SCB EIC ปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.1% มองมาตรการ Digital Wallet กระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น

ภาพจาก Shutterstock
SCB EIC ปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้โตเหลือแค่ 3.1% ขณะเดียวกันก็กังวลหนี้สาธารณะในระยะยาวเกิน 70% ต่อ GDP ขณะเดียวกันมองว่ามาตรการ Digital Wallet นั้นจะกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น แต่ระยะยาวไทยจะต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือแม้แต่การกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ

เริ่มต้นจากมุมมองเศรษฐกิจโลก SCB EIC มองว่าประเทศต่างๆ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบตัวดีขึ้นเป็น 2.4% และจะทรงตัวใกล้เคียงเดิมในปีหน้า ในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ทวีปยุโรป (ยกเว้นเยอรมัน) อย่างไรก็ดีด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง ทำให้ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยอาจเกิดภายในปีหน้า

สำหรับเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจโลกที่ยังดีคือภาคแรงงาน อัตราการว่างงานยังต่ำ อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่าหลังจากนี้จะอ่อนแรลง หลายธนาคารกลางยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลง

ทางด้านเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันการฟื้นตัว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจีนได้รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจผิดหวังอย่างมาก โดย SCB EIC มองว่าโครงสร้างเศรษฐกิจจีนที่พึ่งพาการลงทุนถึง 43% ของ GDP อาจทำให้ใช้โมเดลดังกล่าวไม่ได้แล้ว

ขณะเดียวกันความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการกีดกันจีน หรือการห้ามไม่ให้ลงทุนในจีน ส่งผลทำให้ FDI ในจีนลดลงมาต่ำสุดในรอบ 25 ปี และ SCB EIC มองว่าผลกระทบของเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลง กดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

เรื่องของเศรษฐกิจไทย

SCB EIC มองถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่การเติบโตต่ำกว่าคาดมาก ซึ่การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ผ่านมาหดตัวแรงต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากแรงกดดันสำคัญ อาทิ

  • เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลง กระทบการส่งออกไทยบางกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน รวมถึงผลกระทบต่อ FDI จากจีนอาจชะลอลงบ้าง และอาจกระทบกำลังซื้อจากจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยบาง Segments
  • วิกฤติภัยแล้ง ในกรณีฐานภัยแล้งจะเกิดรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อยมีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรในปี
  • ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล หากออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายครั้งใหญ่ เช่น Digital Wallet เศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจขยายตัวได้เกิน 5% ชั่วคราว แต่ต้องแลกด้วยต้นทุนการคลังในระยะยาวโดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจเกิน 70% ต่อ GDP ไทย ได้ในอนาคต

สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาประเทศไทย ล่าสุดมีมากถึง 18 ล้านคน (ตัวเลขเมื่อ 3 กันยายน) โดย SCB EIC คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีจำนวน 30 ล้านคน ขณะที่ปี 2024 คาดว่าจะสูงถึง 38 ล้านคน

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย SCB EIC คาดว่าจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปี 2023 อัตราดอกเบี้ยของไทยจะอยู่ที่ 2.5%

นอกจากนี้ในอนาคต SCB EIC มองนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน ผ่านการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีที่บิดเบือนแรงจูงใจของภาคธุรกิจและครัวเรือน

ทำให้ในปีนี้ SCB EIC มองว่า GDP ไทยจะเติบโตเหลือแค่ 3.1% เท่านั้น ขณะที่ในปี 2024 คาดว่าจะเติบโตได้ 3.5% จากปัจจัยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้น