คุยกับ ‘GambitGhost Studio’ ถึงมุมมองวงการ ‘เกมไทย’ ที่ไปได้ไม่ไกลเพราะขาด ‘การตลาด’ ไม่ใช่ขาดฝีมือ

อ้างอิงจาก ดีป้า (DEPA) ที่เปิดเผยว่าเม็ดเงินของอุตสาหกรรมเกมปี 2565 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 34,556 ล้านบาท แม้มูลค่าจะดูมหาศาล แต่เป็นการนำเข้าถึง 33,657 ล้านบาท แต่การส่งออกมีเพียง 340 ล้านบาท ต่างกันประมาณ 100 เท่า อะไรทำให้ไทยไม่ค่อยมีเกมดี ๆ ปล่อยออกมาขายเองทั้งที่มีฝีมือ ธนาคม วิภวพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง แกมส์บิทโกสต์สตูดิโอ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า เป็นเรื่องของ การตลาด ที่ทำให้ตลาดเกมไทยยังไม่ไปไหน

ที่กล้าทำเพราะเห็นปัญหา

ธนาคม ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนหน้าที่จะมาเปิด แกมส์บิทโกสต์สตูดิโอ (GambitGhost Studio) เคยทำงานกับบริษัทเกมของประเทศสิงคโปร์มาประมาณ 2 ปี ซึ่งช่วงนั้นก็เริ่มจากตำแหน่งล่างสุดจนมาตำแหน่งสูงสุด แต่จุดที่ตัดสินใจแยกทางเพราะงบจากบริษัทแม่เริ่มไม่นิ่ง เพราะเกมที่ปล่อยทำเงินไม่ได้ทำเงินตามเป้า และบริษัทก็จะให้พัฒนาเกมใหม่ในงบที่ลดลง เลยมองว่ามันเริ่ม ซึ่งตอนนี้บริษัทนั้นก็ได้ผันตัวไปเป็นบริษัทมาร์เก็ตติ้งแล้ว

จากนั้นก็มาช่วยธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของที่บ้านระยะหนึ่ง แต่พอมีโควิดทำให้เฟอร์นิเจอร์ส่งออกไม่ได้ เลยเริ่มมองหาธุรกิจอื่น ซึ่งแพชชั่นของเราคือชอบทำเกมอยู่แล้ว เลยรวมคนที่เคยทำงานในบริษัทเก่า ซึ่งจุดที่ทำให้เรากล้าทำเพราะเราเห็นปัญหาหมดแล้ว เราเลยใช้ประสบการณ์ตรงนั้นมาช่วย

เกมคือธุรกิจแพชชั่น และไม่มีใครอยากเสี่ยงลงทุน

เกมเป็นธุรกิจที่ใช้ทุนสูง อย่างน้อยใช้ทุนสร้าง 5-10 ล้านต่อเกม และการหาทุนยากยิ่งกว่าหนังอีก เพราะ ภาพลบมันมาก่อน และเกมมันต้องใช้เวลาในการสร้าง ทำเสร็จก็ต้องค่อย ๆ ขาย ถ้าขายไม่ได้ก็ต้องสร้างเกมต่อไปเหมือนกับเป็นโรงงาน ซึ่งคนจะไม่ค่อยเข้าใจในธุรกิจ ต้องรอให้เห็นความสำเร็จ ต้องเห็นผลงานก่อน ไม่เช่นนั้นไม่อยากเสี่ยง เกมหนึ่งตั้งใช้งบ 5-10 ล้านบาท ดังนั้น คอนเนกชั่นจึงสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมาก็ต้องหาทุนผ่านคอนเนกชั่น

“คือธนาคารไม่เข้าใจหรอก เขาคิดแต่ว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ แต่การทำเกมมันต้องใช้เวลา 1-2 ปีหรืออาจจะนานกว่านั้น ถ้าไม่รับงานนอกเลยก็คือต้องรอเกมขาย ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะขายได้ แต่สตูดิโอเกมมันเหมือนโรงงาน เรามีประสบการณ์เราก็ทำเกมใหม่ ๆ ออกมาขาย มันเหมือนกับเอาเงินไปทิ้งไว้ 2 ปี ไม่มีใครรับความเสี่ยงได้” ธนาคม กล่าว

ธนาคม วิภวพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง แกมส์บิทโกสต์สตูดิโอ

แม้ทุนจะเป็นเรื่องที่หายาก แต่สำหรับการ หาคน ไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดย ธนาคม มองว่า เกมเป็นธุรกิจแพชชั่น เงินอาจสำคัญแต่เดเวลอปเปอร์ทุกคน อยากมีเกมของตัวเอง ซึ่งในไทยมีบริษัทเกมเยอะแต่ส่วนใหญ่จะเป็น รับผลิต เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเกมอื่น ๆ แต่บริษัทอินดี้สตูดิโอเกมจริง ๆ ที่ไม่รับเซอร์วิสงานนอกเลยมีแค่ 5-6 ราย เพราะถ้าไม่รับก็อยู่ไม่ได้

“พอผมบอกว่าอยากทำเกม มีคนเก่ง ๆ หลายคนพร้อมจะช่วย บางคนก็ยอมค่าจ้างลงด้วยซ้ำเพราะอยากร่วมโปรเจกต์ ดังนั้น ผมว่าเกมมันเป็นธุรกิจแพชชั่น คนสร้างเกมเขาอยากมีชื่อเป็นผู้พัฒนา แต่คนที่รับผลิตเขาไม่ได้เครดิตอะไรเยอะ พูดได้แค่เคยร่วมทำเกมนี้แต่ไม่ใช่เจ้าของเกม”

ปัจจุบัน GambitGhost Studio มีทีมประมาณ 10 คน โดยดึงเอาคนที่เคยทำงานด้วยกันที่บริษัทเกมสิงคโปร์มาทำด้วยกัน ตอนนี้ก็ทำกันมา 2 ปีกว่าแล้ว

อยากทำเกมคุณภาพก่อนมากกว่าทำเงิน

เทรนด์ปัจจุบันเป็นเกมมือถือ เน้นโซเชียลพูดคุยกับเพื่อนได้ แต่เราก็รู้ว่าการทำเกมออนไลน์ขายง่ายกว่า กระจายง่ายกว่า แต่มันก็คือทำเกมเพื่อทำเงิน 100% แต่เราตั้งใจทำเกมเนื้อเรื่อง Single Player ซึ่งมันอาจจะยากในเชิงการทำเงิน แต่เราอยากจะเริ่มที่เกมคุณภาพ ถ้าสำเร็จมันก็อาจจะ ต่อยอดไปผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ จนออกมาเป็นเกม ซึ่งคอนเซ็ปต์เกมคือ เราอยากทำเกมที่เล่นแล้ววางได้ คือ FARSIDERS เกมที่เนื้อเรื่องกระชับ ไม่ยากเกินไป เล่นเรื่อย ๆ ได้ โดยตอนนี้ลงในพีซีก่อน อนาคตมีแผนจะพอร์ตลงคอนโซล และโมบาย

“เป้าหมายเราคือ เอาเกมไทยให้ต่างชาติเล่น ไปสู่ระดับสากล ดังนั้น ยังทำธีมไทยจ๋าต่างประเทศอาจเข้าไม่ถึง เราเลยต้องวางตัวกลาง ๆ เพื่อให้เจาะตลาดโลกได้ แต่ก็อยากทำเกมสไตล์ไทย แค้ต้องเก่งก่อนเพื่อที่จะไปโชว์เขา ถ้าคุณภาพไม่ดีก็จะกลายเป็นว่า IP คนไทยไม่น่าสนใจ”

FARSIDERS เกมแรกจาก GambitGhost Studio

คนไทยเก่งแต่เป็นสิงห์สนามซ้อม

สตูดิโอพลิตเกมในไทยมีเยอะ แต่ไม่ได้แข่งกันเอง เพราะแต่ละสตูดิโอก็มีความถนัดของตัวเอง ขึ้นอยู่กับจะหาลูกค้าได้ไหม ซึ่งก็จะวนมาที่ การสร้างคอนเนกชั่น ต้องเดินทางไปโชว์ตัวที่ต่างประเทศ ต้องให้เห็นผลงาน ดังนั้น สตูดิโอไทยหลายรายมีต่างชาติเป็นพาร์ตเนอร์ เพราะต่างชาติจะมีคอนเนกชั่นมากกว่าเพื่อมาจ้างเราผลิต ซึ่งที่เขามาหาเราเพราะว่า ต้นทุนถูก และ มีความสามารถ

ซึ่งจุดนี้ถือเป็น ปัญหาใหญ่ของการพัฒนาเกมไทย เพราะคนเก่งจริง มีความสามารถจริง แต่ทำเป็นแค่ชิ้นงานตามสั่งไม่เคยสร้างจากศูนย์ ซึ่งสกิลในการทำเป็นชิ้นงานกับสร้างเกมจากศูนย์มันยากกว่า ดังนั้น เราต้องใช้เวลาเทรนพนักงานนั้น ๆ ทำให้โปรเจกต์การสร้างเกมอาจล่าช้า เพราะพนักงานเราก็ต้องหาทางของตัวเองให้เจอ ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาในการทำสตูดิโอเกมช่วงแรกเหมือนกัน ทำให้ต้องเสียเวลาเกือบปีสำหรับเทรนพนักงานให้หาตัวเองให้เจอ

“จริง ๆ ต่างชาติเขาเห็นศักยภาพคนไทยและมองว่าไทยเป็นตลาดน่าลงทุนในธุรกิจเกม แต่เพราะคนไทยมีประสบการณ์ไม่พอ มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่ครบ คือ อาจเก่งเฉพาะทาง แต่การทำเกมมันใช้สกิลเดียวไม่ได้ คุณต้องมีหลายสกิล ดังนั้น พอทำจริงทุกคนก็ต้องมาเรียนรู้อย่างอื่นเพิ่มอยู่ดี” ธนาคม อธิบาย

ต่อยอดไปมากกว่าเกม

ไม่มีใครพาเกมไทยไปขายตลาดโลก?

จริง ๆ การตลาดมันสำคัญกับทุกอุตสาหกรรม เพราะต่อให้เกมดีแค่ไหนแต่คนไม่รู้จักก็จบ ซึ่งในไทยมี ผู้จัดจำหน่าย (Publisher) น้อย ค่ายเกมอินดี้ต้องพึ่งผู้จัดจำหน่ายโปรโมตเกมให้ ขายให้ แต่ผู้จัดจำหน่ายไทยขายแต่เกมต่างชาติ ไม่มีผู้จัดจำหน่ายเกมไทยไปขายตลาดโลก ทำให้ค่ายเกมไทยต้องพึ่งต่างชาติ แต่แค่เกมในประเทศเขาก็โควต้าแน่นแล้ว จะให้ไปรอเขาก็ไม่ไหว ดังนั้น ถ้าไทยมีผู้จัดจำหน่ายใหญ่ ๆ มีทุน เกมไทยก็ขายได้อยู่แล้ว

อย่างในประเทศเกาหลีใต้ ทางภาครัฐจะพาค่ายเกมเล็ก ๆ ไปออกงานทั่วโลก แต่ไทยไม่มีหน่วยงานรัฐที่มาสนับสนุนแบบนี้ อาจจะมีสมาคมเกมที่สร้างกันเองเพื่อช่วยเหลือกันเอง แต่สมาคมก็ไม่ได้สามารถช่วยเดเวลอปเปอร์ไทยได้เยอะ เพราะสมาคมเองก็ไม่ได้มีทุนเยอะ ดังนั้น การช่วยเหลือมันก็ได้ไม่สุด แต่ธุรกิจนี้มันครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ได้มันต้องไปให้สุด

ต่างชาติพร้อมรับเกมไทยมากกว่าคนไทย

อย่าง FARSIDERS ก็ได้ฟีดแบ็กดีจากต่างชาติ โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อเรื่อง คอนเซ็ปต์ ความตั้งใจ อาจจะมีข้อตำหนิบ้างแต่เป็นบัคในเกม และที่สำคัญ ยอดขายส่วนใหญ่มาจากต่างชาติ ด้วยซ้ำ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าต่างชาติเขาพร้อมเปิดรับเกมไทยอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะทำได้หรือเปล่า

ส่วนเกมเมอร์ชาวไทยจะเล่นแต่สิ่งที่มันสำเร็จแล้ว หรือเกมที่ดังอยู่แล้ว ถ้าเป็นเกมไม่มีชื่อเขาก็ไม่อยากเสียเวลาเล่น ก็เหมือนกับหนังอินดี้ไทย ถ้ากระแสมาค่อยไปดู ยังไม่ยินดีที่จะจ่ายเต็ม บางคนคิดว่าเกมราคา 600 บาทแพง แต่เขาไม่รู้ว่าต้นทุนที่เราทำมันเท่าไหร่ กว่าจะมาถึงขั้นนี้มันไม่ง่าย ต่างชาติอาจจะง่าย เพราะเขามีประสบการณ์แล้ว

“ต่างชาติเขาไปอีกขั้นแล้ว เขาพร้อมสนับสนุน พร้อมเอาใจช่วย เพราะเกมจากบริษัทใหญ่ ๆ มันเยอะ ซึ่งเขาก็เล่นแหละ แต่เขาก็อยากช่วยให้เกมเล็ก ๆ เติบโต ถ้าเกมมันประสบความสำเร็จเขาก็มองว่าเขาเป็นส่วนหนึ่ง”

เกมไทยจะโตยังไง

ต้องมีบริษัทที่กล้าจะเสี่ยงให้ทาเลนต์ไทยที่มีฝีมือได้ลงสนามจริงเยอะ ๆ เพราะต่อให้บริษัทอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทาเลนต์มีประสบการณ์สามารถที่จะไปต่อยอดกับสตูดิโอเกมเกิดใหม่ แปลว่าสตูดิโอเกมใหม่ ๆ ก็จะได้เปรียบมากขึ้น แต่ปัจจุบันเหมือนปิดตาคลำทาง

“มันต้องมีคนยอมเสี่ยงก่อนเพื่อให้ทาเลนต์ไทยได้มีโปรเจกต์ทำก่อน เพราะเดี๋ยวนี้มันมีเด็กจบใหม่สายตรงเกี่ยวกับการสร้างเกม แต่เด็กหางานไม่ได้ หรือไม่ก็ทำแต่งานเซอร์วิสซึ่งมันโตไม่ได้”

เป้าหมายแรกคือ สร้างเกมให้มีมาตรฐาน

สำหรับ FARSIDERS เราก็อยากขายให้ได้ แต่ก่อนจะขายได้เราต้องทำเกมให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อที่จะเป็นแรงใจให้สามารถลุยโปรเจกต์ 2 เพราะเกมมันมีปัญหา มีบัคได้ตลอด แต่เราก็อยากทำให้มันเพอร์เฟกต์ที่สุด และอีกเป้าหมายคือ ต้องมีโปรเจกต์ที่สอง เพราะถ้ามาตรฐานมันนิ่งแล้วเราก็จะมั่นใจแล้วว่าโปรเจกต์สองเราเอาอยู่

“เราเริ่มจับจุดได้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง พนักงานเราเก่งอะไร จากนั้นก็ไปเร็วเลย และถ้าเกมนี้ไม่สำเร็จ เราก็บอกนักลงทุนว่าต้องมีอีกโปรเจกต์หนึ่งต่อ เพราะเกมใหม่จะใช้เวลาลดลงกว่า 50% แน่นอน เพราะเรารู้ตัวเองแล้ว พนักงานก็พร้อมลุยด้วย ซึ่งเกมโปรเจกต์หน้าจะเป็นแนวแก้ปริศนา”

สำหรับใครที่อยากทำความรู้จัก GambitGhost Studio และลองเล่นเกม FARSIDERS สามารถไปพบปะได้ที่งาน Thailand Game Show 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Hall 4 ชั้น G บูธ F10 ในวันที่ 20-23 ตุลาคมนี้