ANA เปิดโลว์คอสต์ “AirJapan” ชิงลูกค้าเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว ท้าชนคู่แข่ง ZIPAIR

AirJapan
  • “AirJapan” สายการบินโลว์คอสต์ในเครือ ANA Holdings เตรียมบินเที่ยวปฐมฤกษ์เส้นทาง กรุงเทพฯโตเกียว วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567
  • ช่วงเปิดตัวมุ่งเป้าเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยสู่ญี่ปุ่น คาดมีผู้โดยสารไทย 70% และวางเป้าอัตราผู้โดยสารต่อเที่ยว (Load Factor) ถึง 80% ตั้งแต่ช่วงแรก
  • ถือเป็นการชิงตลาดกับ “ZIPAIR” โลว์คอสต์ในเครือ Japan Airlines (JAL) คู่แข่งโดยตรงที่เปิดตัวไปเมื่อ 3 ปีก่อน

“มิเนะกุจิ ฮิเดกิ” ประธานสายการบิน แอร์เจแปน (AirJapan) ในเครือ ANA Holdings แถลงเปิดตัวสายการบินและรายละเอียดก่อนการบินเที่ยวปฐมฤกษ์อย่างเป็นทางการ

โดย AirJapan ถือเป็นสายการบินโลว์คอสต์ (LCC) ขณะนี้เปิดตัวเส้นทางแรกที่จะทำการบินคือ “กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – โตเกียว (นาริตะ)” วางกำหนดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ระยะแรกจะทำการบิน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

AirJapan
ที่นั่งบนสายการบิน AirJapan ใช้เบาะหนังสีดำหรูหรา ขลิบสีส้ม

เครื่องบินที่ใช้จะเป็น Boeing 787-8 จำนวน 324 ที่นั่ง เป็นที่นั้งชั้นประหยัดทั้งหมด แต่มีให้เลือกแพ็กเกจในการจองตั๋วโดยสารเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • Simple ไม่โหลดกระเป๋า ไม่เลือกที่นั่ง ไม่รับอาหารบนเครื่อง เริ่ม 4,350 บาท/เที่ยว
  • Standard โหลดกระเป๋าได้ 23 กิโลกรัม เลือกที่นั่งได้ ไม่รับอาหารบนเครื่อง เริ่ม 5,450 บาท/เที่ยว
  • Selected โหลดกระเป๋าได้ 23 กิโลกรัม เลือกที่นั่งได้ เลือกอาหารระหว่างเที่ยวบินได้ เริ่ม 6,720 บาท/เที่ยว

 

มุ่งเป้าผู้โดยสาร “ไทย” บินเที่ยวญี่ปุ่น

ฮิเดกิกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ANA Holdings มีสายการบินในเครือที่เป็นโลว์คอสต์อยู่ก่อนแล้วคือ Peach Air ซึ่งจับกลุ่มตลาดบินระยะใกล้ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง รวมถึงทำการบินเข้าไทยในเส้นทาง กรุงเทพฯ – โอซาก้า และ กรุงเทพฯ – โอกินาว่า ด้วย

ยูนิฟอร์มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน Air Japan

ส่วนการเปิดตัว AirJapan เป็นสายการบินโลว์คอสต์แห่งที่สองในเครือ ฮิเดกิมองว่าจะเข้ามาเติมช่องว่างตลาดโลว์คอสต์ในการบินระยะกลางและระยะไกล โดยบริษัทเลือกเปิดเส้นทางไทย-ญี่ปุ่นก่อนเพราะนักท่องเที่ยวชาวไทยนั้นเป็นกลุ่มสัญชาติที่เข้าสู่ญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 6

ฮิเดกิตั้งเป้าว่า AirJapan จะมีอัตราผู้โดยสารต่อเที่ยว (Load Factor) แตะ 80% ได้ตั้งแต่ช่วงแรกที่เปิดตัว เนื่องจากกระแสการท่องเที่ยวของชาวไทยไปญี่ปุ่นกลับมาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลังเปิดพรมแดน

คาดว่าสัดส่วนผู้โดยสารบนเครื่องจะเป็นชาวไทย 70% และชาวญี่ปุ่น 30% เหตุที่คนไทยน่าจะมีสัดส่วนมากกว่า เพราะฝั่งชาวญี่ปุ่นเองยังไม่นิยมออกท่องเที่ยวต่างประเทศมากนักจากปัญหาค่าเงินเยนอ่อนตัว ทำให้การเที่ยวต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

AirJapan
อาหารที่สามารถเลือกได้ระหว่างเที่ยวบิน เน้นอาหารสไตล์ญี่ปุ่น

สำหรับแผนในอนาคตของ AirJapan ฮิเดกิแย้มว่าจะมีการเพิ่มเส้นทางกรุงเทพฯ กับภูมิภาคคันไซของญี่ปุ่น และจะเชื่อมเส้นทางโตเกียวเข้ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

 

เส้นทางไทย-ญี่ปุ่นแข่งดุ

ตลาดการแข่งขันโลว์คอสต์ในเส้นทางไทย-ญี่ปุ่นนั้นเข้มข้นขึ้นหลังโควิด-19 เพราะเดิมสายการบินที่ครองตลาดกลุ่มนี้คือ “ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์” ซึ่งมี 3 เส้นทางบิน คือ กรุงเทพฯ – โตเกียว, กรุงเทพฯ – โอซาก้า และ กรุงเทพฯ – ซับโปโร

แต่หลังจากผ่านโควิด-19 มีสายการบิน LCC อื่นเปิดบินตรงมากขึ้น เช่น “ไทยเวียตเจ็ท” เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ – ฟุกุโอกะ และ เชียงใหม่ – โอซาก้า รวมถึงสายการบินญี่ปุ่น “ZIPAIR” ในเครือ Japan Airlines (JAL) ก็เริ่มเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ – โตเกียว มาตั้งแต่ปี 2563

หากมองในแง่สัญชาติของสายการบิน จึงทำให้ AirJapan เป็นการชนตลาดกับคู่แข่งทางตรงคือ ZIPAIR

Air Japan
“มิเนะกุจิ ฮิเดกิ” ประธานสายการบิน แอร์เจแปน (AirJapan)

ฮิเดกิกล่าวถึงประเด็นการแข่งขันที่เข้มข้นนี้ว่า เขาเชื่อว่าแม้ตลาดจะแข่งขันสูงแต่ดีมานด์ก็สูงด้วยเช่นกัน เพราะญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย และ AirJapan จะแข่งขันด้วย 3 ไฮไลต์สำคัญ คือ

1.ความกว้างของพื้นที่วางขา (Leg Room) กว้าง 31.6 นิ้ว (*ถือเป็นความกว้างที่ใกล้เคียงกับสายการบินฟูลเซอร์วิสซึ่งมักจะมี Leg Room กว้าง 32-34 นิ้ว)

2.อาหารเสิร์ฟระหว่างเที่ยวบิน มีให้เลือกถึง 13 รายการ เช่น ชุดปลาแซลมอนย่าง ชุดซูชิโอมากาเสะ ชุดข้าวสวยพร้อมไก่ย่างถ่านและไข่นุ่ม

3.การบริการที่ใส่ใจและปราณีตในแบบชาวญี่ปุ่น

“การท่องเที่ยวระหว่างไทยญี่ปุ่นจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เป็นตลาดที่กำลังเติบโตและเราจะโตไปพร้อมกับตลาด เชื่อว่าเราสามารถแข่งขันในเส้นทางนี้ได้” ฮิเดกิกล่าวปิดท้าย