Wine Connection, Wine, I Love You, Wine 33 และ Wine Bridge กำลังกลายเป็นร้านอาหารยอดฮิตที่มีจุดขายร่วมกันนั่นคือ มนต์สเน่ห์ของ “ไวน์”
ร้านอาหารที่มีไวน์เป็นจุดขายกลายเป็นร้านยอดฮิตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต จน TripAdvisor เว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดังของโลก ได้สำรวจจากความเห็นของนักท่องเที่ยวจนนำมาสู่บทสรุปว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวเลือกให้เป็นจุดหมายสำหรับอาหารและไวน์ (2011 Travelor’s Choice Food and Wine Destinations) อันดับ 1 ของโลก และสมุยก็ติดอันดับอยู่ที่ 10
การเติบโตของร้านไวน์ในเมืองใหญ่ของประเทศไทย เกิดจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่มีการใช้ชีวิตสังสรรค์ยามค่ำคืนหลังการทำงาน ไม่ใช่แค่ทำงานแล้วกลับบ้าน และนิยมแสดงตัวตน (Expression) ผ่านสถานที่, ภาพ, มื้ออาหาร ด้วยโซเชี่ยลมีเดีย
เมื่อกล่าวถึงตัว Product ไวน์มีเรื่องราวกับความเป็นศิลปะเฉพาะแฝงอยู่ จากเดิมการดื่มไวน์ดูเป็นเรื่องยากที่จำกัดวงเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งที่มีฐานะหรือชื่นชอบมากเป็นพิเศษ แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ วัยเกือบๆ 30 ปี ก็มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องไวน์มากขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ที่นำเสนอวัฒนธรรมไวน์ร่วมสมัย “ไวน์” ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ขอชนชั้น และสุขภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ยุ่งยากน้อยกว่าค็อกเทล ที่ระดับบุคคลทั่วไปไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ดื่มได้ด้วยความเข้าใจง่ายๆ นั่งเท่ได้นาน
ในด้านเจ้าของร้านไวน์ก็ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยกลยุทธ์ สถานที่ (Place) ที่ตกแต่งและสร้างบรรยากาศของ Wine Cellar โรงบ่มและเก็บไวน์ ทำให้นอกจากเสพไวน์แล้วยังได้ประสบการณ์ของการดื่มกับเพื่อน ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีทั้งความคลาสสิก โมเดิร์นในสไตล์ของร้านที่แตกต่างกัน โปรโมชั่น (Promotion) เช่น บุฟเฟ่ต์ไวน์ หรือว่าการขายไวน์พ่วงกับอาหารเต็มคอร์ส ส่วนเรื่องราคา(Price)ก็ถูกลงปัจจุบัน แค่ 399 บาท ก็เริ่มต้นชิลล์แบบมีระดับได้แล้ว ซึ่งราคาระดับนี้เมื่อบวกกับอาหารก็ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานมาสักพักก็จ่ายไหว
จะเห็นได้ว่าการบริโภคไวน์มีความหมายต่อผู้บริโภคมากกว่าแค่คุณสมบัติของตัวสินค้า แต่ “คุณค่า” ที่พ่วงมากับไวน์ต่างหาก คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เพราะขึ้นชื่อว่าเครื่องดืมแอลกอฮอล์แบบไหนก็เมาได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่า “เมาแล้วต้องเท่”