ครึ่งปีแรก 2566 “ไทยเวียตเจ็ท” รายได้พุ่ง 103% ลดการ “ดีเลย์” เที่ยวบินตรงเวลาเพิ่มเป็น 82%

ไทยเวียตเจ็ท
  • สรุปผลงาน “ไทยเวียตเจ็ท” ครึ่งปีแรก 2566 รายได้เติบโต 103% จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% เพิ่มอัตราเที่ยวบินตรงเวลาเป็น 82% แก้ภาพจำการ “ดีเลย์”
  • คาดการณ์ครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวยังแข็งแกร่ง วางเป้ามีผู้โดยสารรวมทั้งปีทะลุ 5.8 ล้านคน แม้พลาดหวัง “จีน” ยังไม่เปิดท่องเที่ยวเต็มสูบ
  • แผนเพิ่มเครื่องบินในฟลีทยังเดินหน้า ปลายปีนี้รับมอบ Airbus A321 อีก 2 ลำ ขณะที่ปี 2567 จะเริ่มรีฟลีทเปลี่ยนเครื่องบินเป็น Boeing 737 MAX

สายการบินลูกครึ่ง “ไทยเวียตเจ็ท” ยังคงเดินหน้าตามแผนหลังโควิด-19 ในการยึดส่วนแบ่งตลาดบินในประเทศอันดับ 2 ไว้ให้มั่น พร้อมขยายฟลีทเพื่อเติบโตสู่การเป็นสายการบินระดับภูมิภาค และปรับปรุงบริการต่างๆ ให้ดีขึ้น

“วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท และ “ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท ร่วมให้ข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผน ดังนี้

ไทยเวียตเจ็ท
ผู้บริหารไทยเวียตเจ็ท: (ซ้าย) “วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ (ขวา) “ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์

รายได้ครึ่งปี 2566 โตพุ่ง 103% หวังปีนี้พลิกเป็นกำไร

สำหรับรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ของไทยเวียตเจ็ทเติบโตขึ้น 103% เทียบกับช่วงครึ่งปีแรก 2565 และมีผู้โดยสารรวม 3.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเหล่านี้ มาจากการเพิ่มเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นเกือบ 30 เส้นทาง และการมีอัตราผู้โดยสารต่อเที่ยว (load factor) ดีขึ้นเป็น 81% เทียบกับปีก่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 77%

Load Factor ครึ่งปีแรก 2566 (สีแดงคือเส้นทางในประเทศ สีเหลืองคือเส้นทางต่างประเทศ และสีเทาคือภาพรวมทุกเส้นทาง)

มุมองครึ่งปีหลัง 2566 วรเนติยังมองเป็นทิศทางที่ดีด้วยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารทั้งปีจะไม่ต่ำกว่า 5.8 ล้านคน ทั้งนี้ ยอมรับว่าผู้โดยสารเป้าหมายหลักอย่าง “จีน” ยังไม่กลับมาตามคาด เพราะประเทศจีนยังไม่สนับสนุนการท่องเที่ยวต่างประเทศ และเศรษฐกิจจีนซบเซามีผลต่อการออกทริปต่างประเทศของคนจีน

ย้อนกลับไปปีก่อน รายได้รวมปี 2565 ของไทยเวียตเจ็ทนั้นอยู่ที่ 9,800 ล้านบาท จากทิศทางที่ดีจึงคาดว่าปี 2566 เต็มปีน่าจะทำรายได้ขึ้นไปถึง 16,000 ล้านบาทได้ และคาดว่าจะพลิกกลับเป็นกำไร (break even) ได้ในปีนี้

 

แก้ภาพจำ “ดีเลย์” อัตราตรงเวลาเพิ่มเป็น 82%

ในแง่ของการบริการนั้น วรเนติกล่าวว่าก่อนหน้านี้ไทยเวียตเจ็ทมีภาพจำเชิงลบเรื่องของการ “ดีเลย์” ซึ่งบริษัทพยายามแก้ไขมาตลอดด้วยการเพิ่มจำนวนเครื่องบิน ขณะนี้มีทั้งหมด 18 ลำ

รวมถึงแก้ไขด้วยการเริ่มทำการบริการภาคพื้น (Ground Handling Service) ที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วยตนเองมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จากเดิมเป็นการใช้เอาต์ซอร์สซึ่งอาจมีปัญหาจำนวนพนักงานไม่เพียงพอตั้งแต่เกิดโควิด-19 ขึ้น การทำบริการภาคพื้นเองจะทำให้การลาก-ดันเครื่องบิน ขนกระเป๋าสัมภาระ ฯลฯ ทำได้เร็วขึ้น และเที่ยวบินจะตรงเวลา

ไทยเวียตเจ็ท
อัตราการตรงต่อเวลาของเที่ยวบิน

ผลของการเปลี่ยนวิธีบริการทำให้อัตราการตรงต่อเวลาของไทยเวียตเจ็ทในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 เพิ่มเป็น 82% เทียบกับเมื่อไตรมาส 4 ปี 2565 จะอยู่ที่ 60% เท่านั้น

ปิ่นยศยังระบุถึงการบริการอีกส่วนคือระบบ Call Center ที่เคยได้รับเสียงตำหนิว่าใช้เวลารอสายนาน ปีนี้ไทยเวียตเจ็ทเริ่มนำระบบ “Amy Chatbot” มาใช้งาน ทำให้ลูกค้าติดต่อผ่านแชตบอตกันมากขึ้น ลดเวลารอสายทาง Call Center จากเดิม 10-15 นาที เหลือไม่ถึง 1 นาทีสำเร็จ

 

รูท “ญี่ปุ่น” ไม่เปรี้ยง – บิน “อินเดีย” เลื่อนไปปีหน้า

ด้านการเปิดเส้นทางบิน ปัจจุบันไทยเวียตเจ็ทมีการบินตรงภายในประเทศ 10 เส้นทาง และบินตรงต่างประเทศ 8 เส้นทาง สู่ 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน และญี่ปุ่น

เส้นทางบินที่ถือว่าใหม่และท้าทายของไทยเวียตเจ็ท คือการเปิดเส้นทาง กรุงเทพ-ฟุกุโอกะ และเส้นทาง เชียงใหม่-โอซาก้า โดยเฉพาะเส้นทางเชียงใหม่-โอซาก้าที่เพิ่งเปิดใหม่ปีนี้ เดิมวางเป้าว่าจะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นบินตรงเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันเส้นทางนี้มี load factor เพียง 60-70% และมีชาวญี่ปุ่นโดยสารประมาณ 15% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นชาวไทย ซึ่งอาจเกิดจากชาวญี่ปุ่นนิยมเที่ยวต่างประเทศช่วงหลังโควิด-19 น้อยกว่าที่คาดไว้

Photo : Shutterstock

อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าช่วงฤดูหนาวนี้เส้นทางญี่ปุ่นน่าจะมี load factor เพิ่มเป็น 80-85% เนื่องจากเป็นหน้าไฮซีซันที่คนไทยชอบไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่แผนเดิมที่จะเปิดเส้นทางบินตรงต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเน้นเป้าหมายหลักคือ “อินเดีย” นั้น ปิ่นยศระบุว่ายังไม่สามารถเปิดได้ทันในปีนี้ เนื่องจากยังมีการขอใบอนุญาตในฝั่งอินเดียที่ยังไม่เรียบร้อย และสายการบินต้องการรอรีฟลีทใหม่ในปีหน้าก่อน

 

รีฟลีทเปลี่ยนเป็น Boeing 737 MAX

ด้านแผนการเพิ่มเครื่องบินในปีนี้ยังเป็นไปตามเป้า โดยได้เครื่องบิน Airbus A321 เพิ่มมาแล้ว 2 ลำรวมเป็น 18 ลำ และจะได้ Airbus A321 เข้ามาอีก 2 ลำในช่วงปลายปี ทำให้ไทยเวียตเจ็ทจะมีฟลีทเครื่องบินสะสม 20 ลำ ณ สิ้นปี 2566

อย่างไรก็ตาม ไทยเวียตเจ็ทจะเริ่มรีฟลีท เปลี่ยนเครื่องบินทั้งหมดเป็น Boeing 737 MAX โดยจะเริ่มก่อน 6 ลำในปี 2567 ก่อนทยอยเปลี่ยนพร้อมเพิ่มจำนวนเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2571 จะมีเครื่องบินครบ 50 ลำ

การรีฟลีทจะทำให้เครื่องบินของไทยเวียตเจ็ทพร้อมบินในระยะไกลขึ้น เพื่อไปสู่เป้าเป็นสายการบินระดับภูมิภาค (regional airline) คาดว่าในปี 2567 การเพิ่มเครื่องบินและเส้นทางจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 6.5-7.0 ล้านคน และในจำนวนนี้จะได้ผู้โดยสารบินระหว่างประเทศ 1.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีนี้