ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์การตลาด บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเล่าถึงกระบวนการคิดรายการโทรทัศน์ของเวิร์คพอยท์ ในงานชุมนุมความคิด Creativities Unfold, Bangkok 2011 ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ เพื่อสร้างความสนใจกับผู้ชม แม้แต่ “เพลงประจำรายการ” ก็เป็นหนึ่งใน 6 โจทย์สำคัญที่ทีมสร้างสรรค์ต้องตอบให้ก่อนผลิตรายการ
6 คำถามประจำบริษัทเวิร์คพอยท์ฯ ประกอบด้วย
1.รายการอะไร ทุกๆ รายการมักเริ่มต้นด้วยคำถามที่ง่ายที่สุด แต่เมื่อถามแล้วต้องอธิบายคำตอบให้ได้ภายใน 2 ประโยค เพราะว่าปัจจุบันผู้ชมมีรีโมตในมือและมีทางเลือกรายการให้ชมหลากหลาย รูปแบบรายการจึงต้องทำให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด เช่น เมื่อครั้งที่เวิร์คพอยท์อยากทำรายการสำหรับเด็ก วิธีการอธิบายคอนเซ็ปต์รายการด้วยประโยคสั้นที่สุด คือ “Generation Gap” ซึ่งชลากรณ์เล่าให้ฟังว่าไอเดียนี้เกิดจาก “ประภาส ชลศรานนท์” พาลูกไปดูดาวที่ท้องฟ้าจำลอง แล้วชวนเขาไปด้วย และเขาก็เห็นเหตุการณ์ที่คนแก่กับเด็กพูดเรื่องเดียวกันแต่คุยกันไม่รู้เรื่อง จึงเป็นที่มาของรายการ “หลานกับปู่ กู้อีจู้” นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างคอนเซ็ปต์รายการภายใน 2 ประโยคอีก 2-3 รายการ ซึ่งผู้ชมก็ทายได้ทั้งหมดว่าเขาพูดถึงรายการอะไร เช่น “คน 100 คน อยู่ด้วยกัน 1 คืน ชิงเงินล้าน” ของอัจฉริยะข้ามคืน, “ตลก 3 คน โดนแกล้ง” ในชิงร้อยชิงล้าน
2.ทำให้ดูง่ายที่สุด เวิร์คพอยท์เองก็เคยทำผิดพลาดมาแล้วด้วยการมองข้ามโจทย์ข้อนี้ไปในรายการ “ยกสยาม” ที่ถูกสร้างขึ้นเพราะต้องการเปลี่ยนรูปแบบรายการเดิมที่ผู้แข่งขันกับพิธีกร-ปัญญา นิรันดร์กุล ยืนเผชิญหน้ากันเพื่อตอบคำถามแบบครูกับนักเรียน เมื่อผู้แข่งขันตอบถูกก็ได้รางวัล ซึ่งเวิร์คพอยท์ทำแบบนี้มาแล้วหลายรายการ ทั้งแฟนพันธุ์แท้และเกมทศกัณฑ์ ทีมงานจึงต้องปรับให้พิธีกรอยู่ตรงกลางเหมือนกรรมการห้ามมวยแล้วมีผู้แข่งขัน 2 ทีมมาตอบคำถามแข่งกัน ถึงแม้คำถามจะสนุกด้วยการเอาความรู้ในประเทศไทย แถมยังปลุกกระแสท้องถิ่นนิยมด้วยการแบ่งผู้เข้าแข่งขันตามจังหวัด แต่ปรากฏว่ารายการนี้ไม่รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะวิธีการแข่งขันดูยากเกินไป คนดูไม่เข้าใจว่าทีมไหนตอบถูก-ผิด หรือชนะในเกมนั้นๆ เพราะวิธีการนับคะแนนถูกซ้อนเป็นสองชั้น 1.คนแข่งต้องตอบถูก 2.นับจำนวนคนในทีมที่ตอบถูกมากกว่า ทีมนั้นจึงจะได้คะแนน ประกอบกับเวลาออกอากาศที่สั้น ทำให้รายการนี้ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ผู้ชม
“ปีก่อนเราทำ ยกสยาม หลังจากที่ทำเกมส์โชว์ง่ายๆ มาเยอะแล้ว เลยคิดว่าจะทำให้ที่มันได้คิดเยอะกว่านั้น ปรากฏว่าดูทีวีจริงๆ คนดูงงว่ามันได้คะแนนหรือยัง ตกลงใครชนะ เอ๊ะ ทำไมคนนั้นก็ตอบถูกแต่ไมได้คะแนน ทั้งๆ ที่ตอนถ่ายทำสนุกมาก คนแข่งเองก็สนุก เราเองก็สนุก เวลาผมทำรายการผมจะดูผ่านจอตลอด เพราะบางครั้งของจริงอาจจะเล็กพออยู่ในจอกลายเป็นใหญ่ ของใหญ่พออยู่ในจออาจจะดูเล็ก แต่ทำยังไงคนดูก็ดูไม่รู้เรื่อง ในที่สุดเราก็ค้นพบว่าเพราะว่ามันซับซ้อนเกินไป”
3.นำเสนอแบบไหน หลังจากคิดคอนเซ็ปต์ในข้อ 1แล้วทีมงานก็จะเอามาสร้างรูปแบบว่าจะนำเสนอแบบไหน ซึ่งปัจจุบันเวิร์คพอยท์มีทั้งรายการเกมโชว์, ซิท-คอม, ทอล์คโชว์, คอนเสิร์ต, ละครเวที, ภาพยนตร์ เป็นทางเลือกซึ่งหลายครั้งก็ต้องลองถ่ายทำรายการไปก่อนแล้วปรับหรือเปลี่ยนรูปแบบรายการจากที่คิดเอาไว้ หรือยังคงเก็บเทปทดลองเอาไว้รอคอยเวลาที่เหมาะสมจึงผลิตเป็นรายการจริง
4.คนดูเป็นใคร ดูแล้วได้อะไร แต่ละรายการมีเป้าหมายคนดูที่แตกต่างกัน ชลากรณ์เล่าว่า สำหรับชิงร้อยชิงล้าน คนดูจะดูเหมือนเป็นเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่อยู่ด้วยกันมา 20 ปี บางสัปดาห์สนุกบ้างไม่สนุกบ้างแต่ก็ติดตามชมเป็นกิจวัตรในวันที่ออกอากาศ และไม่มีใครสนใจอีกแล้วว่าเดิมวัตถุประสงค์ของรายการนี้คือแข่งชิงเงิน 100 หรือ 1 ล้านบาท แต่ตอนนี้คนดูสนใจแค่แก๊งค์ 3 ช่า
ส่วนรายการที่เวิร์คพอยท์ตั้งใจทำให้เป็นรายการเด็กอย่างเกมทศกัณฐ์เด็ก แต่เมื่อออกอากาศจริงกลุ่มเป้าหมายกลับผิดคาด เพราะเมื่อผู้ปกครองนั่งดูแล้วมักเปรียบเทียบกับลูกของตัวเองจนเด็กกดดัน เวิร์คพอยท์จึงแก้ตัวอีกครั้งกับ หลานกับปู่ กู้อีจู้ ที่คราวนี้ เด็กกับคนแก่ ผลัดกันไม่รู้เรื่อง แล้วหัวเราะเยาะใส่กันได้
5.สร้างตำหนิ/สร้างรายละเอียด ไม่มีใครไม่รู้จัก “ถ…ถ…ถูก ต้อง นะคร้าบบบ” การสร้างภาพจำให้กับรายการเป็นสีสันที่ขาดไมได้สำหรับรายการของเวิร์คพอยท์ นอกจากท่าทาง, คำพูดของพิธีกรแล้ว “เพลง” ก็กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่ง รายการของเวิร์คพอยท์ให้ความสำคัญกับเพลงอย่างมาก หลายครั้งใช้นำร้องคุณภาพอย่าง ปาน-ธนพร, เจนิเฟอร์ คิ้ม หรือแม้แต่เสียงโหยหวนในรายการชมรมขนหัวลุก นั่นก็เสียงรัดเกล้า อมระดิษ
“สมัยนี้ผู้ชมทำอะไรหลายๆ หลายพร้อมกับดูทีวี บางคนเล่นคอมพิวเตอร์ แม่บ้านก็อาจจะทำกับข้าวไปด้วย ตาไม่ได้มองจอตลอด แต่ถ้าเราทำเสียงให้คุ้นหูยังไงก็ต้องได้ยินบ้างจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อีกอย่างคือบางรายการของเราเวลาสั้น ท่า ถูกต้องนะคร้าบ ของคุณปัญญาก็ยังไม่ได้ทำ เพราะต้องไปเฉลยครั้งหน้า แต่ถ้าเป็นเพลงได้ฟังทุกวัน”
6.สร้างภาพใหญ่ สูตรสำเร็จรายการของเวิร์คพอยท์อย่างหนึ่งคือการสร้างฉากอลังการเพื่อดึงสายตาผู้ชม และสร้างโลโก้ให้คนจำ เช่น แฟนพันธุ์แท้ที่มีสัญลักษณ์มือ หรือบางครั้งก็เป็นเอกลักษณ์จากเสื้อผ้าพิธีกรในรายการคุณพระช่วยจากโจงกระเบนสีแดงเสื้อยืดสีขาว
ทั้ง 6 คำถามที่กล่าวมาเป็นหลักการพื้นฐานของเวิร์คพอยท์ที่ถึงแม้บางครั้ง บางข้ออาจจะตอบไม่ได้ในตอนแรก แต่ผู้บริหารก็จะรับฟังไอเดียจากทีมงานทุกคน จนกระทั่งเมื่อได้รับโจทย์จากสถานี, ผู้สนับสนุนรายการ หรือช่วงเวลาเหมาะสมกับรายการที่บริษัทคิดขึ้น ไอเดียเหล่านี้ก็จะถูกพัฒนาต่อยอดจากของเดิม, เอาเรื่องเล่นมาทำให้จริง เอาเรื่องจริงมาทำเล่น หรือบางทีก็เกิดจากปัญหา และความสังเกตจากเรื่องราวรอบตัว เรื่องสนุกจึงเกิดขึ้น ดังที่มาของรายการต่อไปนี้ ที่แน่นอนว่าผ่านโจทย์ทั้ง 6 มาเรียบร้อย
– เวทีทอง เป็นรายการแรกของเวิร์คพอยท์ กติกาคือการทายภาพจากคำคม, สุภาษิตไทย ดัดแปลงมาจากการแข่งขันโบราณที่เรียกว่า พะหมี่ หรือการเล่นปริศนาทายคำ
– ชมรมขนหัวลุก ช่วงเวลาเรียนมหาวิทยาลัยทุกคนต้องเคยร่วมก๊วนกับเพื่อนเล่าเรื่องผี
– ชิงร้อยชิงล้าน (เวอร์ชั่นปัจจุบัน) แก็งค์ 3 ช่า ดัดแปลงมาจากนิยาย 3 เกลอหัวแข็ง พล-นิกร-กิมหงวน ที่ทั้งสามคนสามารถทำอะไรก็ได้บนโลกใบนี้
– แฟนพันธุ์แท้ หลังจากที่ จิก-ประภาส ได้ฟังเพื่อนร่วมก๊วนกอล์ฟที่เป็นแฟนประจำของทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล เล่าเรื่องละเอียดยิบ เขาก็ค้นพบว่า การได้ฟังเรื่องราวจากคนที่รู้จริงมันสนุกมาก แม้ว่าเราจะไม่รู้เรื่องนั่นเลยก็ตาม
– เกมทศกัณฐ์ เกิดจากปัญหาของ จิก-ประภาส ที่มักจำหน้าคนไม่ค่อยได้ แม้แต่ ตูน-บอดี้สแลมก็ไม่รู้จัก เขาเลยต้องเล่นเกมทายหน้าคนด้วยตัวเอง แล้วจึงพัฒนามาเป็นรายการ
– ชิงช้าสวรรค์ การแข่งขันดนตรีประจำอำเภอ
– ล้วงลับตับแตก ดัดแปลงเกม True or Dare ของฝรั่งมาเล่น ให้คนแข่งเลือกว่าจะยอมพูดความจริงหรือจะถูกทำให้อาย ผนวกกับนิสัยคนไทยที่ชอบข่าวก๊อซซิปดารา แล้วปั้นเรื่องเล่นๆ มาทำให้จริงจัง ติดตั้งเครื่องมือ มีผู้เชี่ยวชาญมาจับผิด
– SME ตีแตก หลังจากทำรายการเกมแก้จน เวิร์คพอยท์ก็ต้องทำรายการธุรกิจอีกครั้ง ด้วยโจทย์จาก K-Bank แต่คราวนี้มีกรรมการ 3 คนมาคอมเมนต์แผนธุรกิจของผู้ร่วมรายการ ซึ่งเวิร์คพอยท์มั่นใจว่าผู้ชมรับได้ เพราะ AF, The Star วางมาตรฐานไว้ให้แล้ว
– คนอวดผี พัฒนารายการชมรมขนหัวลุก จากเดิมที่นั่งเล่าเรื่องผีในฉากครึ่งวงกลมคล้ายห้องรับแขกของบ้าน ให้เป็นบรรยากาศบ้านร้างพิธีกรนั่งฟังเรื่องของผู้ร่วมรายการแบบใกล้ชิด