นักวิเคราะห์ประเมิน โลกกำลังขาดแคลน ‘ลิเธียม’ ภายในปี 2025 เนื่องจากการเติบโตของ ‘รถอีวี’

ลิเธียม ถือเป็นโลหะสำคัญที่ใช้ในการผลิต แบตเตอรี่ ในขณะที่เทรนด์ทั่วโลกกำลังพุ่งไปที่การใช้งาน รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ทำให้ความต้องการลิเธียมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าในช่วงปี 2025-2030 โลกอาจจะขาดแคลนลิเธียม

BMI ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยของ Fitch Solutions เป็นหนึ่งในกลุ่มที่คาดการณ์การขาดดุลอุปทานลิเธียมภายในปี 2025 โดยคาดว่าการขาดดุลนั้นเกิดจากความต้องการลิเธียมของจีนที่สูงกว่าอุปทาน โดยเฉพาะความต้องการลิเธียมในรถอีวีของจีนจะเพิ่มเฉลี่ย 20.4% ในช่วงปี 2023-2032 

กลับกัน ลิเธียมของจีนจะเพิ่มขึ้นเพียง 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งแปลว่าจะสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มได้ไม่ถึง 1 ใน 3 ด้วยซ้ำ โดยปัจจุบันจีนถือเป็นผู้ผลิตลิเธียมรายใหญ่ อันดับสามของโลก ซึ่งลิเธียมถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 

ในปี 2021 โลกผลิตลิเธียมได้ 540,000 ตัน แต่ภายในปี 2032 ทาง World Economic Forum คาดการณ์ว่า ความต้องการลิเธียมทั่วโลกจะสูงถึงมากกว่า 3 ล้านตัน ขณะที่การคาดการณ์ของ S&P Global Commodity Insights ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2023 อยู่ที่ 13.8 ล้านคัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคัน ภายในปี 2032

ด้าน Corinne Blanchard ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยลิเธียมและเทคโนโลยีสะอาดของ Deutsche Bank กล่าวว่า ภายในสิ้นปี 2025 การขาดดุลของลิเธียมจะอยู่ที่ 40,000-60,000 ตัน แต่การขาดดุลจะมากขึ้นเป็น 768,000 ตัน ภายในสิ้นปี 2032 แม้ว่าการเติบโตของลิเธียมจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็จะยังช้ากว่าความต้องการ และสิ่งที่จะตามมาคือ ราคาลิเธียมที่พุ่งขึ้น หลังจากที่เคยพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 โดยขึ้นถึง 12 เท่า เมื่อเทียบกับราคาของเดือนมกราคม 2021

ปัจจุบัน ตามข้อมูลของ Refinitiv เปิดเผยว่าทั่วโลกมีเหมืองลิเธียมเพียง 101 แห่ง แต่จากข้อมูลของ บริษัทวิจัยพลังงาน พบว่า มีโครงการลิเธียมหลายร้อยโครงการอยู่ระหว่างการสำรวจ แต่ความซับซ้อนในด้านธรณีวิทยาและกระบวนการขออนุญาตที่ใช้เวลานานยังคงเป็นความท้าทาย โดย Susan Zou รองประธาน Rystad Energy ประมาณการว่า เหมืองลิเธียมทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น 30-40%

Source