู่แอปฯ ใหม่ ปัจจุบันมีผู้ใช้ทั่วโลก 73 ล้านคน ตามข้อมูลจาก MIDiA
- รายได้ของ ByteDance ในจีนปี 2022 เติบโตเหลือแค่ 25% คาดบริษัทโฟกัสธุรกิจจากต่างแดนเพิ่มในปีนี้
- ตลาดเตรียมเดือด! เมื่อ ‘TikTok’ จดสิทธิบัตร ‘TikTok Music’ รุกมิวสิค สตรีมมิ่ง
TikTok Music ระบุไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า แอปฯ จะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาอีกแน่นอนในไม่กี่เดือนจากนี้ ก็ต้องรอติดตามต่อไปว่าแอปฯ จะกล้าบุกตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาไหม เมื่อบริษัทแม่ ByteDance ยังมีคดีขัดแย้งกับรัฐบาลอเมริกันอยู่ ส่วนในไทยก็ต้องจับตามอง เมื่อ 5 ประเทศแรกที่เปิดตัวมีถึง 2 ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้