จีนเตรียมตั้งกองทุนใหญ่ถึง 1.48 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ

ภาพจาก Unsplash
จีนเตรียมตั้งกองทุนใหญ่ถึง 3 แสนล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 1.48 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ และต้องการที่จะไล่ให้ทันกับเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาไวที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลจีนเตรียมตั้งกองทุนเพื่อจะสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มากถึง 300,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 1.48 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินในการตั้งกองทุนครั้งนี้ถือว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

กองทุนดังกล่าวมีชื่อว่า China Integrated Circuit Industry Investment Fund เป้าหมายหลักของกองทุนดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจีน เพื่อจะไล่ตามสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ซึ่งมีเทคโนโลยีในการผลิตดีกว่า ซึ่งจีนโดนสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงหลังจากนี้

นอกจากนี้เนเธอร์แลนด์ รวมถึงญี่ปุ่น ได้ใช้มาตรการเดียวกันกับสหรัฐฯ ไม่ให้จีนเข้าถึงเครื่องจักรผลิตชิปขั้นสูง หรือแม้แต่เทคโนโลยีการผลิตชิป ส่งผลให้จีนยิ่งต้องเร่งพัฒนาภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นกว่าเดิม

แหล่งข่าวของ Reuters ยังรายงานว่าเม็ดเงินกว่า 60,000 ล้านหยวน กระทรวงการคลังของจีนจะเป็นผู้ลงทุนในกองทุนนี้ด้วย

ข่าวดังกล่าวตามหลังมาจาก Huawei ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดอย่าง Mate 60 ที่ใช้ชิปจาก SMIC ที่ผลิตในจีนโดยใช้เทคโนโลยีการผลิต 7 นาโนเมตร รวมถึงยังมีเทคโนโลยี 5G ด้วย ซึ่งมือถือรุ่นดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของจีนที่ต้องการตอบโต้สหรัฐอเมริกาที่คว่ำบาตร

ก่อนหน้านี้จีนเคยตั้งกองทุนประเภทดังกล่าวมาแล้วในปี 2014 มูลค่า 138,700 ล้านหยวน ขณะที่ในปี 2019 จีนได้ตั้งกองทุนมูลค่าถึง 200,000 ล้านหยวนมาแล้ว โดยกองทุนมีผู้ลงทุนเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนไม่ว่าจะเป็น China Development Bank Capital และ China National Tobacco รวมถึง China Telecom ที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่

เม็ดเงินจากกองทุนดังกล่าวได้เคยลงทุนใน 3 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น SMIC และ Hua Hong Semiconductor ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน รวมถึง Yangtze Memory ผู้ผลิตหน่วยความจำรายใหญ่ของจีน

การจัดตั้งกองทุนของรัฐบาลจีนครั้งนี้ ส่งสัญญาณแสดงให้เห็นว่าจีนเอาจริงเอาจังกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และต้องการที่จะไล่ให้ทันกับเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาไวที่สุดเท่าที่จะทำได้