ทบทวนโลก โซเชี่ยลมีเดีย ปี 2011

ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านแฟนๆ POSITIONING ทุกท่านครับ หลังจากที่ติดตามอ่านคอลัมน์ของผมกันมานานนับปี สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจผมเสมอ คือ การมอบสาระความรู้ มุมมอง แนวคิดที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านดิจิตอล และปีนี้ผมขอสัญญากับท่านผู้อ่านว่า จะเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาสาระในคอลัมน์นี้ให้มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอนครับ

ก่อนที่จะพูดถึงแนวโน้มที่น่าสนใจของปีนี้ในตอนต่อๆ ไป ขอย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปีก่อนๆ โดยสรุปว่ามีเรื่องราว หรือเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง ลองนึกย้อนไปพร้อมๆ กับผมนะครับ

 

Facebook

มาเริ่มกันที่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอันดับ 1 ของโลกอย่าง Facebook ที่หลายท่านอาจจะปรับตัวยังไม่ทัน เนื่องจากทีมพัฒนา Facebook ขยันปรับปรุง เพิ่มฟีเจอร์ เปลี่ยนหน้าตา เยอะมาก มีการเปลี่ยนแปลงทุกเดือน ทำให้ผู้ใช้ต้องเรียนรู้การใช้งานใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนหน้าตา Profile จากแบบเดิมไปเป็นดีไซน์ใหม่ที่เรียกว่า “Timeline” การใส่ “Ticker” เพิ่มเข้าไปในหน้าแรก เพื่อให้ผู้ใช้เสพติด Facebook หนักยิ่งขึ้นโดยการแอบดูเพื่อนของเรากด Like และคอมเมนต์คนอื่นได้ง่ายขึ้น และการพัฒนาระบบแชตทั้งบนหน้าเว็บและแอพฯ บนมือถือ ทำให้การแชตบน Facebook แทบจะเข้าไปแทนที่การแชตบน MSN แบบเดิม จนหลายคนสังเกตว่า เพื่อนบน MSN ของตัวเอง หายไป ไม่ออนไลน์เยอะเหมือนเก่า

สำหรับนักการตลาดดิจิตอลเองก็แทบจะพลิกตำราไม่ทันครับ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนโฉมหน้าเพจใหม่ตอนต้นปี ทำให้หลายๆ แบรนด์ต้องวุ่นกับการดีไซน์หน้าเพจและคาแร็กเตอร์ของเพจกันใหม่ ไหนจะมีกฎข้อห้ามการทำโปรโมชั่นที่ Facebook ออกมาบังคับ เช่น การสะสมการกด Like เพื่อชิงรางวัล ทำให้ต้องออกแรงสร้างสรรค์ไอเดียกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดแฟนให้เข้ามา Like กัน และช่วงปลายปี Facebook ยังออกตัวชี้วัดใหม่ที่เรียกว่า “Talk About This” ซึ่งเป็นการแฉ Engagement ระหว่างเพจกับแฟนให้เห็นกันจะจะบนหน้าเพจ ทำให้การแข่งขันในสมรภูมิการตลาดบน Facebook ก้าวผ่านเรื่องของจำนวนแฟน ไปสู่การเน้นกระบวนการสร้าง Engagement ระหว่างเพจกับแฟนอย่างเต็มตัว

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Facebook คือ การทำตัวเป็น Viral Platform ที่สมบูรณ์แบบ และเป็นช่องทางหลักในการติดตามเหตุการณ์สำคัญต่างๆ การเผยแพร่คลิปวิดีโอต่างๆ สเตตัสของนักการเมืองใช้โพสต์เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือสร้างประเด็นให้สื่อหลักนำไปขยาย มีเพจแจ้งเกิดมากมายที่สร้างฐานแฟนๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง พับเพียบไทยแลนด์ น้ำขึ้นให้รีบบอก สมาคมมุขเสี่ยว

มีคอนเทนต์มากมายที่แพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็วบนหน้า Facebook ทั้งการทำ Planking ท่าพับเพียบ คลิปรู้สู้ Flood มุขธนูปักเข่า โฆษณาของไทยประกันชีวิต คลิป อ.ศศินทร์ เฉลิมลาภ คลิปเพลง “คันหู” การโพสต์สเตตัสของเสกโลโซและภรรยา สเตตัสของทีมงาน ศปภ. สเตตัสความคิดเห็นด้านการเมืองของดาราบางคน 

ปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้ในไทยถึง 13.2 ล้านคน คิดเป็น 19.9% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ อยู่ในอันดับ 105 ของโลกเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร (ตามหลังบรูไน 59.4% สิงคโปร์ 54.6% มาเลเซีย 46.10% ฟิลิปปินส์ 27.06% และมากกว่าอินโดนีเซีย 17.19%) 

แต่ถ้ามองเจาะลึกลงไปเฉพาะเมือง พบว่า กรุงเทพฯ มีจำนวนประชากร Facebook อยู่ในอันดับ 5 ของโลก โดยมีจำนวนถึง 7.4 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนผู้ใช้ต่อประชากรอยู่ที่ 89.50% ใกล้เคียงกับประชากร Facebook ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ที่มีประชากร Facebook อยู่ที่ 7.6 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนผู้ใช้ต่อประชากรที่ 91.90% 

 

Twitter

ความเคลื่อนไหวของ Twitter ในปีนี้ เริ่มขยับตัวมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากคู่แข่งอย่าง Facebook และ Google+ มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการซื้อกิจการของ TweetDeck ซึ่งเป็นแอพฯ สำหรับเล่นทวิตเตอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงตัวหนึ่ง เพื่อต่อยอดในการพัฒนาแอพฯ เล่นทวิตเตอร์บนแพลตฟอร์มต่างๆ รวมไปถึงการออกแบบหน้าตาทวิตเตอร์แบบใหม่หมดจดในช่วงต้นเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา 

ปัจจุบัน Twitter มีผู้ใช้ในประเทศไทยประมาณ 87x,xxx คน ปริมาณจำนวนทวีตแตะระดับ 2 ล้านข้อความต่อวัน จำนวนผู้ใช้ที่ Active ต่อวันทะลุหลักแสน สาเหตุหนึ่งที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นมาก คือ เรื่องของเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งเรื่องของการเมือง เรื่องน้ำท่วม ข่าวสารต่างๆ ที่เป็น Breaking News ตลอดจนเรื่องดราม่าต่างๆ ล้วนดึงดูดผู้ใช้ในกลุ่มแมส ให้หันมาใช้ทวิตเตอร์เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้มากขึ้น

เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้น ย่อมมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี สำหรับด้านดี เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้น ความคิดเห็นที่หลั่งไหลอยู่บน Timeline ก็หลากหลายมากขึ้น มีการแชร์ความรู้และมุมมองที่กว้างขึ้น บรรดาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ต่างพากันใช้ทวิตเตอร์เพื่อเผยแพร่ความคิดของตัวเอง สร้างกิจกรรมต่างๆ สร้างชื่อเสียงและสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองหรือองค์กร ส่วนในด้านที่ไม่ดี ที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องของดราม่าต่างๆระหว่างบุคคล หรือผู้มีชื่อเสียง ดราม่าระหว่างองค์กรและผู้ใช้ มีการโจมตีเพื่อทำลายชื่อเสียงกัน เพราะผู้ใช้ต่างมองว่าทวิตเตอร์ เป็นสื่อที่อยู่ในมือของตัวเองและมีเสรีภาพเท่าเทียมในการใช้งาน

บทบาทที่โดดเด่นที่สุดของทวิตเตอร์ในปีนี้ คือ การกระจายข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการรายงานสถานการณ์ ข่าวสารต่างๆ ของผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่าน tag #thaiflood และผ่านแอพฯ บนสมาร์ทโฟน หรือการระดมทีมอาสาสมัคร จิตอาสา เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในภาวะที่สื่อของฝั่งรัฐบาลไม่สามารถพึ่งพาได้

 

Foursquare

ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีแจ้งเกิดของ Foursquare ในเมืองไทย เพราะมีผู้ใช้งานมากมายในแต่ละวัน โดยสถานที่ที่มีการ Check-ins มากที่สุด คือ สยามพารากอน ที่มีการ Check-ins สูงกว่า 4 แสนครั้ง โดยผู้ใช้มากกว่า 84,000 คน รองลงมาคือ สนามบินสุวรรณภูมิที่มีการ Check-ins กว่า 280,000 ครั้ง โดยผู้ใช้มากกว่า 89,000 คน โดยสถานที่ยอดนิยมที่สุด คือ ตามห้างดังๆ อย่างสยามพารากอน เซ็นทรัล มาบุญครอง เดอะมอลล์ เมเจอร์ฯ สถานีรถไฟฟ้า BTS

จุดที่ใช้ Check-ins (Venue) ที่มีมากที่สุด คือ ร้านอาหาร ที่มีมากกว่า 2 พันจุด ตามอาคารสำนักงานต่างๆ ที่มีรวมกันมากกว่า 3 พันจุด หรือตามที่พัก โรงแรม รีสอร์ตต่างๆ ก็มีมากกว่า 1,400 จุดทั่วประเทศ 

การแจ้งเกิดของ Foursquare นี่เอง ทำให้บรรดาร้านค้าธุรกิจต่างๆ ได้พื้นที่มีเดียแบบฟรีๆ จากบรรดาผู้ใช้ เพราะมีผู้ใช้ Foursquare จำนวนไม่น้อยที่ผูกบัญชีของตัวเองเข้ากับ Facebook และ Twitter ซึ่งเมื่อทำการ Check-ins รายชื่อสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ก็จะถูกโพสต์ลงในโซเชี่ยลมีเดียของผู้ใช้ และใน Venue แต่ละจุด เริ่มมีผู้ใช้งาน เพิ่มข้อความต่างๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นจุดที่เป็นร้านอาหาร ก็จะมีผู้ใช้คอยแนะนำเมนูอาหารทีเด็ดของร้านนั้นๆ หรือแม้แต่เมนูที่ไม่ควรสั่งก็มีผู้คนไม่น้อยที่เขียนถึง 

สิ่งหนึ่งที่ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้ คือ การทำการตลาดบน Foursquare เช่นการ Check-ins เพื่อแลกสิ่งของ หรือแลกส่วนลดในการซื้อสินค้าต่างๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการโปรโมตของแบรนด์และร้านค้า ที่ยังทำได้ไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมต ณ จุดขาย หรือโปรโมตตามสื่อโฆษณาที่ใช้อยู่แล้ว รวมไปถึงกระบวนการแลกสิทธิ์ ที่อาจจะเพิ่มความยุ่งยากให้กับธุรกิจ ร้านค้า ทำให้ Foursquare มีความหมายกับผู้ใช้เพียงแค่เกมที่เก็บคะแนนและ Badge เท่านั้น เพราะไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้ได้ดีเท่าที่ควร

 

Instagram

แม้ว่าเพิ่งจะมาฮอตฮิตได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จากการเติบโตของผู้ใช้ iPhone ในประเทศไทย แต่ Instagram ก็เป็นอีกหนึ่งโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ที่ค่อนข้าง Active พอสมควร แม้ว่าในปัจจุบันจะจำกัดเฉพาะผู้ใช้ iPhone เท่านั้น 

แต่เนื่องจากพฤติกรรมที่ชอบแชร์รูปถ่ายอาหารที่แทบจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนการกินข้าวกับเพื่อน หรือการแชร์ภาพถ่ายสวยๆ สำหรับคนที่ต้องการจะแสดงฝีมือการถ่ายภาพของตน การภาพถ่ายสถานที่หรือวัตถุแปลกๆ หรือแม้กระทั่งการถ่ายรูปเหตุการณ์สำคัญอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมล้วนมีส่วนทำให้ผู้ใช้ Instagram เติบโตอย่างรวดเร็ว

แม้ว่า Instagram จะเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในไทย แต่ก็ยังมีองค์กรธุรกิจอย่าง Club 21 ซึ่งเป็นรายแรกๆ ที่นำ Instagram มาใช้ประโยชน์ในการเป็นช่องทางการสื่อสารการตลาดของตัวเอง โดยการนำรูปภาพสินค้า บรรยากาศ หรือลูกค้าที่เป็นดาราดังๆ อย่าง ณเดชน์ มาแชร์ และแม้ว่า Instagram ของทาง Club 21 จะมีผู้ตามน้อยกว่าจำนวนแฟนใน Facebook นับ 10 เท่า (6,7xx คนใน Instagram vs. 62,xxx คนในแฟนเพจ) แต่พบว่าจำนวนผู้ที่กด Like รูปถ่ายบน Instagram สูงถึง 5-600 Likes ต่อรูป ซึ่งมากกว่าจำนวน Like รูปเฉลี่ยบนแฟนเพจอยู่ที่หลักสิบปลายๆ ถึงสองร้อย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการสร้าง Engagement ของ Instagram มีประสิทธิภาพมากเพียงใด

ปัจจุบันมีผู้ใช้ Instagram ทั่วโลกกว่า 14 ล้านคน มีรูปที่ถูกแชร์อยู่ประมาณ 200 ล้านรูป เติบโตจากเดือนตุลาคม ปี 2010 ที่มีผู้ใช้อยู่แค่ 80 คนเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ คือความเคลื่อนไหวของโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คในรอบปีทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สำหรับตอนถัดไป จะเป็นการพยากรณ์เทรนด์ต่างๆที่จะมีผลกระทบกับชีวิตดิจิตอลของเราในปี 2012 นี้ โปรดติดตามครับ